ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
มือโปรด้านเนื้อเทียมจากพืชอยู่ในไต้หวัน ผลิตภัณฑ์ใหม่และช่องทางการตลาด กับกระแสนิยมอาหารมังสวิรัติ
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-04-25

Suudays หวังจะใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการส่งเสริมให้อาหารแสนอร่อยจำนวนมากนี้ ถูกพบเห็นมากขึ้น

Suudays หวังจะใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในการส่งเสริมให้อาหารแสนอร่อยจำนวนมากนี้ ถูกพบเห็นมากขึ้น
 

Beyond Meat คือแบรนด์เนื้อเทียมของสหรัฐอเมริกา ที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2009 และทำให้เกิดเป็นกระแสแห่งการรับประทานอาหารมังสวิรัติในยุคใหม่ ทำให้การรับประทานอาหารเจมิได้ถูกจำกัดให้อยู่เพียงแค่ตามข้อจำกัดทางศาสนา หากแต่ยังสามารถดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจในการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ รักสัตว์และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่

จริง ๆ แล้ว ก่อนที่กระแสนิยมนี้จะเกิดขึ้น ในไต้หวันก็มีผู้ที่ทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเนื้อเทียมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 แล้ว และยังเป็นผู้ที่ได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก พวกเขาจึงเป็นเสมือนกับ “แชมเปียนที่หลบซ่อนอยู่” ของธุรกิจนี้

หลังจากที่แนวคิดในการรับประทานอาหารเจได้แพร่หลายไปทั่ว ช่องทางในการซื้อหาสินค้าของผู้บริโภคไต้หวันก็เปลี่ยนจากร้านขายของเจในแบบดั้งเดิม ไปสู่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกซื้อหา หากแต่ยังดึงดูดให้กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่รับประทานเจต้องมาลิ้มลอง พร้อมปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์อาหารเจจากมุมมองของพวกเขาไปอย่างสิ้นเชิง

 

Hung Yang Foods คือโรงงานผลิตเนื้อเทียมจากพืชรายใหญ่ของไต้หวัน ตั้งอยู่ที่ตำบลซื่อหูของเมืองหยุนหลิน ลูกค้าต่างชาติจำนวนมากที่เดินทางมาเจรจาธุรกิจในเมืองเล็ก ๆ ที่อยู่ติดทะเลแห่งนี้ จะต้องโดยสารรถไฟความเร็วสูงจากท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนไปยังหยุนหลิน ก่อนจะต้องนั่งรถอีกประมาณ 40 นาทีกว่าจะถึงบริษัท อะไรคือเสน่ห์ที่ดึงดูดให้บริษัทต่างชาติต้องข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากแดนไกลเพื่อติดต่อธุรกิจด้วย? เซี่ยฉีฟง (謝奇峯) ประธานบริษัทกล่าวว่า “หากเป็นสินค้าที่ลูกค้ายืนยันว่าต้องการจะทำ เราก็จะหาหนทางผลิตออกมาให้ได้” จากประสบการณ์ 20 ปี ทำให้แทบจะไม่มีสินค้าใดที่บริษัทผลิตออกมาไม่ได้ ตั้งแต่เนื้อไก่ หมูพะโล้ ไปจนถึงปลาไหลและกุ้งกุลาดำ โดยในช่วงก่อนหน้านี้ เซี่ยฉีฟงยังมีความคิดจะทำซาลาเปาทอดที่ใช้เนื้อเจ เพื่อดึงดูดให้เหล่าผู้สูงวัยได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติของเนื้อเทียมจากพืชด้วย

 

การเติบโตของแบรนด์เนื้อเทียมนานาชาติ

เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในงานแสดงสินค้าเกษตรและอาหารนานาชาติไทเป ครั้งที่ 1 เซี่ยฉีฟงได้เปิดตัว “เอ็นขาหมูเทียม” ด้วยตนเอง กลูเตนที่ถูกนำไปแช่น้ำแล้วตากแห้ง เมื่อปรุงรสด้วยเครื่องปรุงสูตรพิเศษของตัวเองและนำไปอบ ก็จะกลายเป็นของกินเล่นแบบง่าย ๆ แต่กลับดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมากแย่งกันลองชิม โดยมีผู้ที่ทราบว่าธุรกิจที่บ้านของเซี่ยฉีฟงคือขายหมูหย็อง จึงถามด้วยความสงสัยว่า “แล้วคุณทำหมูหย็องเจได้หรือเปล่า ?” ดังนั้น เซี่ยฉีฟงจึงเริ่มติดต่อกับผู้นำเข้าเนื้อเจ ก่อนจะพบว่า ในขณะนั้น เนื้อเจในไต้หวันถูกนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมด แถมยังมีราคาสูงถึงชั่งละ 450 เหรียญไต้หวัน

พอดีกับที่ขณะนั้น เซี่ยฉีฟงได้ยินมาว่า ศ.เจียงเหวินจาง (江文章) ซึ่งเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NTU) จบการศึกษามาจากญี่ปุ่น และมีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีการอัดรีดอาหาร ดังนั้น เซี่ยฉีฟงจึงเดินทางไปเข้าพบเพื่อขอคำแนะนำ หลังจากประสบความสำเร็จในการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือ Hung Yang Foods จึงเริ่มผลิตเนื้อเจ และวางจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าสินค้าจากญี่ปุ่นถึงครึ่งหนึ่ง จนกลายเป็นโรงงานผลิตเนื้อเจที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน

เซี่ยฉีฟงอธิบายถึงหลักการของเนื้อเจว่า “พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้แป้งกลายเป็นก้อนเหนียวๆ แล้วนำมาผสมกับโปรตีนจากพืช ก่อนจะนำไปขึ้นรูปใหม่” ฟังดูแล้วอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ทำให้เซี่ยฉีฟงต้องทุ่มเทกับมันเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การออกแบบเนื้อเจ ไปจนถึงการควบคุมคุณภาพในสายการผลิต เพราะต้องทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ในทุกขั้นตอน

เซี่ยฉีฟงจบการศึกษาด้านเครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์ เขาออกแบบเครื่องผลิตเนื้อเจด้วยตนเอง ก่อนจะสั่งซื้อชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาลองประกอบขึ้น แต่ในปัจจุบัน คนงานเพียงเทวัตถุดิบลงไปที่ด้านหนึ่งของเครื่อง ใช้เวลาเพียง 31 วินาที เนื้อเจก็จะถูกผลิตออกมาจากอีกด้านหนึ่ง และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะถูกปนเปื้อนจากวัตถุดิบที่ไม่ใช่ของเจ จึงกำหนดให้สายการผลิตทั้งหมด ทำการผลิตเฉพาะเนื้อเจเท่านั้น และแม้แต่ชื่อเดิมของบริษัท ซานหยาง (三陽) ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า ซานหยาง (三羊) ที่หมายถึงแพะ 3 ตัว ก็ถูกเปลี่ยนหงหยาง (弘陽) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อยู่จนทุกวันนี้

หลังผ่านความพยายามมาเป็นเวลากว่า 1 ปี เซี่ยฉีฟงทำให้ยอดขายของเนื้อเจ เพิ่มขึ้นจนสูงกว่าผลิตภัณฑ์เดิมที่ไม่ใช่อาหารเจเสียอีก ความสำเร็จนี้ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบของบริษัทให้หันมาผลิตอาหารเจเพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งเริ่มรับคำสั่งซื้อจากต่างชาติในปี ค.ศ. 1998 กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทคือผู้ที่นับถือลัทธิอีก้วนเต้า (一貫道) หรือลัทธิอนุตตรธรรม

หลังจากที่ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บริษัทก็เริ่มปรับรูปแบบธุรกิจ จากเดิมที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) เนื้อเทียมเพียงอย่างเดียว ก็พัฒนาไปสู่การเป็นผู้รับจ้างผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ในแบบ ODM เซี่ยฉีฟงได้หยิบเอากล่องกระดาษออกมาวางเป็นกองใหญ่ ทำให้เห็นว่าสินค้าเนื้อเทียมที่ผลิตมีทั้งที่เป็นกุ้งทอด ไก่ทอด และแซลมอนรมควัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต่างก็ใช้แบรนด์ของลูกค้าทั้งนั้น และส่งออกไปจำหน่ายยังซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศอังกฤษ “ผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐฯ จะนิยมรับประทานอาหารเย็น ๆ ที่ผ่านการปรุงรสมาแล้ว แต่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นวัตถุดิบเจที่ยังไม่ได้ปรุงรสเป็นหลัก” โดยเซี่ยฉีฟงยังชี้อีกว่า แม้แต่ในยุโรป คนเยอรมันกับคนอังกฤษก็รับประทานเนื้อเจที่มีรสชาติไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก่อนเดินเครื่องผลิตทุกครั้งจะต้องให้ลูกค้าทดลองชิมก่อน เมื่อทดลองจนพอใจแล้วจึงค่อยเริ่มทำการผลิต

Hung Yang ได้วางตลาดสินค้าเนื้อแฮมเบอร์เกอร์เทียมที่เพิ่งจะวิจัยและพัฒนาออกมาในช่วง 5 ปีนี้ โดยใช้แบรนด์ VVeat ซึ่งผู้บริโภคสามารถซื้อหาได้จากทั้ง PXmart และ Costco แม้แต่ที่ 7-11 และ Family Mart ก็สามารถสั่งซื้อเนื้อแฮมเบอร์เกอร์เทียมของ Hung Yang ได้ โดยเมื่อนำไปใส่รวมกับวัตถุดิบอื่น ๆ และซอสปรุงรส ก็จะกลายเป็นแฮมเบอร์เกอร์แสนอร่อยในทันที

ในปี ค.ศ. 2019 สัดส่วนยอดขายของ Hung Yang มาจากการส่งออกมากถึงร้อยละ 80 แบรนด์ Sophie’s Kitchen ที่ทางบริษัทเป็นผู้ ODM ให้ ก็มีวางจำหน่ายในห้าง Wallmart และมีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตของออสเตรเลียมากถึงร้อยละ 90 เซี่ยฉีฟงกล่าวด้วยความภูมิใจว่า “ผู้ที่ต้องการหาเนื้อเจจากทั่วโลก จะต้องเดินทางมาที่นี่”
 

หลังจากที่ลูกๆ ของเซี่ยฉีฟงเข้าทำงานใน Hung Yang Foods ทางบริษัทก็ได้ออกแบรนด์ Hoya เพื่อรุกตลาดต่างประเทศ

หลังจากที่ลูกๆ ของเซี่ยฉีฟงเข้าทำงานใน Hung Yang Foods ทางบริษัทก็ได้ออกแบรนด์ Hoya เพื่อรุกตลาดต่างประเทศ
 

ความคิดสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัดของเถ้าแก่คนเก่ง

ในบรรดาสินค้าเจกว่า 30 ชนิด นอกจากจะเป็นผลสำเร็จที่ได้มาจากความพยายามในทุก ๆ วันของทีมงาน R&D แล้ว ยังมีสินค้าหลายตัวที่ได้มาจากการที่เซี่ยฉีฟงคอยสังเกตอาหารต่าง ๆ ที่ตัวเองพบเห็นในชีวิตประจำวันด้วย ซึ่ง “จู๋ฉ่าง (竹腸) หรือไส้ไผ่เจ” เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้แรงบันดาลใจจากฟองเต้าหู้ที่อยู่ในหม้อไฟ

ธัญพืชอัดแท่ง (Energy Bar) คือสินค้าของ Hung Yang ที่วางขายในตลาดโดยใช้แบรนด์ของตัวเอง คือ “Grain Plus” หลังผ่านทดสอบก็ได้กลายมาเป็นอาหารแปรรูปที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน สามารถรับประทานได้ ในปี ค.ศ. 2017 ก่อนพิธีเปิดกีฬามหาวิทยาลัยโลกในไทเป เซี่ยฉีฟงได้เป็นสปอนเซอร์ให้กับการแข่งขันด้วยการสนับสนุนธัญพืชอัดแท่งมูลค่า 3 ล้านเหรียญไต้หวันให้หมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งสินค้าได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก จนทำให้ผู้ประกอบการที่เป็นผู้รับเหมาจัดเตรียมอาหารให้นักกีฬาสั่งซื้อธัญพืชอัดแท่งจาก Hung Yang เพิ่มอีกคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2 ล้านเหรียญไต้หวันด้วย

เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล ทำให้ทางโรงงานต้องเปลี่ยนมาใช้โซเดียมไฮโปคลอไรด์ในการฆ่าเชื้อแทนแอลกอฮอล์ ให้ความพิถีพิถันกับรายละเอียดทุกอย่างตั้งแต่เรื่องสำคัญไปจนถึงเรื่องเล็กน้อย ต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการทำให้ทุกขั้นตอนสมบูรณ์แบบมากที่สุด เซี่ยฉีฟงหยิบกุ้งเจที่ทำขึ้นจากบุกแล้วกล่าวว่า “ลวดลายที่เห็นนี้ เกิดจากการใช้น้ำแครอทวาดลงไปด้วยแรงงานคน เพราะเครื่องจักรวาดได้ไม่เหมือนจริงเลย ดังนั้นจึงต้องเสียเวลามากในการผลิตเจ้านี่”

ความยึดมั่นในเนื้อเทียมจากพืชของเซี่ยฉีฟง ดึงดูดลูกค้าต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก และยังส่งผลไปถึงลูกชายทั้ง 3 คนที่อยู่ข้างกายด้วย ทั้ง 3 คนได้เข้าศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันทำงานอยู่ในแผนก R&D และแผนกการตลาดของ Hung Yang การเข้ามามีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ ทำให้ Hoya ซึ่งเป็นแบรนด์สำหรับสินค้าแบบอเมริกันสไตล์ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเตรียมที่จะบุกตลาดต่างประเทศ

 

เว็บไซต์อาหารเจที่ดูดีมีระดับ

กระแสความนิยมอาหารเจมิได้เพียงสะท้อนผ่านความเปลี่ยนแปลงด้านรสชาติของผลิตภัณฑ์เท่านั้น หากแต่ยังสร้างความคึกคักให้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซด้วย เดิมที เว็บไซต์ของแพลตฟอร์มที่จำหน่ายอาหารเจ มักจะทำให้ผู้คนรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ “น่าเบื่อและเน้นในทางศาสนามากเกินไป” จนไม่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับประทานอาหารเจ ให้มาลิ้มลอง แต่เว็บไซต์ “Suudays” ที่หมายถึงวันกินเจ ซึ่งเปิดตัวในปี ค.ศ. 2017 ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบเว็บไซต์และประสบการณ์ในการใช้งานของผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์เป็นอย่างมาก โดยหวังว่าจะช่วยส่งเสริมแนวคิดในการรับประทานอาหารเจผ่านหน้าเว็บไซต์ที่เปี่ยมไปด้วยความสดใสและมีชีวิตชีวา

เดิมที Suudays คือแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายวัตถุดิบของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในระยะหลังมานี้ ผู้ก่อตั้งได้หันมาคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และตัวเองก็เป็นผู้ที่รับประทานอาหารเจเป็นประจำ ดังนั้น จึงทำการปรับเปลี่ยนให้กลายมาเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับอาหารเจ โจวซุนเผิง (周孫鵬) ผู้จัดการฝ่ายสินค้าเล่าให้เราฟังว่า “ตอนที่เริ่มก่อตั้ง ในช่วง 4-5 เดือนแรกมีหลายครั้งมากที่ทั้งวันจะไม่มีออร์เดอร์เข้ามาเลย หรือยอดขายทั้งเดือนได้เพียงแค่หมื่นสองหมื่นเท่านั้น 3 ปีผ่านไป ตอนนี้แต่ละเดือนจะมียอดขายมากกว่า 2 ล้าน คิดว่าปีนี้น่าจะทะลุ 10 ล้านได้ไม่ยาก”

เว็บไซต์ของ Suudays เน้นความสวยงาม ทำให้ฉีกหนีภาพเดิม ๆ ในแบบเชย ๆ ของเว็บไซต์สำหรับอาหารเจ “มีผู้บริโภคบางรายเข้ามาดูในเว็บไซต์เป็น 10 นาทีถึงได้พบว่า ไม่มีเนื้อสัตว์ขายเลย” โจวซุนเผิงเล่าให้เราฟังพร้อมกับเสียงหัวเราะ เป้าหมายของพวกเขาก็คือ ต้องการให้ผู้บริโภคที่ไม่ได้รับประทานอาหารเจเป็นประจำมีความเข้าใจว่า อาหารเจก็มีความอร่อยและมีความหลากหลายเช่นกัน แต่ว่ากลุ่มลูกค้าที่เป็นคนหนุ่มสาว ก็ยังคงเลือกซื้อฮอทดอก ผักกาดขาวอบชีส และแฮมเบอร์เกอร์เนื้อเทียม ซึ่งถือเป็นอาหารเจรุ่นใหม่มากกว่าอยู่ดี

เมื่อเข้าไปชมเว็บไซต์ของ Suudays ตัวเลือกในเว็บไซต์จะมีทั้งประเภทของอาหารเจให้เลือก แบรนด์อาหารเจ และวิธีการปรุง ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ตามความต้องการของตัวเอง ซึ่งในจำนวนนี้ มีตัวเลือกที่ค่อนข้างพิเศษ นั่นก็คือ “ร้านอาหารมิชลิน” ซึ่งจะดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ เราได้เห็นชื่อของ Joseph Bistro ซึ่งไม่ใช่ร้านอาหารเจปรากฏอยู่ด้วย

โจวซุนเผิงเปิดเผยว่า ในตอนแรกที่คิดจะโปรโมทอาหารเจนั้น ทางทีมงานเห็นว่า “ถ้าพูดถึงอาหารแล้ว มิชลินคือชื่อที่มีพลังมากที่สุด” ดังนั้น เขาจึงไปเข้าพบทุก ๆ ร้าน เพื่อค้นหาร้านที่ยินดีจะคิดค้นเมนูใหม่สำหรับ Suudays โดยหวังว่าผู้ที่รับประทานอาหารเจ จะมีโอกาสได้รับประทานอาหารระดับมิชลิน และผู้ที่ไม่รับประทานอาหารเจก็จะถูกดึงดูดด้วยความเป็นร้านอาหารมิชลินให้มาลองรับประทานอาหารเจ

“แต่ในยุคสมัยนี้ สิ่งที่ได้รับความนิยมมีอยู่มากมายเต็มไปหมด ไม่มีทางที่สินค้าทุกอย่างจะมีวางขายอยู่เฉพาะแต่ในเว็บไซต์ของคุณ ดังนั้น หากเว็บไซต์ไม่มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ก็จะกลายเป็นเพียงแค่เว็บไซต์ที่ทุกคนเข้ามาเพื่อเปรียบเทียบราคาเท่านั้น” ทำให้ Suudays ออกแบรนด์สินค้าของตัวเองด้วย ซึ่งกลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในเวลาต่อมา ในรายการสินค้าขายดีหลายรายการ ต่างก็เป็นสินค้าที่เป็นแบรนด์ของ Suudays เอง เช่น เถียนปู๋ล่าเจ (ทอดมันไต้หวัน) บ้าหวันเจ (แป้งทอดใส่ไส้แบบไต้หวัน) และปอเปี๊ยะกุ้งเจ เป็นต้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค หากแต่ยังมีคำสั่งซื้อจากร้านอาหารเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย ส่งผลให้ Suudays ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มหันมาทำการโฆษณาผ่าน FB เพื่อเสาะหาลูกค้ารายใหม่ ๆ และยังร่วมมือกับ 7-11 ในการจำหน่ายขนมเปี๊ยะใส่ไส้และสุยเจี่ยว (水餃) หรือเกี๊ยวต้ม ที่เป็นเมนูสำหรับช่วงตรุษจีน ผ่านวารสารฉบับพิเศษต้อนรับตรุษจีนของ 7-11 ด้วย

แม้ว่าจะก่อตั้งมาเป็นเวลาเพียง 3 ปี แต่ Suudays ได้รับกระแสตอบรับจากผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อย โจวซุนเผิงเห็นว่า ลูกค้าต่างก็คิดว่า “Suudays ทำให้การรับประทานอาหารเจกลายเป็นเรื่องง่าย ๆ” ในอนาคต พวกเขาจะยังคงพยายามพัฒนาเมนูอาหารเจใหม่ ๆ ออกมา เพื่อให้คนจำนวนมากสามารถลิ้มลองอาหารเจแสนอร่อยได้อย่างง่าย ๆ

 

เพิ่มเติม

มือโปรด้านเนื้อเทียมจากพืชอยู่ในไต้หวัน ผลิตภัณฑ์ใหม่และช่องทางการตลาด กับกระแสนิยมอาหารมังสวิรัติ