ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
มูลค่าการส่งออกสินค้าไต้หวันไปยังภูมิภาคอาเซียนในปี 2021 ทะลุ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
2022-07-06
New Southbound Policy。มูลค่าการส่งออกสินค้าไต้หวันไปยังภูมิภาคอาเซียนในปี 2021 ทะลุ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)
มูลค่าการส่งออกสินค้าไต้หวันไปยังภูมิภาคอาเซียนในปี 2021 ทะลุ 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 5 ก.ค. 65
 
1. ผลกระทบจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ สัดส่วนการผลิตของกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันในภูมิภาคอาเซียน ยังคงทำสถิติสูงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์การผลิตในต่างประเทศพบว่า ภาคอุตสาหรรมล้วนได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ และสถานการณ์โรคโควิด -19 ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของกลุ่มผู้ประกอบการ ในปี 2021 สัดส่วนการผลิตของผู้ประกอบการไต้หวันในจีนและฮ่องกง อยู่ที่ร้อยละ 42.4 ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2018 แล้ว ลดลงร้อยละ 4.5  ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่สายการผลิตโยกย้ายกลับสู่ไต้หวันหรือพื้นที่อื่นๆ โดยในจำนวนนี้ สัดส่วนการผลิตในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในปี 2018 มาเป็นร้อยละ 3.2 ในปี 2021 โดยในจำนวนนี้ ผู้ประกอบการสมาร์ทโฟน  โรงงานรับจ้างผลิตประกอบชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์แบบพกพา ผู้ประกอบการออกแบบติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และผู้ออกแบบวงจรรวม IC ได้ขยายรากฐานตลาดไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน จึงส่งผลให้สัดส่วนการผลิตสินค้าอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างเด่นชัด สะท้อนให้เห็นว่านโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่รัฐบาลไต้หวันมุ่งมั่นผลักดัน รวมถึงข้อได้เปรียบของกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ การปันผลทางประชากรและภาษีส่งออก เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการไต้หวันเข้าลงทุนและกระจายความเสี่ยงการลงทุนในตลาดอาเซียนเพิ่มมากขึ้น
 
2. การส่งออกของไต้หวันไปยังภูมิภาคอาเซียน ในปี 2021 ขยายตัวกลับสู่ทิศทางที่เป็นบวก และสร้างยอดการส่งออกสูงสุดกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 และ 2019 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ จึงทำให้อัตราการส่งออกสินค้าของไต้หวันไปยังประเทศอาเซียนหดตัวลง ส่วนในปี 2020 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด - 19 จึงทำให้ราคาน้ำมันและราคาเหล็กกล้าปรับตัวลดลง ส่งผลให้การส่งออกถดถอยลงร้อยละ 1.3 ต่อปี แต่ยังดีที่โอกาสธุรกิจหลังยุคโควิด - 19 และการขยายตัวของเทคโนโลยีประยุกต์เกิดใหม่ ส่งผลให้อุปสงค์ด้านชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งราคาต้นทุนวัตถุดิบยังได้มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับหลายปีมานี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ย้ายรากฐานธุรกิจไปยังประเทศอาเซียน ซึ่งจากปัจจัยทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นการส่งเสริมให้อุปสงค์ด้านอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แบบพกพา และสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกในปี 2021มีมูลค่าสูงถึง 70,240 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์  โดยเติบโตขึ้นร้อยละ 32 ต่อปี ส่วนยอดการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคมของปีนี้ รวมมูลค่ากว่า 34,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นสถิติใหม่ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งเติบโตขึ้นร้อยละ 23.4 ต่อปี ในจำนวนนี้ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ครองสัดส่วนเกินกว่าครึ่ง 
 
3. เศรษฐกิจรูปแบบ stay-at-home economy และการย้ายรากฐานธุรกิจในระบบห่วงโซ่อุปทาน มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการนำเข้าสินค้าประเภทเทคโนโลยีของ 6 ประเทศในอาเซียน โดยตลาดส่งออกหลักของไต้หวันในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย โดยในปี 2021 ยอดการส่งออกสินค้าไปยัง 6 ประเทศข้างต้น ครองสัดส่วนการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนกว่าร้อยละ 98.5 เมื่อสังเกตตลาดการนำเข้าของ 6 ประเทศอาเซียนข้างต้น จะพบว่า ในปี 2020 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด - 19 ทำให้มูลค่าการนำเข้าโดยภาพรวมหดตัวลง ในจำนวนนี้ สินค้าประเภทน้ำมันและเหล็กกล้า เนื่องจากราคาต้นทุนในระหว่างประเทศปรับตัวลดลง จึงส่งผลให้การนำเข้าหดตัวลงตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน สินค้าประเภทเทคโนโลยีอย่างแผงวงจรรวม แผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ กลับขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในเศรษฐกิจรูปแบบ stay-at-home economy ภายใต้สถานการณ์โรคโควิด – 19 ประกอบกับกลุ่มผู้ประกอบการในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ทยอยย้ายฐานธุรกิจไปยังภูมิภาคอาเซียน ส่งผลให้ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมต้นทาง เป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเติบโตแบบสวนกระแส  ส่วนในปี 2021 ที่เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้นตัวขึ้น ทำให้มูลค่าการนำเข้าผันแปรไปในทิศทางที่เป็นบวก
 
4. วงจรรวมของไต้หวัน ครองส่วนแบ่งตลาดนำเข้าในตลาดอาเซียน 6 ประเทศ เป็นอันดับ 1 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อสังเกตประเทศผู้ส่งออกสินค้าให้แก่  6 ประเทศในอาเซียน จะพบว่าผู้ส่งออกแผงวงจรรวมรายใหญ่ที่สุดในปี 2021 คือสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่ครองสัดส่วนร้อยละ 39.8 รองลงมาคือเกาหลีใต้ ที่ครองสัดส่วนร้อยละ 19.4 และจีนที่ครองสัดส่วน 14.2 ซึ่งนอกจากไต้หวันจะยังคงครองอันดับ 1 อย่างมีเสถียรภาพแล้ว ส่วนแบ่งทางการตลาดก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ส่วนแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้กับรถยนต์และน้ำมันดีเซล รวมถึงน้ำมันที่ผ่านการใช้งานแล้ว แและชิ้นส่วนอะไหล่ของคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศจีน ส่วนไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 4 , 6 และ 2 ตามลำดับ สำหรับเหล็กและเหล็กกล้าไม่เจือ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง ส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น  ส่วนไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 5  ในขณะที่อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากสหรัฐฯ โดยไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 5