ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
คณะตัวแทนอุตสาหกรรมอัจฉริยะไต้หวัน รุกตลาดกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้านเมืองอัจฉริยะ
2022-12-15
New Southbound Policy。คณะตัวแทนอุตสาหกรรมอัจฉริยะไต้หวัน รุกตลาดกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้านเมืองอัจฉริยะ (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)
คณะตัวแทนอุตสาหกรรมอัจฉริยะไต้หวัน รุกตลาดกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ด้านเมืองอัจฉริยะ (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 2 ธ.ค. 65
 
“คณะตัวแทนเศรษฐกิจและการค้าด้านอุตสาหกรรมอัจฉิรยะ รุกตลาดกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่” ที่นำโดยนางเจียงเหวินรั่ว อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (BOFT) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนประเทศไทย เป็นประเทศเป้าหมายที่ 2 หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางเยือนมาเลเซีย โดยเมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการจัดการเจรจาจับคู่ธุรกิจแบบ 1 ต่อ 1 ที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการวางรากฐานอุตสาหกรรมด้านเมืองอัจฉริยะของไต้หวันในประเทศไทย
 
กลุ่มคณะตัวแทนในครั้งนี้ได้มุ่งเน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย “อุตสาหกรรมอัจฉริยะ” “การขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ” และ “ระบบคมนาคมอัจฉริยะ” พร้อมทั้งตั้งเป้าไปที่ตลาดมาเลเซีย ไทยและเวียดนาม โดยภารกิจหลักคือการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในยุคหลังโควิด – 19 และขยายการส่งออก โดยการเจรจาจับคู่ธุรกิจที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ครั้งนี้ สามารถดึงดูดผู้ซื้อชาวไทยรวม 75 ราย มาเข้าร่วมเจรจากับผู้ประกอบการไต้หวันจำนวน 23 ราย โดยมีการเจรจาธุรกิจรวม 170 รอบ ส่งผลให้เกิดโอกาสทางการค้ารวมมูลค่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
 
อธิบดีเจียงฯ กล่าวเข้าร่วมการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน - ไทย ได้รับการเสริมสร้างในเชิงลึกอย่างต่อเนื่องเสมอมา โดยเฉพาะเมื่อประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐ - จีน และสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานครั้งใหญ่ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักที่ผู้ประกอบการไต้หวันใช้เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ ซึ่งอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทยมีส่วนที่สามารถเกื้อหนุนกันได้อย่างลงตัว เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะได้รับโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น
 
เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน - ไทย คณะตัวแทนได้เดินทางเข้าเยี่ยมพบสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัทผู้ให้บริการด้านระบบ IT อีกทั้งยังกระตุ้นให้มีการจัดตั้งช่องทางการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการด้านการคมนาคมอัจฉริยะ และเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) เพื่อวางรากฐานในการแสวงหาโอกาสธุรกิจด้านการคมนาคมอัจฉริยะในไทย โดยสมาชิกคณะตัวแทนบางส่วนเห็นว่า การเดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้ ทำให้ได้รับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองอัจฉิรยะของไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถนำไปใช้อ้างอิงสำหรับการวางแผนการตลาดในไทยต่อไป
 
BOFT แถลงว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลไทยกำลังเร่งมุ่งมั่นผลักดันนโยบายการพัฒนาประเทศ อาทิ “อุตสาหกรรม 4.0” และ “รูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว” ซึ่งครอบคลุมไปสู่อุตสาหกรรมหลากหลายแขนง ประกอบด้วย การเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหาร การแพทย์ พลังงาน ชีวเคมีและการท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อดึงดูดการลงทุนจากกลุ่มผู้ประกอบการต่างชาติ โดยโอกาสทางธุรกิจด้านเมืองอัจฉริยะของไทย ควรค่าแก่การที่ผู้ประกอบการไต้หวันจะร่วมแสวงหาความร่วมมืออย่างกระตือรือร้น โดยคณะตัวแทนจะให้ความช่วยเหลือในการประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไต้หวันและผู้ประกอบการไทย ทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร เทคโนโลยี 5G เทคโนโลยี Artificial Intelligence of Things (AIoT) การแพทย์ เทคโนโลยีสีเขียว ผ่านการจัดคณะตัวแทนทางการค้าเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน หรือการจัดมหกรรม Taiwan Expo เพื่อส่งเสริมให้การค้าแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - ไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องสืบไป