กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 ม.ค. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ทำหน้าที่เป็นประธานใน “พิธีสำเร็จหลักสูตรการบ่มเพาะบุคลากรจากกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของ 3 สถาบันอุดมศึกษา ปี 2022” ณ หอประชุมใหญ่ชั้น 5 ของที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมทั้งได้มอบรางวัลให้ผู้เข้าร่วมหลักสูตรที่มีผลคะแนนยอดเยี่ยม 3 อันดับ โดยตัวแทน "มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไทเป" (Taipei Medical University, TMU) "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทเป" (National Taipei University of Technology, Taipei Tech) และ "มหาวิทยาลัยจินเหมิน" (National Quemoy University, NQU) ได้นำนักศึกษาจากกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ รวม 50 คน เดินทางมาเข้าร่วมในพิธีครั้งนี้ โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐของประเทศเป้าหมายที่ประจำการในไต้หวัน และนายลู่ฟงจิ่ง ผู้แทนเจรจาการค้าแห่งสำนักงานเจรจาการค้า สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รวมถึงนายหยางห้าวจวิน ประธานคณะกรรมการบริหาร “มูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย (Taiwan-Asia Exchange Foundation)” ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี เพื่อร่วมชื่นชมผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการเรียนรู้เป็นระยะเวลา 5 ปีของนักศึกษาในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่
รมช.เถียนฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า “โครงการหลักสูตรบ่มเพาะบุคลากรจากกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่” ที่ผลักดันโดยกระทรวงการต่างประเทศ ประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น เนื่องจากได้รับความช่วยเหลือในการจัดวางหลักสูตรของ 3 สถาบันอุดมศึกษา และการสนับสนุนจากหน่วยงานตัวแทนรัฐบาลที่ประจำการอยู่ในไต้หวัน โดยนักศึกษาในโครงการที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ มาจาก 6 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซียและอินเดีย โดยพวกเขาเหล่านี้จะนำเอา “ประสบการณ์ไต้หวัน” กลับไปประยุกต์ใช้ในถิ่นกำเนิด เพื่อแสวงหาแนวทางการพัฒนาที่สอดรับต่อความต้องการของประเทศชาติต่อไป เชื่อว่าในระหว่างการเข้ารับการฝึกอบรม บรรดานักศึกษาได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสังคมที่เปิดกว้างของไต้หวัน รวมไปถึงบทบาทสำคัญของไต้หวันที่มีต่อระบบการเมืองและเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการธำรงรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพในภูมิภาค โดยปฏิสัมพันธ์เหล่านี้มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ พร้อมนี้ รมช.เถียนฯ ยังได้เชิญชวนให้ศิษย์เก่าที่สำเร็จหลักสูตรภายใต้โครงการข้างต้น เดินทางกลับมาเยือนไต้หวันอีกเมื่อมีโอกาส
นายหยางฉงกวง รองอธิการบดี Taipei Tech กล่าวว่า ระหว่างศึกษาใน Taipei Tech นักศึกษากลุ่มนี้ได้รับการฝึกอบรมด้านความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ควบคู่ไปกับการเรียนการสอนภาษาจีน การสัมผัสประสบการณ์ทางวัฒนธรรมและการเยี่ยมชมกิจการของผู้ประกอบการ เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่กลุ่มนักศึกษาได้ไม่มากก็น้อย
นางเหยียนอวี้ฟาง หัวหน้าฝ่ายประสานงานระหว่างประเทศของม. NQU คาดหวังที่จะเห็นนักศึกษากลุ่มนี้นำความรู้ที่ได้จาก NQU ไปเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตให้ตนเองต่อไปในเส้นทางการทำงาน โดยทางสถาบันฯ จะถนอมมิตรภาพครั้งนี้ไว้ ด้วยการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ศิษย์เก่าประจำปี เพื่อสานต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันให้คงอยู่สืบไป
นางไช่เพ่ยซาน หัวหน้าฝ่ายติดต่อประสานงานระหว่างประเทศของม. TMU กล่าวว่า นักศึกษานอกจากจะมุ่งมั่นในด้านหลักสูตรวิชาความรู้ความเชี่ยวชาญทางแพทยศาสตร์แล้ว ยังได้เดินทางไปเยี่ยมเยือนแรงงานต่างชาติชาวอาเซียนที่พำนักอาศัยอยู่ในเมืองจีหลงอีกด้วย พร้อมทั้งเข้าร่วมในกิจกรรมการกุศลเพื่อส่งมอบความห่วงใยให้บรรดาแรงงาน โดยการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่หลังจากที่มีเวลาว่างจากการเรียน เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก โดยนางไช่ฯ รู้สึกขอบคุณกลุ่มนักศึกษารุ่นนี้ที่นำวัฒนธรรมและมุมมองอันหลากหลายมาสู่รั้วสถาบัน
โดยนักศึกษายอดเยี่ยม 3 อันดับแรกที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ประกอบด้วย นักศึกษาสัญชาติอินโดนีเซีย 2 ราย และสัญชาติฟิลิปปินส์อีก 1 ราย ซึ่งพวกเขาได้ร่วมแสดงความขอบคุณสำหรับโครงการครั้งนี้และสถาบันอุดมศึกษาที่ตนเข้ารับการฝึกอบรม ด้วยภาษาจีนอย่างคล่องแคล่ว นำเสนอให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ภาษาจีน พร้อมยังได้ระบุถึงมุมมองใหม่ๆ ที่ได้จากประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนในระหว่างที่พำนักอยู่ในไต้หวัน และเป็นการเปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่มากยิ่งขึ้นให้แก่การประกอบอาชีพของพวกเขาในอนาคต จึงคาดหวังที่จะเห็นโครงการข้างต้นนี้ได้รับการสืบสานให้คงอยู่ต่อไป เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักศึกษาในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ต่อไป
หลังเสร็จสิ้นพิธีฯ รมช.เถียนฯ กล่าวว่า โครงการที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมาย โดยกต.ไต้หวันจะพิจารณาจัดโครงการหลักสูตรบ่มเพาะบุคลากรจากกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ขึ้นในอนาคตต่อไป โดยจะจัดเพิ่มสถาบันอุดมศึกษาที่ให้ความร่วมมือและเพิ่มจำนวนนักศึกษา ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงของกลุ่มเยาวชน ตลอดจนเป็นการบรรลุค่านิยมที่ “ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” ภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน