ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
“ฟาแลนนอปซิส” กล้วยไม้ไต้หวัน ออกดอกตลอดปี บานสะพรั่งไปทั่วโลก
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-02-13

ไต้หวันเป็นดินแดนที่มีกล้วยไม้สายพันธุ์หลากหลายมาก

ไต้หวันเป็นดินแดนที่มีกล้วยไม้สายพันธุ์หลากหลายมาก
 

ดอกกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส มีกลีบเลี้ยง 3 ใบ กลีบดอก 3 กลีบ เกสร 1 ก้าน โครงสร้างที่ดูเรียบง่ายนี้ กลับแฝงด้วยอุบายและเล่ห์กล กล่าวคือสีสันงดงาม ความกลมกลืน และกลิ่นหอม เป็นกลลวงหรือกับดักที่ดึงดูดแมลงมาช่วยผสมเกสร สีสันรูปร่างที่รังสรรค์เพื่อความอยู่รอดในธรรมชาตินี้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากหลงใหลชื่นชมอีกด้วย

 

ไต้หวันคือเกาะแห่งกล้วยไม้ เนื่องจากมีกล้วยไม้มากกว่า 400 สายพันธุ์ คิดเป็น 1 ใน 10 ของพืชพรรณทั้งหมดที่มีอยู่ราว 4,600 สายพันธุ์ จงซือเหวิน (鐘詩文) ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันวิจัยป่าไม้ไต้หวัน (Taiwan Forestry Research Institute) ผู้เขียนหนังสือ The Hidden Treasures of Taiwan’s Wild Orchids กล่าวว่า เมล็ดกล้วยไม้มีน้ำหนักเบามาก มักจะถูกพัดพามาไต้หวันโดยลมประจำฤดูหรือไต้ฝุ่นจากประเทศที่อยู่รอบข้าง ไต้หวันจึงเป็นแหล่งรวมของการแลกเปลี่ยนยีน ด้วยภูมิประเทศที่มีความหลากหลาย และมีพื้นที่ที่อยู่ในระดับความสูงของน้ำทะเลที่แตกต่างกัน ทำให้มีแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน “ส่งผลให้ไต้หวันเป็นดินแดนที่มีกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์”

 

ดินแดนแห่งกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส

สถิติการค้าผลผลิตการเกษตรของคณะกรรมการการเกษตร ระบุว่า ปี ค.ศ. 2021 ไต้หวันส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ คิดเป็นมูลค่า 224.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกล้วยไม้มีมูลค่า 207.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 92.53% ในจำนวนนี้รวมกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสซึ่งมีมูลค่าการส่งออกราว 160.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 71.45% ของการส่งออกไม้ดอกไม้ประดับทั้งหมด ตัวเลขที่งดงามนี้ เกิดจากการที่มีผู้เพาะเลี้ยงกล้วยไม้เอกชนกลุ่มใหญ่ช่วยกันพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ที่หลากหลาย

การจัดตั้งสวนเทคโนโลยีชีวภาพกล้วยไม้ไต้หวัน (Taiwan Orchid Technology Park) ที่เขตโห้วปี้ (後壁) นครไถหนาน ได้ทำให้ไต้หวันกลายเป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้ใหญ่ที่สุดของโลก ในแต่ละปีมีการจัดงานแสดงสินค้ากล้วยไม้นานาชาติไต้หวัน (Taiwan International Orchid Show) ถือเป็น 1 ใน 3 งานใหญ่ของโลก ทัดเทียมกับ Japan Grand Prix International Orchid และ Flower Show and the World Orchid Conference
 

หลี่สูเหมย (ซ้าย) และเจี่ยนเหวยจั่ว (ขวา) ร่วมกันบริหาร I Hsin Orchids เพื่อให้กิจการของวงศ์ตระกูลเบ่งบาน

หลี่สูเหมย (ซ้าย) และเจี่ยนเหวยจั่ว (ขวา) ร่วมกันบริหาร I Hsin Orchids เพื่อให้กิจการของวงศ์ตระกูลเบ่งบาน
 

พลังเพาะพันธุ์กล้วยไม้ที่เข้มแข็งของภาคเอกชน

เราไปเยี่ยมชม I Hsin Orchids สวนกล้วยไม้ส่งออกใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ที่ตำบลต้าหลิน (大林) เมืองเจียอี้ สวนกล้วยไม้แห่งนี้สืบทอดถึงรุ่นที่ 3 แล้ว คุณหลี่สูเหมย (李淑梅) หรือซ้อสองบอกว่า “I Hsin Orchids ของเรา ในยุคแรก ลูกค้านำเอาเมล็ดมาว่าจ้างให้เพาะจนเป็นต้นกล้า จากนั้นพวกเขาจะนำไปเลี้ยงต่อ”

การขยายพันธุ์กล้วยไม้แบ่งออกเป็น 2 วิธีคือการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อ (เพาะเมล็ด) และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (การแยกต้น) หากต้องการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่จะต้องเพาะจากเมล็ด หากต้องการคงลักษณะของต้นเดิมต้องใช้วิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คุณเจี่ยนเหวยจั่ว (簡維佐) ทายาทรุ่นที่ 2 บอกว่า “ในอดีต ผู้ผลิตกล้วยไม้รายย่อยไม่มีอุปกรณ์และขาดแคลนเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้แบบปลอดเชื้อ จึงมาว่าจ้างพวกเราเพาะเป็นต้นกล้า” ราวปี ค.ศ. 1998 คุณเจี่ยนเหวยจั่วได้เริ่มยกระดับเพาะเลี้ยงกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส ลงทุนเพิ่มอุปกรณ์ขยายการผลิตแบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ หลังจากนั้นยังได้ขยายไปถึงการตัดดอกขาย กลายเป็นธุรกิจที่ครบวงจร

I Hsin Orchids ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ผู้ก่อตั้งรุ่นที่ 1 ทุ่มเทตลอดชีวิตเพาะเลี้ยงกล้วยไม้กว่า 1,000 ชนิดเพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดี แต่การพัฒนาพันธุ์ใหม่ไม่ได้ใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 วัน คุณหลี่สูเหมยกล่าวว่า “การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่จนวางตลาดได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8-9 ปี” ในตอนที่เนเธอร์แลนด์แข่งขันกับไต้หวันแย่งชิงตลาดกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิส เนื่องจากการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ต้องใช้เวลานาน พวกเขาจึงใช้วิธีรวบรวมสายพันธุ์ต่าง ๆ ของไต้หวันจำนวนมาก และนำสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับตลาดยุโรปกลับไปเพาะเลี้ยง คุณหลินเหลียงเม่า (林良懋) อดีตผู้อำนวยการกองการเกษตร เมืองเจียอี้ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า ดังเช่น Sogo Orchids ของไต้หวันได้ถูกบริษัท Dümmen Orange ของเนเธอร์แลนด์ ผู้ประกอบกิจการไม้ดอกไม้ประดับรายใหญ่อันดับ 3 ของโลกควบรวมกิจการ พวกเขาทำการจัดระเบียบสายพันธุ์จากไต้หวันเพื่อจำหน่ายไปทั่วโลก บ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งที่มาสายพันธุ์ที่มีต่อการค้า ผู้ยึดกุมแหล่งที่มาของสายพันธุ์ จึงจะมีโอกาสในเชิงพาณิชย์และจะเป็นผู้ที่สามารถกำหนดทิศทางของตลาด

 

ตำนานกล้วยไม้  V3 ดอกขาวใหญ่

เมื่อมีสายพันธุ์ที่ดีแล้ว ทำอย่างไรจึงจะผลิตในเชิงธุรกิจเพื่อแข่งขันในตลาดได้ คุณหลินเหลียงเม่าบอกว่า “ประสบการณ์ของคุณหวงฉงเต๋อ (黃崇德) จากบริษัท Symon Agricultural Biotech ควรค่าต่อการศึกษาเรียนรู้”

หวงฉงเต๋อพัฒนากล้วยไม้สายพันธุ์ Phalaenopsis Sogo Yukidian หรือที่เรียกว่า V3 เพื่อบุกเบิกตลาดญี่ปุ่นผ่านมา 30 กว่าปีแล้ว พันธุ์พ่อคือ Phal. Taisuco Kochdian จากเนเธอร์แลนด์ พันธุ์แม่คือ Phal. Yukimai จากญี่ปุ่น ผสมข้ามสายพันธุ์แล้วคัดเลือกต้นที่เกิดจากการเติบโตของเมล็ดมากมาย จนได้พันธุ์ที่เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้กระถางหรือตัดดอก “สายพันธุ์นี้เลี้ยงง่าย นำมาจัดรูปทรงต่าง ๆ ได้ ต้องการดอกขนาดใหญ่แค่ไหน จำนวนกี่ดอก ก็สามารถควบคุมได้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จึงขายดีมาก” หวงฉงเต๋อพูดด้วยความภาคภูมิใจ

V3 เป็นพันธุ์ที่มีผู้นำมาประยุกต์ใช้งานมากที่สุดทั่วโลก ปริมาณและมูลค่าการผลิตสูงจนน่าตะลึง มีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มี V3 ขนาดการผลิตกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสของไต้หวันก็จะไม่ยิ่งใหญ่ดังเช่นทุกวันนี้
 

หวงฉงเต๋อทดลองปลูกกล้วยไม้ในเรือนเพาะแบบหลายชั้น เป็นการปลูกกล้วยไม้โดยควบคุมสภาพแวดล้อม เพื่อขยายตลาดต่างประเทศ

หวงฉงเต๋อทดลองปลูกกล้วยไม้ในเรือนเพาะแบบหลายชั้น เป็นการปลูกกล้วยไม้โดยควบคุมสภาพแวดล้อม เพื่อขยายตลาดต่างประเทศ
 

ก้าวสู่การเกษตรอัจฉริยะ เส้นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อเดินเข้าไปในเรือนเพาะเลี้ยงของ Symon Agricultural Biotech จะรู้สึกถึงความแตกต่างกับสวนกล้วยไม้อื่น ที่นี่ มีต้นกล้วยไม้เรียงรายกัน 3 ชั้น แบ่งเป็นบน กลาง ล่าง ถือเป็นห้องปฏิบัติการทดลองเพาะเลี้ยงแบบหลายชั้น เป็นการขยายพื้นที่ในแนวตั้งที่เน้นประสิทธิภาพ สามารถเพาะเลี้ยงได้ปริมาณมากขึ้น แต่ก็มีความท้าทายด้านการควบคุมสภาพแวดล้อม สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง คือแสงแดดเพื่อการสังเคราะห์แสงและการดึงดูดสารอาหาร ดังนั้นในชั้นล่าง ต้องใช้ไฟ LED ช่วยส่องแสง ในเรือนเพาะเลี้ยงของแต่ละเขต มีการติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์ที่แตกต่างกันตามวัตถุประสงค์การใช้งาน เพื่อตรวจสภาพการไหลเวียนของอากาศ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แสงแดด อุณหภูมิ ความชื้น เป็นต้น ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้เชื่อมโยงผ่านระบบ IoT และการประมวลผลคลาวด์ มีการตั้งค่าเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นระบบเกษตรอัจฉริยะที่ใช้ควบคุมการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้แบบอัตโนมัติ

การทำให้กล้วยไม้ออกดอกได้ตลอดปี ถือเป็นการปรับฤดูผลผลิตออกสู่ตลาดอันจะเป็นการรักษาเสถียรภาพราคา เป็นสิ่งที่มีความสำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมอุณหภูมิและการบริหารพลังงาน หวงฉงเต๋ออธิบายว่า โดยปกติห้องเย็นมีการตั้งอุณหภูมิไว้ที่ 24–26 °C ในตอนกลางคืนจะปรับเป็น 18 °C  หรือใช้กำแพงน้ำร่วมกับพัดลมเป่าช่วยลดอุณหภูมิ พยายามใช้ไฟฟ้าในช่วง off-peak เป็นการบริหารพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ด้านหน้าของชั้นต่าง ๆ ในเรือนเพาะเลี้ยง มีรางสำหรับขนย้ายกล้วยไม้แบบอัตโนมัติ ช่วยลดกำลังคนได้อย่างมาก

ด้วยขนาดดังกล่าว การผลิตกล้วยไม้จึงเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่มีระบบควบคุมสิ่งแวดล้อมเช่นนี้มาเป็นเวลานานแล้ว กล่าวได้ว่าการผลิตกล้วยไม้ของไต้หวันเป็นการเกษตรเทคโนโลยีระดับสูง ไม่ใช่สิ่งที่เกินความเป็นจริง

 

จุดเด่นอุตสาหกรรมกล้วยไม้ไต้หวัน

แต่เดิมไต้หวันเป็นราชากล้วยไม้อันดับ 1 ของโลก ปัจจุบันถูกเนเธอร์แลนด์แซงหน้าตกมาอยู่อันดับ 2 ไต้หวันควรจะพัฒนาต่อไปอย่างไรในตลาดโลก หลินเหลียงเม่ากล่าวว่า “พวกเราควรจะเปลี่ยนมุมมองว่า ไต้หวันควรจะอยู่ในตำแหน่งไหนของโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรที่มีการเชื่อมต่อกันทั่วโลกเช่นนี้”

ในปี ค.ศ. 2010 เจี่ยนเจียเต๋อ (簡嘉德) ทายาทรุ่นที่ 3 ของ I Hsin Orchids ได้ไปลงทุนตั้งโรงงานที่แคลิฟอร์เนีย โดยที่ I-Hsin Orchids มุ่งส่งออกสหรัฐอเมริกาเป็นหลักอยู่แล้ว จึงได้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคทำให้ได้รับข้อมูลการตลาดเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ เจี่ยนเจียเต๋อวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าและจุดเด่นระหว่างไต้หวันกับเนเธอร์แลนด์ในการส่งออกกล้วยไม้ไปสหรัฐฯ ว่า “ไต้หวันเป็นประเทศแรกที่ส่งออกพร้อมกับวัสดุเพาะเลี้ยงได้ กล้วยไม้จึงมีความสดเก็บได้นาน ขณะที่เนเธอร์แลนด์ จะเลือกกล้วยไม้ที่ทนทานต่อการขนส่ง ดังนั้น ชนิดกล้วยไม้ส่งออกของสองประเทศจึงต่างกัน”

การได้ใกล้ชิดผู้บริโภค ทำให้เจี่ยนเจียเต๋อ สามารถตอบสนองความต้องการตลาดได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้ง I Hsin Orchids มีสายพันธุ์กล้วยไม้ที่หลากหลาย “ตลาดต้องการอะไร พวกเราติดตามและตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว”

ในอีกด้านหนึ่ง Symon Agricultural Biotech มีความชำนาญด้านการเปลี่ยนสีดอกไม้ หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน พวกเขาแสดงการสนับสนุนยูเครนด้วยการนำกล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสสีขาว พ่นด้วยสีเหลือง-น้ำเงิน เลียนแบบธงชาติยูเครน ได้รับการตอบรับที่ดี หวงฉงเต๋อทำการวิจัยพัฒนาการเปลี่ยนสีดอกไม้ด้วยเทคนิคการย้อมสีและพ่นสีเป็นเวลาหลายปีแล้ว สีที่ใช้ไม่ทำให้อายุดอกไม้สั้นลง แต่กลับคงความสดได้ยาวนานขึ้นได้ การย้อมสีผ่านการดูดซึมโดยท่อลำเลียงของพืช ทำให้ลายเส้นดอกไม้เปลี่ยนไปมีสีสันสดสวยงดงาม ส่วนการพ่นสี เป็นงานศิลป์ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการผสมสี รูปแบบที่ผู้คนชื่นชอบกันมากคือการพ่นสีเลียนแบบธงชาติประเทศต่าง ๆ กล้วยไม้ฟาแลนนอปซิสสีขาวเปรียบเสมือนเป็นผ้าสำหรับระบายสี เปิดโอกาสให้สร้างสรรค์จินตนาการงานศิลปะอย่างไร้ขีดจำกัด

“ดอกไม้เปลี่ยนสี ตลาดไม่ใหญ่ แต่มีมูลค่าเพิ่มสูง หากมีการสร้างสรรค์สิ่งที่แปลกใหม่ จะกระตุ้นความอยากซื้อของผู้บริโภค และจะทำให้สินค้ารูปแบบพื้นฐานขายดีไปด้วย” หวงฉงเต๋อกล่าวว่า “ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า GDP ทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น ถึงตอนนั้นจะมีกำลังจับจ่ายที่น่าตะลึง ความต้องการดอกไม้สูง หากพวกเราไม่เตรียมการในตอนนี้ ก็จะไม่ทันการ” นี่คือความคาดหวังต่ออนาคต เตรียมพร้อมสำหรับการขยายตลาดโลก

ด้วยเทคนิคการทำให้กล้วยไม้ออกดอกได้ตลอดปี เป็นการปรับฤดูผลผลิตออกสู่ตลาด ด้วยความร่วมมือกันในวงการกล้วยไม้ ไต้หวันกำลังพยายามทำให้ “ฟาแลนนอปซิส” บานสะพรั่งไปทั่วโลก

 

เพิ่มเติม

“ฟาแลนนอปซิส” กล้วยไม้ไต้หวัน ออกดอกตลอดปี บานสะพรั่งไปทั่วโลก