ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ความมหัศจรรย์ของผีเสื้อ ความหลากหลายและการอนุรักษ์ ผีเสื้อไต้หวัน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-02-20

ผีเสื้อสายพันธุ์ White-banded leopard (Timelaea albescens formosana).

ผีเสื้อสายพันธุ์ White-banded leopard (Timelaea albescens formosana).
 

ไต้หวันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงชันและระบบนิเวศอันหลากหลายเหมาะแก่การเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผีเสื้อ โดยในไต้หวันมีผีเสื้อรวมทั้งสิ้นกว่า 400 สายพันธุ์ เฉพาะสายพันธุ์ท้องถิ่นของไต้หวันเองก็ครองสัดส่วน ถึง 1 ใน 8 ของทั้งหมด ภายใต้กระแสแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่กำลังมาแรง หน่วยงานด้านการอนุรักษ์ทั้งภาควิชาการและภาคประชาชนต่างร่วมมือกันทำการสำรวจร่องรอยของผีเสื้อในทุกพื้นที่ทั่วไต้หวัน เนื่องจากผีเสื้อไม่ได้เป็นเพียงแค่แมลงที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังเป็นดัชนีสำคัญที่ชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

ทีมงานของไต้หวันพาโนรามาได้ติดตามศาสตราจารย์สวีอวี้เฟิง (徐堉峰) ประจำคณะวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Department of Life Science) มหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Normal University : NTNU) เดินทางไปยังหมู่บ้านโหวถง (猴硐) ที่เขตรุ่ยฟาง นครนิวไทเป เพื่อร่วมสังเกตดูผีเสื้อในพื้นที่แถบภูเขาและแม่น้ำลำธารภายในหมู่บ้านแห่งนี้ ซึ่งธรรมชาติยังไม่ถูกทำลาย และได้กลายเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดีของผีเสื้อ

 

วิทยายุทธ์อันล้ำลึกของผีเสื้อ

ศ.สวีอวี้เฟิง ชี้ไปที่หนอนผีเสื้อบนใบไม้ พร้อมถามว่า “ทำไมมันจึงยังเกาะอยู่บนใบไม้ได้ แม้จะมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรง?” ร่องรอยสีขาวที่ปรากฏอยู่บนใบไม้กลายเป็นเบาะแสสำคัญ หนอนผีเสื้อจะชักใยบนใบไม้ จากนั้นมันจะใช้หนามเล็ก ๆ บนขาเกาะไว้ ทำให้กลายสภาพเป็นเสมือนตีนตุ๊กแกไปโดยปริยาย หลังจากหนอนผีเสื้อเสร็จสิ้นจากการหาอาหารไว้กินแล้ว มันจะกลับเข้าไปอยู่ในรังไหมที่สร้างจากใยบนใบไม้เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฝนและลมพัดร่วงตกลง

จากนั้น ก็มีหนอนผีเสื้อที่ลำตัวมีสีแดง เหลือง และเขียว คืบคลานเข้ามา บริเวณหัวและหางของมันนูนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “นั่นคือตัวหนอนของผีเสื้อสีตาล” (Satyrine butterfly) สีสันที่แสนสดใสของมันทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้ที่พบเห็นเชื่อว่า เมื่อเจริญเติบโตขึ้นมันจะกลายเป็นผีเสื้อที่ลำตัวเป็นสีน้ำตาลเพียงสีเดียว ศ. สวีอวี้เฟิงอธิบายว่า ผีเสื้อจะต้องผ่านการเจริญเติบโตที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (Complete Metamorphosis) เริ่มจากระยะที่เป็นไข่ หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัย ในระยะฟักตัวจากไข่เป็นหนอน จนถึงระยะสุดท้ายของการเป็นตัวหนอนที่จะหยุดกินอาหารก่อนจะกลายเป็นดักแด้ โดยอาหารของดักแด้จะได้มาจากในช่วงที่ยังเป็นตัวหนอน

ที่หมู่บ้านโหวถงสามารถพบเห็นผีเสื้อแทบทุกสายพันธุ์ ศ.สวีอวี้เฟิง ใช้มือค่อย ๆ จับผีเสื้อขาหน้าพู่ (Nymphalid butterfly) ขึ้นมาตัวหนึ่ง แล้วอธิบายว่า เอกลักษณ์พิเศษของผีเสื้อขาหน้าพู่คือ ขาคู่หน้าจะหดสั้นลงและทำหน้าที่ในการรับรส เนื่องจากหนอนผีเสื้อขาหน้าพู่จะกินพืชบางชนิดเท่านั้น ดังนั้น ในช่วงที่พวกมันจะวางไข่ จะใช้ขาสัมผัสกับใบไม้ด้วยความรวดเร็วและต่อเนื่อง เหมือนกับใช้หมัดชก ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าใบไม้ชนิดนั้นคืออาหารของตัวหนอน
 

ศ. สวีอวี้เฟิง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผีเสื้อระดับนานาชาติ เขาชื่นชอบผีเสื้อสีน้ำเงิน (Lycaenidae) มากเป็นพิเศษ และมองว่าผีเสื้อไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อชมความสวยงามเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์ชีวิตของผีเสื้อยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในวิถีชีวิตของมนุษย์

ศ. สวีอวี้เฟิง เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านผีเสื้อระดับนานาชาติ เขาชื่นชอบผีเสื้อสีน้ำเงิน (Lycaenidae) มากเป็นพิเศษ และมองว่าผีเสื้อไม่ได้มีไว้เพียงเพื่อชมความสวยงามเท่านั้น แต่ปรากฏการณ์ชีวิตของผีเสื้อยังเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพบเห็นได้ในวิถีชีวิตของมนุษย์
 

ผีเสื้อสายพันธุ์เฉพาะถิ่นและปรากฏการณ์ของผีเสื้อในไต้หวัน

ผีเสื้อสายพันธุ์เฉพาะถิ่นของไต้หวันส่วนใหญ่พบตามภูเขาที่มีความสูงระดับปานกลางและระดับสูง อาทิ ผีเสื้อหางติ่งสายพันธุ์ aurora swallowtail (Atrophaneura horishana) ที่บริเวณหางมีสีแดงแต้มด้วยลายจุดสีดำราวกับเนื้อแตงโม และสายพันธุ์ Hoppo peacock (Papilio hopponis) ที่บริเวณหางมีลายวงแหวนคู่ นอกจากนี้ยังมีผีเสื้อสายพันธุ์ Kuafu hairstreak (Sibataniozephyrus kuafui) ซึ่งเป็นสายพันธุ์เฉพาะถิ่นของไต้หวันที่ถูกค้นพบโดย ศ.สวีอวี้เฟิง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็มีแหล่งที่อยู่อาศัยในป่าบีช (Beech trees ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagus hayatae) บนภูเขาที่มีความสูงระดับปานกลางและระดับสูงของไต้หวัน

โดยทั่วไปแล้ว ผืนป่าที่มีพื้นที่ยิ่งกว้างใหญ่และระดับละติจูดยิ่งต่ำเท่าไหร่ก็จะยิ่งพบผีเสื้อมากขึ้นเท่านั้น ศ.สวีอวี้เฟิง เปิดเผยว่า หากเปรียบเทียบจำนวนผีเสื้อในไต้หวันกับทวีปอเมริกาใต้และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว แทบจะเทียบกันไม่ได้เลย แต่ในไต้หวันมีผีเสื้อสายพันธุ์เฉพาะถิ่นในสัดส่วนที่สูงมาก “นอกจากนี้ ยังยากที่จะหา สถานที่ใดในโลกที่การเดินทางจากชายทะเลไปถึงภูเขาที่สูง 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลใช้เวลาเพียง 3 ชม. และยังสามารถพบเห็นผีเสื้อเขตร้อนชื้นและเขตอบอุ่นได้ในเวลาเดียวกัน”

นอกจากผีเสื้อสายพันธุ์เฉพาะถิ่นแล้ว ไต้หวันยังมีปรากฏการณ์ของผีเสื้อที่ควรค่าแก่การเฝ้าสังเกตการณ์อย่างยิ่ง นั่นก็คือ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี จะมีฝูงผีเสื้อลายเสือตาลแดง (Chestnut Tiger ชื่อวิทยาศาสตร์ Parantica sita niphonica) จากญี่ปุ่นบินมาหลบหนาวในไต้หวัน จากการเฝ้าสังเกตและจดบันทึกโดยทีมวิจัยไต้หวันพบว่า ฝูงผีเสื้อลายเสือตาลแดงจากเกาะคามิโกโต้ซึ่งอยู่ใกล้นครโอซากะของญี่ปุ่น จะบินข้ามมหาสมุทรด้วยระยะทางกว่า 1,000 กม. มาหลบหนาวที่เกาะหลานอวี่และเกาะเผิงหูของไต้หวัน นับเป็นปรากฏการณ์ฝูงผีเสื้อบินข้ามมหาสมุทรที่พบเห็นได้ยากมาก

 

ผีเสื้อคือดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อม

ศ.สวีอวี้เฟิง ย้ำว่า “ผีเสื้อไม่ได้มีไว้เพียงแค่ชมความสวยงามของมันเท่านั้น แต่ชนิดสายพันธุ์และปริมาณของผีเสื้อยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมด้วย” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ศ.สวีอวี้เฟิง ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้และมหาวิทยาลัยอี๋หลาน จัดตั้งทีมวิจัยเพื่อเข้าไปสำรวจต้นบีชไต้หวัน ซึ่งพบผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืนมากกว่า 140 สายพันธุ์บนต้นไม้ชนิดนี้ ในจำนวนนี้มีผีเสื้อสายพันธุ์ใหม่ 4 สายพันธุ์ที่พวกเขาได้ร่วมกันตั้งชื่อให้มันอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อทีมวิจัยสร้างแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดให้ในอนาคตอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้น และภายใน 50 ปีข้างหน้า ต้นบีชไต้หวันจะลดปริมาณลง 5% จากในปัจจุบัน ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่บนต้นไม้ชนิดนี้ต้องเผชิญกับวิกฤตสูญพันธุ์ ด้วยเหตุนี้เอง “หนังสือปกแดงสิ่งมีชีวิตในไต้หวันที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” (The Red List of threatened species in Taiwan) จึงจัดให้ผีเสื้อสายพันธุ์ Kuafu Hairstreak เป็นสิ่งมีชีวิตบ่งชี้ (Indicator Species) ที่พบเห็นได้ยากมาก ศ.สวีอวี้เฟิง สรุปปิดท้ายว่า “เมื่อสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ลดน้อยลง แสดงว่าสิ่งแวดล้อมเริ่มเลวร้ายลง ซึ่งในที่สุดแล้วจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์ด้วย”

ผีเสื้อ นก ไลเคนและพืชที่มีท่อลำเลียง ล้วนเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม การศึกษาเรื่องผีเสื้อ ไม่เพียงแค่จดจำลักษณะเด่นของพวกมันเท่านั้น แต่สิ่งที่มีความสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ทำให้สามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมที่มนุษย์เราพำนักอาศัยอยู่ด้วย

เพื่อให้การบันทึกเรื่องราวของผีเสื้อไต้หวันเป็นไปอย่างสมบูรณ์ กรมป่าไม้ได้ร่วมมือกับทีมวิจัยของ ศ.สวีอวี้เฟิง ตีพิมพ์หนังสือชุด Butterfly Fauna of Taiwan ซึ่งนอกจากมีการแนะนำลักษณะเด่น แหล่งที่อยู่อาศัยและภาพถ่ายของผีเสื้อแล้ว ยังครอบคลุมถึงความเป็นมาและการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ตลอดจนแผนผังแสดงโครงสร้างอวัยวะสืบพันธุ์ของผีเสื้ออีกด้วย ศ.สวีอวี้เฟิงอธิบายว่า “การจะแยกแยะว่าเป็นผีเสื้อสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ทีมวิจัยจะพิจารณาจากอวัยวะสืบพันธุ์ของมัน การพิจารณาจากรูปลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแยกแยะได้” หนังสือชุดนี้มีทั้งหมด 5 เล่ม แบ่งเป็น ผีเสื้อหางติ่ง (Papilionidae) ผีเสื้อหนอนกะหล่ำ (Pieridae) ผีเสื้อบินเร็ว (Hesperiidae) ผีเสื้อสีน้ำเงิน (Lycaenidae) และผีเสื้อขาหน้าพู่ (Nymphalidae) โดยใช้ภาษาจีนควบคู่กับภาษาอังกฤษทั้งนี้เพื่อเป็นการนำเสนอความหลากหลายของสายพันธุ์ผีเสื้อไต้หวันให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล
 

สวนผีเสื้อเจี้ยนหนานเป็นสวนผีเสื้อแบบเปิดที่ตั้งอยู่กลางเมืองหลวง ผีเสื้อสามารถบินเข้าออกได้อย่าเสรี ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ

สวนผีเสื้อเจี้ยนหนานเป็นสวนผีเสื้อแบบเปิดที่ตั้งอยู่กลางเมืองหลวง ผีเสื้อสามารถบินเข้าออกได้อย่าเสรี ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ
 

ฐานที่มั่นแห่งการอนุรักษ์ผีเสื้อ - สวนผีเสื้อเจี้ยนหนาน

สมาคมอนุรักษ์ผีเสื้อไต้หวัน (Butterfly Conservation Society of Taiwan , BCST) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2003 ได้ผลักดันการฟื้นฟูเส้นทางผีเสื้อซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผีเสื้อบนถนนเจี้ยนหนาน ในเขตซื่อหลิน กรุงไทเป ปัจจุบันภายในสวนมีผีเสื้อมากกว่า 160 สายพันธุ์ จัดเป็นต้นแบบอุทยานเพื่อการศึกษาระบบนิเวศผีเสื้อของไต้หวัน

ในวันนั้น คุณจางหรงหัว (張榮華) นายกสมาคม BCST พาทีมงานของไต้หวันพาโนรามาไปเฝ้าสังเกตดูสวนผีเสื้อแบบเปิดกลางเมืองหลวงแห่งนี้ โดยภายในสวน อาสาสมัครของ BCST ได้ปลูกพืชเป็นที่อยู่อาศัยและพืชสำหรับให้น้ำหวาน ที่เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองเอาไว้สำหรับเป็นอาหารของหนอนผีเสื้อและดักแด้ นอกจากนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ผีเสื้อแย่งอาหารกัน อาสาสมัครยังทำการปรับเปลี่ยนและกระจายต้นพืชภายในสวนอย่างเหมาะสมอีกด้วย ทุกครั้งที่มีการปลูกพืชที่เป็นอาหารของผีเสื้อครั้งใหม่ อาสาสมัครจะทำการบันทึกสภาพการณ์ที่ผีเสื้อเข้ามาอาศัยและหาอาหารอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจว่าพืชแต่ละชนิดสามารถดึงดูดผีเสื้อได้มากน้อยเพียงใด

ทุกช่วงระยะทางสั้น ๆ ภายในสวนผีเสื้อ จะสามารถพบเห็นวงจรชีวิตของผีเสื้อ เริ่มจากบนต้น Formosan wendlandia ที่บริเวณปากทางเข้าสวน มีหนอนผีเสื้อจ่าเซลล์ทึบ (staff sergeant) ใช้อุจจาระมาช่วยในการพรางตัวเพื่อปกป้องตนเองจากการถูกทำร้ายโดยศัตรูธรรมชาติ

ในขณะที่ผีเสื้อหนอนใบกุ่มขอบตาลไหม้ (chocolate albatross) ที่บินวนเวียนอยู่เหนือต้น Spider Tree อยู่สักพักหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังไม่ยอมหยุดบินหรือเกาะนิ่งบนใบไม้ เพราะต้องการแสวงหาสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการวางไข่

บริเวณที่เป็นเนินเขา จะมีผีเสื้อบินเฉียดข้างกายอยู่ตลอดเวลา ที่นี่จะได้เห็นผีเสื้อหนอนมะนาว (Papilio demoleus) บินผ่านสายตาและหายลับไปภายในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีผีเสื้อหนอนคูนธรรมดา (Catopsilia pomona) ที่พบในพื้นที่แถบภูเขาเตี้ย ๆ และได้ชื่อว่า ดาวเด่นแห่งหุบเขาผีเสื้อสีเหลือง หรือ 黃蝶翠谷 (Yellow Butterfly Valley) ในเขตเหม่ยหนง นครเกาสง จากนั้นหากเงยหน้าขึ้นจะได้เห็นผีเสื้อลายเสือดาว (Timelaea albescens formosana) ตัวหนึ่ง เกาะอยู่บนต้นไม้ มันกำลังพักผ่อนแต่ก็ยังขยับปีก กางและหุบสลับกันไปมาอยู่ตลอดเวลา

คุณจางหรงหัวเล่าว่า “เคยมีหญิงสาวชาวออสเตรเลียคนหนึ่งเดินทางมาที่สวนผีเสื้อแห่งนี้ เธอบอกว่าคนไต้หวันโชคดีมากที่สามารถพบเห็นผีเสื้อหลากหลายชนิดได้ในสถานที่แห่งเดียวกัน” ในความเป็นจริงแล้ว ออสเตรเลียมีพื้นที่มากกว่าไต้หวันถึง 215 เท่า แต่ไต้หวันกลับมีผีเสื้อมากกว่า 400 สายพันธุ์ ซึ่งเท่ากันกับออสเตรเลีย

 

ไต้หวัน ดินแดนแห่งการอนุรักษ์ผีเสื้อ

ไต้หวันไม่เพียงมีผีเสื้อหลากหลายสายพันธุ์เท่านั้น ในด้านการอนุรักษ์ก็ควรค่าแก่การยกย่องและเชิดชู วิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษาในไต้หวัน มีการออกแบบที่หลากหลายและน่าสนใจ โรงเรียนบางแห่งยังมีการปลูกพืชสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยเพื่อดึงดูดผีเสื้อให้มาวางไข่อีกด้วย

นอกจากนี้ไต้หวันมีอาสาสมัครจำนวนมากที่ทุ่มเทเพื่อทำการสำรวจและเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของผีเสื้อ นับเป็นวีรบุรุษที่อยู่เบื้องหลังการวิจัยของภาควิชาการอย่างแท้จริง อย่างคุณจางหรงหัว  นายกสมาคม BCST ที่ได้พบเห็นผีเสื้อมหาจักรพรรดิสีม่วง (great purple emperor) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครอง ในแถบภูเขาทางภาคเหนือของไต้หวันเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เขาเล่าว่า “เป็นการเฝ้าสังเกตในระยะประชิดด้วยนะ ทำให้สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นผีเสื้อตัวผู้หรือตัวเมีย ในครั้งนั้นพบเห็นเกือบ 36 ตัว” การพบเห็นผีเสื้อที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในจำนวนดังกล่าวถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์และน่ายินดีอย่างยิ่ง ต่อมาคุณจางหรงหัวได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งต่อนักวิชาการ พร้อมกันนี้เขายังเข้าร่วมภารกิจการเฝ้าสังเกตผีเสื้อของทีมวิจัย โดยหวังว่าจะมีโอกาสได้ทำความเข้าใจกับผีเสื้อที่ได้รับฉายาว่า “จักรพรรดิญี่ปุ่น” ขณะเดียวกันก็เป็นผีเสื้อเฉพาะถิ่นสายพันธุ์ย่อยของไต้หวัน ให้มากยิ่งขึ้น

อาสาสมัครของ BCST แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มที่ประจำอยู่ในแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ของสวนผีเสื้อเจี้ยนหนานกับกลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์แนะนำผีเสื้อหางแฉกหางกว้าง (broad-tailed swallowtail ชื่อวิทยาศาสตร์ Agehana maraho) ในช่วงแรกสมาคม BCST ได้เชิญศาสตราจารย์ที่ศึกษาวิจัยเรื่องผีเสื้อมาสอนอาสาสมัครเกี่ยวกับความรู้เรื่องผีเสื้อและการมีปฏิสัมพันธ์กับระบบนิเวศ อาสาสมัครรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้และฝึกหัดกับมัคคุเทศก์รุ่นพี่เป็นเวลา 2 ปี หลังผ่านการรับรองจากทางสมาคม BCST แล้ว จึงจะกลายเป็นมัคคุเทศก์อาสาสมัครอย่างเป็นทางการ ในส่วนของอาสาสมัครประจำแหล่งที่อยู่อาศัยและเพาะพันธุ์ผีเสื้อต้องเรียนรู้วิธีการแยกแยะผีเสื้อสายพันธุ์ต่าง ๆ เฝ้าสังเกตหนอนผีเสื้อและต้องบันทึกความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศขนาดย่อม (อุณหภูมิ ความชื้น แสงแดด และความเร็วลม) เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการสวนผีเสื้อให้เหมาะสมกับทุกช่วงฤดูกาล

 

เพิ่มเติม

ความมหัศจรรย์ของผีเสื้อ ความหลากหลายและการอนุรักษ์ ผีเสื้อไต้หวัน