ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีเปิดดำเนินการฟาร์มกังหันลม Formosa II”
2023-05-17
New Southbound Policy。ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีเปิดดำเนินการฟาร์มกังหันลม Formosa II” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “พิธีเปิดดำเนินการฟาร์มกังหันลม Formosa II” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 16 พ.ค. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเยือนเมืองเหมียวลี่ เพื่อเข้าร่วม “พิธีเปิดดำเนินการฟาร์มกังหันลม Formosa II” โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า การจัดตั้งฟาร์มกังหันลม Formosa II มีนัยยะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ “เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันระดับนานาชาติ” “เป็นการแสดงให้เห็นว่าพลังงานสีเขียว ได้รับการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพในไต้หวัน” และ “ส่งเสริมให้ระบบจ่ายไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น” โดยมีเป้าหมายระยะยาวคือการมุ่งสู่ “การเปลี่ยนผ่านสู่การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050” ด้วยการบูรณาการทรัพยากรในแวดวงต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสในภายภาคหน้าต่อไป
 
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ฟาร์มกังหันลม Formosa II มีแท่นกังหันลมติดตั้งไว้รวม 47 จุด ซึ่งสามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าได้ 376 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,500 ล้านยูนิตต่อปี หรือเทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าตลอดทั้งปีของ 380,000 ครัวเรือน
 
ปธน.ไช่ฯ ยังเผยอีกว่า ในปีนี้จะมีฟาร์มกังหันลมที่ทำการติดตั้งแล้วเสร็จอีก 4 แห่ง โดยฟาร์มกังหันลม Formosa II มีขอบเขตที่กว้างขวางมากที่สุด โดยการเปิดตัวในครั้งนี้ ถือเป็นหลักชัยสำคัญแห่งการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนของไต้หวัน ให้รุดหน้าไปอีกระดับหนึ่ง
 
ปธน.ไช่ฯ ชี้แจง 3 นัยยะสำคัญของการจัดตั้งฟาร์มกังหันลม Formosa II ดังนี้ :

ประการแรก “เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันระดับนานาชาติ” ก่อนหน้านี้ มักมีหลายคนตั้งคำถามว่า เหตุใดจึงต้องพัฒนาพลังงานสีเขียว? พลังงานสีเขียวได้พัฒนามาเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมระดับประเทศ ในฐานะที่ไต้หวันเป็นประเทศส่งออก ความต้องการด้านพลังงานสีเขียวของผู้ประกอบการไต้หวัน นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ กลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันที่เข้าร่วมในองค์กร RE100 หรือกลุ่มบริษัทที่ตั้งเป้าในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวระดับนานาชาติ มีจำนวนรวม 25 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้น ประกอบด้วย บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งมีผลประกอบการรวมเป็นมูลค่าเกิน 5 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาพลังงานสีเขียวให้เกิดความเพียงพอ มีความสำคัญต่อการรักษาบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมไต้หวันให้คงอยู่ต่อไป
 
นัยยะประการที่ 2 “เป็นการแสดงให้เห็นว่าพลังงานสีเขียว ได้รับการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพในไต้หวัน” การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นเป้าหมายที่มีมาแต่เดิมของไต้หวัน เนื่องจากพวกเรามีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะพัฒนาไปข้างหน้าทีละก้าวอย่างมีเสถียรภาพ เริ่มต้นจากขั้นพื้นฐาน ฝ่าฝันอุปสรรคขวากหนามในระหว่างทาง ก้าวข้ามความท้าทายที่เกิดจากสถานการณ์โควิด – 19 โดยขณะนี้ นอกจากการพัฒนาพลังงานสีเขียว ดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพแล้ว เหล่าผู้ประกอบการไต้หวันก็เปี่ยมด้วยศักยภาพในการพิชิตห่วงโซ่อุปทานด้านพลังงานไฟฟ้าระดับนานาชาติ ตราบจนปัจจุบัน มีแท่นกังหันลมที่ติดตั้งกลางทะเลจำนวนรวม 208 จุด ในปี 2016 กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ อยู่ที่ 2,500 ล้านยูนิต อย่างไรก็ตามในปี 2022 พวกเราสามารถพัฒนากำลังการผลิต ให้รุดหน้ามาอยู่ที่ 14,000 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึง 5 เท่า จึงจะเห็นได้ว่าการจัดตั้งอุปกรณ์กำเนิดพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ จะทำให้มีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
 
สำหรับประการสุดท้าย “ส่งเสริมให้ระบบจ่ายไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น” หลังจากก้าวเข้าสู่ยุคพลังงานหมุนเวียน บริษัทไฟฟ้าไต้หวัน (Taipower) ก็ได้เร่งปรับรูปแบบเครือข่ายระบบการจ่ายไฟ ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอดีตคือ ช่วงเวลาความต้องการกำลังไฟฟ้าสูง 6 ชั่วโมงในระหว่างวัน แต่ในปัจจุบัน ด้วยการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย จึงสามารถทำให้อุปกรณ์เครื่องมืออย่างเครื่องจักรกลที่แปรสภาพก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ มีการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาที่มีความต้องการกำลังไฟฟ้าสูง นอกจากนี้ เนื่องจากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นพิเศษ ในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ทางบริษัท Taipower จึงได้มีการวางแผนช่วงเวลาของการซ่อมบำรุงประจำปีให้สอดคล้องกับภารกิจการซ่อมบำรุงและการจ่ายไฟ เพื่อให้ภารกิจข้างต้นสามารถดำเนินการควบคู่กันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งความยืดหยุ่นเหล่านี้ ล้วนเป็นรูปแบบใหม่ของกลไกการจ่ายไฟที่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน