ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ปิดฉากลงแล้ว ประชาคมโลกยอมรับแผนผลักดันเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน พร้อมแสดงพลังสนับสนุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม
2023-06-01
New Southbound Policy。การประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ปิดฉากลงแล้ว ประชาคมโลกยอมรับแผนผลักดันเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน พร้อมแสดงพลังสนับสนุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 ปิดฉากลงแล้ว ประชาคมโลกยอมรับแผนผลักดันเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน พร้อมแสดงพลังสนับสนุนที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิม (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 31 พ.ค. 66
 
การประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) สมัยที่ 76 ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยในปีนี้เป็นวาระครบรอบ 75 ปีแห่งการก่อตั้ง “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ด้วยเหตุนี้ ประชาคมโลกจึงได้จับตาต่อบทบาทผู้นำด้านสาธารณสุขโลกของ WHO และให้ความสำคัญกับประสบการณ์การรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป โดยแผนผลักดันการเข้าร่วม WHO และ WHA ของไต้หวัน ได้รับการสนับสนุนอย่างล้นหลามและหนักแน่นเป็นวงกว้างในประชาคมโลก อันจะเห็นได้จากการที่บุคคลสำคัญทางการเมืองนับหมื่นคนจากนับร้อยประเทศ รวมถึงสมาชิกรัฐสภาและมิตรสหายในแวดวงต่างๆ ต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในเวทีการประชุมต่างๆ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกขอบคุณด้วยใจจริง
 
โดยช่วงระหว่างที่มีการจัดการประชุม WHA ในปีนี้  นายเซวียรุ่ยหยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำ “คณะปฏิบัติการ WHO” เดินทางเยือนนครเจนีวา เพื่อป่าวประกาศเสียงเรียกร้องความต้องการเข้ามีส่วนร่วมการประชุม WHA ของไต้หวัน ผ่านการเข้าร่วมงานเลี้ยงทางการทูต การจัดงานแถลงข่าวนานาชาติ การเปิดเสวนาแบบทวิภาคีกับประเทศพันธมิตรของไต้หวัน  สหรัฐฯ ลิทัวเนีย และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมเดินออกกำลังกายที่จัดโดย WHO และการพบปะพูดคุยกับกลุ่มเอกชนและบรรดาชาวจีนโพ้นทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเป็นครั้งแรกที่ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ร่วมจัดการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ขึ้นในนครเจนีวา ในระหว่างการประชุม WHA เพื่อร่วมอภิปรายแนวทางการจัดตั้งกลไกการรับมือและตอบสนองต่อสถานการณ์โรคระบาดอย่างยั่งยืนในภายภาคหน้า นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้จัดการประชุมสัมมนาความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ ร่วมกับ “แพทยสมาคมโลก” (The World Medical Association, WMA) เพื่อร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแพทย์ในระหว่างเกิดภัยพิบัติ สำแดงให้เห็นถึงศักยภาพการกู้ภัยและการแพทย์ฉุกเฉินของไต้หวัน
 
12 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่เป็นสมาชิกของ WHO ต่างยื่นเสนอ “ญัตติว่าด้วยการเชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมสมัชชาอนามัยโลก ในฐานะผู้สังเกตการณ์” โดย ได้ส่งตัวแทนประเทศพันธมิตรจากเบลีซ นาอูรู เอสวาตินีและหมู่เกาะมาร์แชลล์ เข้าร่วมการอภิปรายแบบ 2 ต่อ 2 รวม 2 รอบในการประชุมคณะกรรมการทั่วไปของ WHO และการประชุมกับคณะรัฐบาลจีน
 
พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ก็ทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้มี 13 มิตรประเทศที่ให้การสนับสนุนไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นปีแรกที่รัฐบาลเอสโตเนียร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างเปิดเผยในการประชุม WHA อีกด้วย
 
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงกล่าวอ้างว่า ได้จัดเตรียมแนวทางการเข้าร่วมกิจการสาธารณสุขโลกให้แก่ไต้หวันแล้ว พร้อมทั้งประณามกลุ่มประเทศที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันว่า เป็นพฤติกรรมแทรกแซงทางการเมืองในการประชุม WHA แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนเป็นต้นเหตุที่สร้างแรงกดดันให้ WHO กีดกันการเข้าร่วมของไต้หวัน กต.ไต้หวันขอเน้นย้ำว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ไม่เคยมีสักวันที่อำนาจการปกครองของรัฐบาลจีนได้เข้าปกครองในไต้หวัน มีเพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้น จึงจะมีสิทธิเป็นตัวแทนของภาคประชาชนชาวไต้หวัน เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อย่าง WHO ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพของประชาชนชาวไต้หวันถ้วนหน้า
 
นอกจากนี้ หน่วยงานสภานิติบัญญัติและองค์การรัฐสภาแบบข้ามประเทศ ต่างก็ร่วมสำแดงให้เห็นถึงพลังการสนับสนุนไต้หวันในระดับนานาชาติ ด้วยการลงมติผ่านญัตติ พร้อมยื่นส่งหนังสือให้การสนับสนุนไต้หวัน โดยคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้มีมติให้ผ่าน “กฎหมายความเป็นปึกแผ่นระหว่างประเทศของไต้หวัน” (Taiwan International Solidarity Act)” ก่อนวันเปิดการประชุม WHA โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านพฤติกรรมของจีนที่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงในญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 เพื่อขัดขวางมิให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ นับว่ามีนัยยะที่พิเศษยิ่ง
 
นอกจากนี้ บุคคลสำคัญทางการเมือง สมาชิกรัฐสภาและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์นานาชาติ ก็ได้ร่วมให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น ภายใต้วลีสำคัญ “#TaiwanCanHelp” , “#LetTaiwanHelp” , “#LetTaiwanIn” “#WHONeedsTaiwan”
 
หลายปีมานี้ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ของไต้หวัน ได้ตระเวนไปให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ทั่วโลก วิดีทัศน์สั้นภายใต้ชื่อ “ไต้หวันพร้อมเคียงข้างเสมอ” (The Doctor Is In) ที่จัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำเสนอให้เห็นถึงการที่ไต้หวันส่งธารน้ำใจด้านการแพทย์ไปสู่สถาบันโรคหัวใจเด็กในยูเครน รวมถึงการจัดตั้งโครงการการยกระดับกลไกการดูแลสุขภาพของทารกและสตรีในเอสวาตินีและกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา และโครงการการบ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์นานาชาติ ซึ่งประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดให้ประชาคมโลกประจักษ์ว่าไต้หวันมีศักยภาพและยินดีช่วยเหลือ โดยมียอดผู้เข้าชมวิดีทัศน์สั้นข้างต้น เป็นจำนวนกว่า 13.12 ล้านคนครั้ง นอกจากนี้ บทความพิเศษของ รมว.เซวียฯ  หนังสือและบทความของสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างแดน รวมถึงบทวิจารณ์ที่เป็นมิตรต่อไต้หวันของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศทั่ว โลก และรายงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับการตีพิมพ์จากสื่อนานาชาติ รวมจำนวน 367 บทความ นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้จัดตั้งผลงานประติมากรรม Taiwan Can Help ขึ้นบริเวณลานกว้างปาแลเดนาซียง (Palais des Nations) หน้าที่ทำการของสำนักงานสหประชาชาติประจำนครเจนีวา และจัดทำการประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายโฆษณารถบัสสาธารณะ ที่วิ่งวนรอบพื้นที่นครเจนีวา ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและการสนับสนุนต่อแผนผลักดันการเข้าร่วมของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่กลุ่มผู้แทนนานาชาติ
 
นอกจากนี้ กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในต่างแดน และกลุ่มเอกชน อย่างคณะผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่จับตาต่อประเด็นการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน รวมถึงกลุ่มนักศึกษา จำนวนกว่า 500 คน ต่างเดินทางมารวมตัวกันในนครเจนีวา เพื่อสำแดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเข้าร่วม WHA ของไต้หวัน ผ่านการจัดงานคาร์นิวัล นิทรรศการ ขบวนพาเหรด และการประชุมสัมมนาระดับนานาชาติที่แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของไต้หวัน
 
องค์การนอกภาครัฐระดับนานาชาติอย่าง “แพทยสมาคมโลก” (WMA) และ “แพทยสภาแห่งสหภาพยุโรป” (CPME) รวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในพื้นที่ภูมิภาคยุโรป เอเชีย ลาตินอเมริกาและแอฟริกา ต่างก็ร่วมส่งหนังสือเรียกร้องต่อเลขาธิการใหญ่ WHO พร้อมทั้งประกาศแถลงการณ์เพื่อส่งเสียงสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม WHA อย่างกระตือรือร้น
 
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไต้หวันยึดมั่นในหลักการ “สุขภาพดีถ้วนหน้า ไต้หวันช่วยได้” (Health for all, Taiwan can help) ในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการแพทย์และสาธารณสุขกับนานาประเทศทั่วโลก เพื่อร่วมจัดตั้งเครือข่ายสุขภาพทั่วโลกที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป ผนึกพลังเสียงสนับสนุนที่ยิ่งใหญ่จากประชาคมโลก พร้อมเรียกร้องให้ WHO ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุม WHA รวมถึงการประชุม กิจกรรมและกลไกที่เกี่ยวข้องของ WHO ต่อไป