ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมเจรจาด้านพลังงาน ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ครั้งที่ 5 มุ่งผลักดันพลังงานทดแทนคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero)
2023-06-17
New Southbound Policy。การประชุมเจรจาด้านพลังงาน ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ครั้งที่ 5 มุ่งผลักดันพลังงานทดแทนคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
การประชุมเจรจาด้านพลังงาน ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ครั้งที่ 5 มุ่งผลักดันพลังงานทดแทนคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 16 มิ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายโหยวเจิ้นเหว่ย อธิบดีกรมพลังงาน กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษประจำไทเป (British Office Taipei) ร่วมจัด “การประชุมเจรจาด้านพลังงาน ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ครั้งที่ 5” ขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
 
การประชุมในครั้งนี้ได้ติดต่อเชิญนายเซี่ยอู่เฉียว ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำอังกฤษ และ Mr. Lord Faulkner of Worceste ทูตพิเศษทางการค้าของรัฐบาลอังกฤษที่ประสานงานติดต่อกับรัฐบาลไต้หวัน ทยอยกล่าวปราศรัยในพิธีเปิด โดยผู้แทนเซี่ยฯ กล่าวว่า อังกฤษเป็นผู้นำด้านฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งของโลก ที่ครองบทบาทสำคัญมาเป็นเวลานาน และมีผลงานการวิจัยใหม่ๆ ในด้านพลังงานหมุนเวียนและแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เกิดขึ้นเสมอๆ ถือได้ว่าเป็นเป้าหมายที่หลายประเทศต้องการขอความรู้และคำชี้แนะอันเชี่ยวชาญ และเป็นแบบอย่างที่ไต้หวันควรจะเรียนรู้
 
Mr. Faulkner กล่าวว่า อังกฤษเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านพลังงานลมที่เกิดจากฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งระดับสากล โดยรัฐบาลอังกฤษได้ร่วมแลกเปลี่ยนกับไต้หวันมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี ทั้งในด้านฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง นโยบายด้านพลังงานและการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา โดยเนื้อหาการประชุมเจรจา ครอบคลุมไปในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การวางแผนจัดการบริหารพื้นที่ใต้ท้องทะเล พลังงานไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและการป้อนพลังงานเข้าสู่ตลาดภายในประเทศ โดยทั้งสองฝ่ายคาดหวังที่จะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างกันในเชิงลึกต่อไป พร้อมนี้ Mr. Faulkner ยังคาดหวังที่จะนำคณะผู้แทนการค้าอังกฤษเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ พร้อมทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยพลังงานหมุนเวียน ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ครั้งที่ 18 ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นในระหว่างนั้นด้วย
 
เมื่อปีที่แล้ว ไต้หวันได้ประกาศแนวทางและการชี้แจงกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ก่อนปี 2050 โดยได้กำหนดให้พลังงานลมจากฟาร์มกังหันลมและพลังงานไฮโดรเจน เข้าเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์สำคัญ 12 รายการ โดยการประชุมในครั้งนี้ นายเฉินจงเซี่ยน หัวหน้าฝ่ายกิจการของกระทรวงเศรษฐการ เข้าร่วมแบ่งปันว่า ไต้หวันจะขยายการติดตั้งอุปกรณ์พลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสัดส่วนปริมาณพลังงานที่ผลิตเองในประเทศ ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านพลังงาน โดย Dr. Ameena Camps สมาชิกคณะกรรมการความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านแห่งสกอตแลนด์ (Scottish Just Transition Commission) เน้นย้ำว่า ภารกิจการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ มิใช่เป็นเพียงกระบวนการเท่านั้น หากแต่ยังเป็นผลลัพธ์อีกด้วย โดย Dr. Ameena Camps ได้ร่วมแบ่งปันกลไกการบริหารของคณะกรรมการให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมด้วย
 
ในส่วนของการบริหารพื้นที่ใต้ท้องทะเล เจ้าหน้าที่ฝ่ายอังกฤษได้แบ่งปันการกำหนดนโยบายการพัฒนาฟาร์มกังหหันลมนอกชายฝั่ง ภายใต้หลักการทางวิทยาศาสตร์ และแนวทางการอยู่ร่วมกันของกลุ่มผู้ปฏิบัติการที่สำคัญๆ โดยนายหลินฉวินห้าว หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรทางทะเลของคณะกรรมการกิจการทางทะเลของไต้หวัน ก็ได้ร่วมแบ่งปันสถานการณ์การผลักดันแผนการจัดการบริหารพื้นที่ใต้ท้องทะเลในระดับเบื้องต้นของไต้หวัน ได้ร่วมกับ Mr. Richard Burch ผู้อำนวยการฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกและกิจการพลังงานสะอาดของสำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษประจำไต้หวัน ในการแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือด้านการวางแผนกิจการท่าเรือ ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ และโครงการความร่วมมือในการยกระดับเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากร ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ
 
ส่วนด้านพลังงานไฮโดรเจน ไต้หวันได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษ เพื่อผลักดันแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้น กลางและยาว สำหรับการพัฒนาและวิจัยพลังงานไฮโดรเจน
 
Ms. Julie Scott ผู้อำนวยการ กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเป็นโอกาสแห่งการบรรลุความมั่นคงและความหลากหลายทางพลังงาน และเป็นกุญแจสำคัญของการบรรลุคำมั่นด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ จะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในสังคม ด้วยเหตุนี้ การสร้างหลักประกันด้านความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และการยอมรับซึ่งความหลากหลาย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง นับเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านของพลังงาน ซึ่งไต้หวัน - อังกฤษ ได้มีการประสานความร่วมมืออย่างครอบคลุมสมบูรณ์มาก่อนหน้านี้
 
เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำว่า ความร่วมมือด้านพลังงาน ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ มีความสำคัญต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนแบบทวิภาคี เชื่อว่าการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางความร่วมมือที่มากยิ่งขึ้น ให้แก่ทั้งสองฝ่ายในภายหน้าต่อไป