กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 มิ.ย. 66
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายหลี่ฉุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำต้อนรับ Mr. Hon. Vytenis Tomkus รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเกษตร สาธารณรัฐลิทัวเนีย พร้อมด้วยคณะ ขึ้น ณ ที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศ นับเป็นครั้งที่ 6 ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่รัฐบาลลิทัวเนียได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอันดีระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความยินดีในการให้การต้อนรับด้วยใจจริง
รมช.หลี่ฯ กล่าวว่า ไต้หวัน – ลิทัวเนียได้มุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านต่างๆ เชิงลึก ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมการเกษตร และบังเกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมากมายนานับประการ ในปี 2022 ไต้หวันได้ริเริ่มนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์จากนมและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไข่ของลิทัวเนีย โดยในปีนี้ได้เพิ่มการนำเจ้าสินค้าอื่นจากลิทัวเนีย เช่น เนื้อวัวและไข่ไก่ ซึ่งรมช.หลี่ฯ หวังว่าจะมีโอกาสได้เห็นสินค้าจากลิทัวเนียวางจำหน่ายตามตลาดโดยทั่วไป เพื่อเป็นตัวเลือกที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพทางความร่วมมือด้านเครื่องจักรกล เทคโนโลยีและอุปกรณ์ซอฟต์แวร์ด้วย
รมช. Tomkus กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้เดินทางเยือนไต้หวันเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย พร้อมทั้งขอบคุณการต้อนรับอันแสนอบอุ่นจากรัฐบาลไต้หวัน โดยการประชุมความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีนัยยะสำคัญที่จะเอื้อประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายในภายภาคหน้า จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างคาดหวังที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นวงกว้างในประเด็นการพัฒนาทางอุตสาหกรรม การลงทุนระหว่างกัน สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้า รวมไปถึงสงครามรัสเซีย – ยูเครน ด้วย
การเดินทางเยือนไต้หวันของ รมช. Tomkus ในครั้งนี้ นอกจากจะเข้าร่วมเป็นแขกรับเชิญในพธีเปิด “มหกรรมอาหารนานาชาติไทเป ปี 2023” และเข้าเยี่ยมหน่วยงานวิจัยทางการเกษตรแล้ว ยังได้ประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการการเกษตร ภายใต้สภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในการจัดการประชุมความร่วมมือทางการเกษตร ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย ครั้งที่ 1 พร้อมทั้งร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MoU) ทางการเกษตร ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย” โดยมีนายหวงจวินเหย้า ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำลิทัวเนีย และ Mr. Paulius Lukauskas ผู้อำนวยการสำนักงานการค้าลิทัวเนียในไต้หวัน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการลงนาม ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างให้คำมั่นว่า จะร่วมจัดตั้งแพลตฟอร์มการเจรจาความร่วมมือทางการเกษตร เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกันเป็นวาระประจำในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ นโยบายการเกษตร นวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร กลยุทธ์การเข้าสู่ตลาด และการอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น
คณะกรรมการกิจการการเกษตรไต้หวัน ระบุว่า การลงนาม MoU ทางการเกษตร ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย ในครั้งนี้ มีนัยยะสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการเกษตรแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย อย่างเป็นรูปธรรม โดยในการประชุมความร่วมมือทางการเกษตร ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นกลยุทธ์และแนวทางการปรับเปลี่ยน สำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในภาคการเกษตร ตลอดจนยังร่วมบรรลุฉันทามติกันในหลายประเด็น อาทิ การเสริมสร้างความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในด้านสินค้าเกษตรและอาหารของทั้งสองฝ่าย ความเชื่อมโยงทางนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตร และการเสริมสร้างกลไกทางการค้าสินค้าเกษตรแบบทวิภาคี เป็นต้น พร้อมทั้งยังให้คำมั่นต่อกันอย่างหนักแน่นว่า จะเร่งผลักดันความร่วมมือทางการเกษตรแบบอินทรีย์ จับคู่ธุรกิจนวัตกรรมทางเทคโนโลยีการลดการปลดปล่อยคาร์บอนให้เป็นลบและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ของกลุ่มผู้ประกอบการการเกษตรแบบทวิภาคี ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสองประเทศ ให้สามารถขยายตลาดเข้าสู่พื้นที่ในยุโรปและเอเชียได้ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางการเกษตรแบบทวิภาคีอย่างยั่งยืน และช่วยยกระดับผลตอบแทนของกลุ่มเกษตรกรให้เพิ่มสูงขึ้น
รมช. Tomkus กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ลิทัวเนีย เป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ลำดับที่ 5 ที่ได้ร่วมลงนาม MoU ฉบับข้างต้นกับไต้หวัน ต่อจากเนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ฮังการีและโปแลนด์ เชื่อว่าหลังจากที่ได้จัดตั้งแพลตฟอร์มการเจรจาความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างกันแล้ว จะมีส่วนช่วยในการเปิดศักราชใหม่ของการแลกเปลี่ยนทางการเกษตรที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันต่อไป