ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันและอดีตรมว.กลาโหมสหรัฐฯ ร่วมหารือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมย้ำว่า การธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน และเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหม เพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจเผด็จการของจีน
2023-07-19
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันและอดีตรมว.กลาโหมสหรัฐฯ ร่วมหารือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมย้ำว่า การธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน และเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหม เพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจเผด็จการของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันและอดีตรมว.กลาโหมสหรัฐฯ ร่วมหารือผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมย้ำว่า การธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน และเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหม เพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจเผด็จการของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 18 ก.ค. 66
 
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และ Mr. Mark T. Esper อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกา ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการสัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในรายการ “TVBS Meeting Room” โดยมีอวี๋เหวินฉี เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งแขกรับเชิญทั้งสองรายที่ร่วมให้สัมภาษณ์ต่างแสดงจุดยืนไปในทิศทางเดียวกันว่า ประชาคมโลกควรตระหนักถึงความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีน พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศของไต้หวันด้วยการพึ่งพาตนเอง และการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับเหล่าประเทศพันธมิตร โดยการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ได้ทำการไลฟ์สด พร้อมทั้งได้มีการอัปโหลดลงช่องทาง Youtube เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับชมอย่างถ้วนหน้า
 
รมว.อู๋ฯ และอดีตรมว. Esper ต่างเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองของไต้หวัน เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากจีนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น พวกเราไม่สามารถละเลยหรืออยู่นิ่งเฉยได้ ซึ่งการขยายเวลารับใช้ชาติของทหารเกณฑ์ เป็นหนึ่งในแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพด้านกลาโหมของไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม อดีตรมว. Esperให้การยอมรับต่อรัฐบาลไต้หวัน ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องดินแดนของตน พร้อมทั้งกล่าวว่า การขยายเวลารับใช้ชาติของทหารเกณฑ์ เป็นเวลา 1 ปี เป็นการส่งสัญญาณ (signal) ที่ถูกต้องให้ประชาคมโลกได้ร่วมรับรู้ถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า การป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของประชาชนชาวไต้หวันทุกคน เราจำเป็นต้องแสดงความมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง จึงจะได้รับพลังสนับสนุนที่ยิ่งใหญ่จากประชาคมโลก
 
ต่อประเด็นกลยุทธ์ของไต้หวันที่ใช้รับมือกับการคุกคามจากจีนว่า ควรเลือกใช้วิธีการตอบโต้เพื่อยับยั้งหรือจะเจรจาหารือกันให้มากขึ้น อดีตรมว. Esper ชี้ว่า มีเพียงการจัดตั้งกลไกสำหรับการยับยั้งที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับยกระดับแสนยานุภาพทางการป้องกันประเทศเท่านั้น ที่จะทำให้การเจรจาและการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ดี การตอบโต้เพื่อยับยั้งและการเจรจา มิได้มีความขัดแย้งกันในตัวเอง รมว.อู๋ฯ ชี้ให้เห็นถึงจุดยืนของรัฐบาลไต้หวัน ที่ว่า “ไต้หวันไม่ยั่วยุไม่ท้าทาย และมุ่งมั่นรักษาสถานภาพเดิมในปัจจุบัน” รวมถึง “เร่งเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมอย่างต่อเนื่อง” พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเน้นย้ำว่า เพื่อรับมือการคุมคามและการบีบพื้นที่ในเวทีนานาชาติของไต้หวันจากจีน ไต้หวันจะมุ่งแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อังกฤษ กลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างได้ทยอยแสดงจุดยืนว่าด้วยความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งต่อต้านพฤติกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ส่วนการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) และการประชุมสุดยอดผู้นำในเวทีนานาชาติ ต่างก็ได้มีการเน้นย้ำถึงจุดยืนดังกล่าว ซึ่งก็คือ การร่วมสกัดกั้นความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังย้ำว่า จีนไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายการสร้างความสัมพันธ์อันดีและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับนานาประเทศทั่วโลก และไม่มีสิทธิ์กล่าวอ้างว่า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและนานาประเทศ คือการสร้างความยั่วยุและท้าทาย
 
อดีตรมว. Esper แสดงทรรศนะว่า มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อความสมดุลในช่องแคบไต้หวันที่มีมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี เนื่องมาจากการคุกคามด้วยกำลังทหารของจีน ด้วยเหตุนี้ อดีตรมว. Esper จึงได้เสนอให้รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดการพิจารณาในญัตติที่เกี่ยวข้องกับนโยบายจีนเดียว และลดความคลุมเครือเชิงกลยุทธ์ เพื่อแสดงให้จีนเห็นถึงสัญญาณการตอบโต้ที่ชัดเจน รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ความทะเยอทะยานทางภูมิรัฐศาสตร์ของจีน มิได้จำกัดเพียงเฉพาะในช่องแคบไต้หวันเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่พื้นที่ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจึงควรที่จะประสานความร่วมมือกัน เพื่อสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีนในการคุกคามประเทศภายนอก
 
ต่อประเด็นการกระจายความเสี่ยงของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รมว.อู๋ฯ เผยว่า แผ่นชิปทั่วโลกร้อยละ 60 และแผ่นชิปทันสมัย กว่าร้อยละ 92 ล้วนผลิตจากไต้หวัน หากเกิดสงครามในช่องแคบไต้หวัน จะก่อให้เกิดความเสี่ยงอันเกิดจากภาวะขาดแคลนชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก การที่ผู้ประกอบการเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน ได้ไปก่อตั้งโรงงานในต่างแดน จะมีส่วนช่วยในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานโลก แต่ในส่วนของการวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง จะยังคงฝังรากลึกลงในไต้หวันต่อไป โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ที่มีการพัฒนามาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ยากนักที่จะสามารถมีอะไรมาทดแทนได้ ประกอบกับการลงทุนจากต่างประเทศในไต้หวัน เมื่อปีที่แล้ว มีการขยายตัวเติบโตขึ้น กว่าร้อยละ 77.9 จากปีก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและแรงดึงดูดทางการตลาดของไต้หวัน โดยการลงทุนระหว่างประเทศจะส่งผลให้ไต้หวันมีความมั่นคง เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ อดีตรมว. Esper ยังด้วยย้ำว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ ควรร่วมลงนามความตกลงทางการค้าและข้อตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เพื่อลดการพึ่งพาที่ไต้หวันมีต่อจีน ควบคู่ไปกับการเตือนเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้จีนสามารถแย่งชิงเทคโนโลยีทันสมัย เช่นการผลิตแผ่นชิปไปได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศลัทธิอำนาจนิยมครอบครองข้อได้เปรียบในอุตสาหกรรมที่เป็นกุญแจสำคัญ เช่น การบินและอวกาศ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
 
ในช่วงท้าย รมว.อู๋ฯ ยังได้ชี้แจงถึงการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ โดยเห็นว่า ไต้หวันได้รับการสนับสนุนจาก 2 พรรคการเมืองหลักในรัฐสภาสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีปฏิสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานสภาบริหาร เชื่อว่าในอนาคต ไม่ว่าพรรคใดจะได้รับเลือกให้เป็นพรรครัฐบาล ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนอันดีระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ก็จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืน