ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กระทรวงพัฒนาดิจิทัลนำคณะผู้ประกอบการเดินทางเยือนไทย หวังส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ วางรากฐานธุรกิจในกลุ่มประเทศตามเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่
2023-08-22
New Southbound Policy。กระทรวงพัฒนาดิจิทัลนำคณะผู้ประกอบการเดินทางเยือนไทย หวังส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ วางรากฐานธุรกิจในกลุ่มประเทศตามเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (ภาพจากกระทรวงพัฒนาดิจิทัล)
กระทรวงพัฒนาดิจิทัลนำคณะผู้ประกอบการเดินทางเยือนไทย หวังส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ วางรากฐานธุรกิจในกลุ่มประเทศตามเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (ภาพจากกระทรวงพัฒนาดิจิทัล)

สำนักข่าว CNA วันที่ 21 ส.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพัฒนาดิจิทัล (Ministry of Digital Affairs, MODA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนผู้ประกอบการด้านข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ (Data Economy) และผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการศึกษา เดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร เพื่อร่วมทำการแลกเปลี่ยนระดับนานาชาติเป็นเวลา 5 วัน พร้อมทั้งเข้าร่วมการประชุมสมัชชาหุ้นส่วนความร่วมมือด้านข้อมูลที่เปิดกว้างในภูมิภาคเอเชีย (Asia Open Data Partnership, AODP) และการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ เป็นต้น โดยหวังที่จะส่งเสริมให้เหล่าผู้ประกอบการไต้หวัน เร่งปูรากฐานโอกาสธุรกิจในตลาดของกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่
 
จดหมายข่าวของ MODA ที่ประกาศเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า การประชุม AODP ในปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพหมุนเวียนจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค. ซึ่งเป็นการจัดขึ้นในสถานที่การประชุมจริง หลังจากที่ถูกระงับไปเป็นเวลา 3 ปี วาระการประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วย  การประชุมสมาชิก  การประชุมสัมมนานานาชาติ และการเข้าเยี่ยมชมของประธาน  AODP เป็นต้น
 
การประชุมสมาชิก  AODP มุ่งเน้น  3 มิติ ได้แก่ แนวโน้มการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การประยุกต์ใช้ข้อมูลและบริหารจัดการข้อมูล อุปสงค์ของตลาดการบริการข้อมูลแบบข้ามพรมแดน นับเป็นครั้งแรกที่เลขาธิการ AODP ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานภาครัฐที่ควบคุมดูแลด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co operation and Development, OECD) เข้าร่วมการประชุม โดยได้หยิบยกกรณีตัวอย่างของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มาแบ่งปัน โดยระบุว่า การแบ่งปันข้อมูลแบบเปิดกว้างและการประยุกต์ใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ซึ่งในระหว่างการประชุม ตัวแทนภาครัฐของไต้หวัน ก็ร่วมแบ่งปันกรณีต้นแบบของการให้บริการข้อมูลเชิงเศรษฐกิจในรูปแบบไต้หวันด้วยเช่นกัน
 
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. เจ้าหน้าที่สำนักอุตสาหกรรมยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเปิดตัวศูนย์จำลองธุรกิจ (Business Simulation Center, BSC) ที่จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อประกาศเปิดตัวศูนย์ BSC อย่างเป็นทางการ โดยศูนย์แห่งนี้จะเป็นฐานทดลองการแข่งขันการจำลองรูปแบบธุรกิจและศูนย์ฝึกอบรม ซึ่งในอนาคตจะขยายขอบเขตกลไกการแข่งขันและการฝึกอบรม ไปสู่สถาบันอุดมศึกษาในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์ต่อไป
 
สำนักอุตสาหกรรม แถลงว่า BSC เป็นกลไกที่ร่วมจัดตั้งขึ้นโดยบริษัท Top-BOSS , JECTOR Digital และ Live ABC ซึ่งเป็น 3 ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการศึกษาของไต้หวัน ที่ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบการณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งมอบกลไกการสัมผัสประสบการณ์จำลองรูปแบบธุรกิจที่มีความเสมือนจริง เพื่อเป็นประโยชน์แก่เหล่านักศึกษา ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการศึกษา ระหว่างไต้หวัน - ไทย
 
ไฮไลท์ของการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้คือ ในวันที่ 18 ส.ค. กระทรวงศึกษาธิการของไทย และศูนย์ STEM-ED ขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization, SEAMEO) ได้ร่วมจัดการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการที่บูรณาการขึ้นในรูปแบบไฮบริด โดยได้เชิญกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษาของไต้หวัน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และกลยุทธ์ในการผลักดันเทคโนโลยีการศึกษาในแง่มุมต่างๆ
 
สำนักอุตสาหกรรม แถลงว่า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 ส่งผลให้หลายปีมานี้ กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ได้มุ่งมั่นผลักดันการปูรากฐานเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ โดยวัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ก็เพื่อส่งเสริมให้บรรดาผู้ประกอบการไต้หวัน เกิดความเข้าใจต่ออุปสงค์ของกลุ่มผู้ซื้อต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการวางรากฐานธุรกิจในกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่