ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่อิงเหวินให้การต้อนรับ “คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสภาแอตแลนติก (The Atlantic Council)” ซึ่งเป็นคลังสมองของกรุงวอชิงตัน ดีซี
2023-08-25
New Southbound Policy。ปธน.ไช่อิงเหวินให้การต้อนรับ “คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสภาแอตแลนติก (The Atlantic Council)” ซึ่งเป็นคลังสมองของกรุงวอชิงตัน ดีซี (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่อิงเหวินให้การต้อนรับ “คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสภาแอตแลนติก (The Atlantic Council)” ซึ่งเป็นคลังสมองของกรุงวอชิงตัน ดีซี (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 24 ส.ค. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสภาแอตแลนติก (The Atlantic Council)” ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของกรุงวอชิงตัน ดีซี โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายระหว่างประเทศ การเสริมสร้างความทรหดของประชาธิปไตยโลก ได้กลายมาเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกให้ความสำคัญร่วมกัน โดยการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า รวมถึงเสถียรภาพและความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน ล้วนเป็นเสาหลักของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในการเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ หลายปีมานี้ ไต้หวัน สหรัฐฯ และยุโรป มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างกลไกทางเศรษฐกิจด้วยการพึ่งพาตนเองแล้ว ยังเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของนานาประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ อีกด้วย โดยปธน.ไช่ฯ ย้ำว่า ไต้หวันจะสร้างและขยายขอบเขตความร่วมมือในเชิงลึกกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมธำรงรักษาเสรีภาพ การเปิดกว้าง และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกให้คงอยู่สืบไป
 
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ในการแข่งขัน FIBA บาสเกตบอล เวิลด์คัพ 2023 รอบอุ่นเครื่อง ที่เพิ่งจัดขึ้น ได้ติดต่อเชิญนักกีฬาฝีมือดีจากลิทัวเนีย ลัตเวีย เดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขันในไต้หวัน โดยได้ปิดฉากการแข่งขันลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งปธน.ไช่ฯ และ Ms. Dalia Grybauskaitė อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐลิทัวเนีย ได้เดินทางไปร่วมรับชมการแข่งขันในครั้งนี้ด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากการแลกเปลี่ยนทางกีฬาแล้ว หลายปีมานี้ ไต้หวัน – ลิทัวเนีย ต่างมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ อาทิ การจัดตั้งสำนักงานตัวแทนขึ้นในดินแดนระหว่างกัน และการเดินทางเยือนแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อแสวงหาโอกาสความร่วมมือแบบข้ามแวดวงที่มากยิ่งขึ้น
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีมานี้ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคโควิด – 19 และสงครามรัสเซีย - ยูเครน การเสริมสร้างความทรหดของประชาธิปไตยทั่วโลก กลายเป็นประเด็นสำคัญร่วมกันของประชาคมโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตย โดยเฉพาะไต้หวัน ลิทัวเนียและเช็ก ที่มีประสบการณ์เชิงประวัติศาสตร์ด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งตราบจนปัจจุบัน กลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างก็เป็นประเทศแนวหน้าในการธำรงรักษาประชาธิปไตยและเสรีภาพ ตลอดจนเผชิญหน้ากับภัยคุกคามและการขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ร่วมกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก
 
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นไปในเชิงลึกยิ่งขึ้น ในอนาคต พวกเราจะมุ่งมั่นผลักดันการลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน” (ADTA) ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ อย่างกระตือรือร้น เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่อำนวยความสะดวกให้แก่ทั้งสองฝ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
 
ในด้านความร่วมมือระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศยุโรป ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้ว พวกเราได้ยื่นเสนอ “โครงการเสริมสร้างความเชื่อมโยงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป” โดยไต้หวันได้ทำการจัดตั้งกองทุนการเงินและการลงทุนในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีชีวภาพและรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
 
ในช่วงท้าย ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อมิตรสหายสหรัฐฯ และยุโรป ที่ต่างย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันบนเวทีนานาชาติหลายแห่ง โดยในครั้งนี้ พวกเราได้รวมตัวกันในการประกาศให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยด้วย
 
อดีตปธน. Grybauskaitė กล่าวว่า ลิทัวเนียเป็นมิตรสหายใหม่ของไต้หวันในกลุ่มประเทศทวีปยุโรป มิตรภาพของทั้งสองฝ่ายได้ก่อตั้งขึ้นบนรากฐานความคล้ายคลึงร่วมกันหลายประการ อาทิ ไต้หวัน – ลิทัวเนียต่างมีเนื้อที่ประเทศไม่มาก แต่ต้องเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่เป็นมิตร แต่ถึงกระนั้น พวกเราก็ยังคงเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง
 
อดีตปธน. Grybauskaitė ชี้ว่า ในยุโรปและพื้นที่ภูมิภาคอื่นๆ พวกเราต่างเล็งเห็นถึงวิกฤตการบีบบังคับหรือข่มขู่ประเทศรายรอบของประเทศลัทธิอำนาจนิยม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดความเชื่อมั่นในตนเอง อย่างไรก็ตาม ประเทศขนาดเล็กอย่างไต้หวันและลิทัวเนีย กลับผนึกพลังสามัคคีกันมากขึ้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการปกป้องประชาชนของตนเอง
 
อดีตปธน. Grybauskaitė เผยว่า การเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ตนมีโอกาสร่วมเป็นสักขีพยานในการพัฒนาที่รวดเร็วและหลากหลายมิติของไต้หวัน หลายสิบปีมานี้ ไต้หวันได้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่มีการบังคับใช้กฎอัยการศึก มาสู่การเป็นประเทศประชาธิปไตย และมุ่งมั่นธำรงรักษาประชาธิปไตยไว้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย อดีตปธน. Grybauskaitė เห็นว่า ความแข็งแกร่งของประเทศใดประเทศหนึ่ง มิได้ขึ้นอยู่กับขนาดของประเทศ แต่อยู่ที่ศักยภาพที่แสดงออกมาของประชาชน เพียงแค่ประชาชนของเรา ต้องการแสวงหาประชาธิปไตย อิสรภาพและเสรีภาพ เราก็จะได้รับเสรีภาพในที่สุด โดยอดีตปธน. Grybauskaitė หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนชาวไต้หวันจะร่วมกำหนดอนาคตของประเทศชาติของตนด้วยวิธีการที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกัน โดยปราศจากการแทรกแซงจากประเทศที่สาม