ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นรม.ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ปี 2023 เพื่อร่วมกำหนดแผนแม่บทอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการดูแลทางสุขภาพและสวัสดิการที่ดีเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
2023-08-29
New Southbound Policy。นรม.ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ปี 2023 เพื่อร่วมกำหนดแผนแม่บทอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการดูแลทางสุขภาพและสวัสดิการที่ดีเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
นรม.ไต้หวันเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ปี 2023 เพื่อร่วมกำหนดแผนแม่บทอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับการดูแลทางสุขภาพและสวัสดิการที่ดีเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

สภาบริหาร วันที่ 28 ส.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นายเฉินเจี้ยนเหริน นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาบริหาร ปี 2023” โดยนรม.เฉินฯ กล่าวว่า เทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชศาสตร์เป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไต้หวัน โดยสภาบริหารจะเร่งบูรณาการทรัพยากรข้ามหน่วยงาน ควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพของไต้หวัน ผ่านการกำหนดนโยบาย ข้อบัญญัติทางกฎหมายและจัดตั้งช่องทางการชี้แนะ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ เพื่อบรรลุฉันทามติร่วมกัน และกำหนดแผนแม่บทด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพของไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการส่งมอบสวัสดิการการดูแลสุขภาพที่ดีให้แก่ภาคประชาชนชาวไต้หวันแล้ว ยังคาดหวังที่จะผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพให้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าล้านล้านเหรียญไต้หวัน เป็นอันดับต่อไป
 
นรม.เฉินฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า “การประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษายุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ” (BTC) ที่สภาบริหารจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 แล้ว พร้อมทั้งระบุว่า เทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชศาสตร์เป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไต้หวัน นับตั้งแต่ปี 2016 ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นต้นมา ก็ได้กำหนดให้อุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพเข้าเป็นหนึ่งใน “โครงการนวัตกรรมอุตสาหกรรม 5+2” เนื่องด้วยในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาให้มุ่งสู่ทิศทางการดูแลสุขภาพอย่างแม่นยำ โดยในปี 2020 รัฐบาลได้จัดให้ “โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพแม่นยำ” กำหนดเข้าไว้ใน “6 อุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ” โดยสภาบริหารจะเร่งบูรณาการทรัพยากรข้ามหน่วยงาน ควบคู่ไปกับการมุ่งมั่นพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพของไต้หวัน ผ่านการกำหนดนโยบาย ข้อบัญญัติทางกฎหมาย และจัดตั้งช่องทางการชี้แนะ เพื่อวางแผนแม่บทด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพ พร้อมทั้งเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างกระตือรือร้น โดยหวังที่จะผลักดันอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพ ให้ก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าล้านล้านเหรียญไต้หวัน เป็นอันดับต่อไป
 
นรม.เฉินฯ กล่าวว่า ภายใต้ระบบการแพทย์ที่ยอดเยี่ยม ความร่วมมือจากภาคประชาชน และระบบการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กลไกการป้องกันโรคโควิด – 19 ประสบความสำเร็จ และส่งเสริมให้ทั่วโลกมองเห็นไต้หวัน โดยในช่วงระหว่างปี 2020 – 2022 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวัน บรรลุผลสัมฤทธิ์ที่แซงหน้าหลายประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ต้องมีหลักประกันทางสุขภาพที่ดี จึงจะมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีตามมา ไต้หวันเป็นแหล่งรวมบุคลากรการแพทย์ชีวภาพที่เปี่ยมคุณภาพเป็นจำนวนมาก คุณภาพทางการแพทย์ของไต้หวัน ก้าวขึ้นครองอันดับต้นๆ ของโลก จากรายงานที่ประกาศโดยเว็บไซต์คลังข้อมูล Numbeo ไต้หวันครองอันดับ 1 ใน “ผลการประเมินดัชนีการดูแลสุขภาพทั่วโลก” ติดต่อกัน 4 ปีซ้อน สถาบันการแพทย์หลายรายในประเทศ ต่างได้รับการรับรองด้วยมาตรฐานระดับสากล ในด้านสถานพยาบาลรูปแบบอัจฉริยะและการประเมินทางการแพทย์รูปแบบดิจิทัล ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า การแพทย์ไต้หวันเป็นต้นแบบที่ดีในระบบการแพทย์และสาธารณสุขระดับโลก เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถบรรลุ “หลักการ P4” ของกลไกการดูแลสุขภาพแม่นยำ ผ่านกระบวนการบูรณาการระหว่างเทคโนโลยีและการแพทย์ ซึ่ง P4 ประกอบด้วย การป้องกัน (preventive) การคาดการณ์ (predictive) ความเป็นส่วนตัว (personalized) และการเข้าร่วม (participatory) ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนควบคุมดูแลสุขภาพของตนเองอย่างกระตือรือร้น สรรค์สร้างสังคมที่เปี่ยมด้วยความสุขและสุขภาพดีอย่างยั่งยืนต่อไป
 
นรม.เฉินฯ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในระยะนี้ ไต้หวันยังมุ่งผลักดันข้อมูลบิ๊กดาต้าด้านสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน มุ่งวางแผนจัดตั้งระบบเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบูรณาการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของมวลชนทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้เป็นระบบข้อมูลทางการแพทย์ โดยในอนาคตยังจะดำเนินการบูรณาการภาพถ่ายเอกซเรย์และข้อมูลตัวเลขที่เกี่ยวข้อง รวบรวมไว้ในระบบข้อมูลหลักประกันทางสุขภาพ ซึ่งในอนาคต เราจะมีทรัพย์สินส่วนรวมที่สำคัญในการส่งเสริมสุขภาพของภาคประชาชน การป้องกันโรคและระบบการแพทย์ที่ครอบคลุมสมบูรณ์ นอกจากนี้ รัฐบาลยังคาดหวังที่จะจัดตั้งชุมชนอุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพของไต้หวัน ผ่านการวิจัยและวิเคราะห์รอยโรค การวิจัยและพัฒนายาตัวใหม่ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติเข้ามาลงทุนในไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการดูแลสุขภาพของประชาชนในประเทศให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น  
 
ในช่วงท้าย นรม.เฉินฯ เน้นย้ำว่า คุณลักษณะของการแพทย์ชีวภาพคือการส่งมอบความห่วงใยทางมนุษยธรรม ในระหว่างที่อุตสาหกรรมการแพทย์ชีวภาพ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องสร้างคุณประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการให้แก่มวลมนุษยชาติ การออกแบบพัฒนาระบบการวินิจฉัยโรค ผลิตภัณฑ์ยาและซอฟต์แวร์ ที่วิจัยและพัฒนาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการแพทย์ชีวภาพของไต้หวัน ล้วนสร้างคุณประโยชน์ที่มากมายมหาศาลให้แก่มวลมนุษยชาติในด้านสุขภาพและสวัสดิการ ประกอบกับความคิดเห็นของเหล่าสมาชิกคณะกรรมการ BTC เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสรรค์สร้างให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ ที่เจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนสืบไป