ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไทย เพื่อส่งออกแผนโซลูชันด้านเมืองอัจฉริยะของไต้หวัน
2023-09-18
New Southbound Policy。นายกงหมิงซิน (กลาง) ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) นายหลินเจียหลง (ซ้าย) เลขาธิการทำเนียบประธานาธิบดี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ขวา) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน พร้อมนี้ ตัวแทนไต้หวันยังได้เชิญชวนผู้ว่าฯ ชัชชาติฯ ให้เดินทางมาเข้าร่วมนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ ปี 2024 ที่เตรียมเปิดฉากขึ้นในไต้หวันด้วย (ภาพจาก NDC)
นายกงหมิงซิน (กลาง) ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) นายหลินเจียหลง (ซ้าย) เลขาธิการทำเนียบประธานาธิบดี และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ขวา) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนระหว่างกัน พร้อมนี้ ตัวแทนไต้หวันยังได้เชิญชวนผู้ว่าฯ ชัชชาติฯ ให้เดินทางมาเข้าร่วมนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ ปี 2024 ที่เตรียมเปิดฉากขึ้นในไต้หวันด้วย (ภาพจาก NDC)

สำนักข่าว Liberty Times วันที่ 16 ก.ย. 66
 
เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บรรดามิตรประเทศในการพัฒนาประเทศด้วยแผนโซลูชันเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา นายกงหมิงซิน ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) จึงได้นำคณะตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 50 คน เดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมทั้งได้เชิญชวนนายหลินเจียหลง เลขาธิการทำเนียบประธานาธิบดี เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะด้วย ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และศักยภาพการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ ที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้ประกอบการชาวไทยแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมจัดตั้งแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในระยะยาว เชื่อว่าจะสามารถส่งเสริมให้เหล่าผู้ประกอบการไต้หวัน ขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างราบรื่นต่อไป
 
ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายกงฯ กล่าวบ่อยครั้งว่า ที่ผ่านมาไต้หวันประสบความสำเร็จในการผลักดันแผนโซลูชันด้านต่างๆ มากมายกว่า 250 รายการ อาทิ การคมนาคมอัจฉริยะ การดูแลสุขภาพอัจฉริยะ การผลิตและการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ มีแผนโซลูชันจำนวน 88 รายการ ที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว โดยไต้หวัน - ไทย สามารถยึดหลักแนวคิดการเอื้อประโยชน์แบบทวิภาคี เร่งพัฒนารูปแบบความร่วมมือแบบวิน-วิน ด้วยการบูรณาการข้อได้เปรียบระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการซึมซับประสบการณ์และแผนโซลูชันที่ประสบความสำเร็จของอีกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น
 
นายหลินฯ กล่าวว่า ไต้หวัน - ไทย ในภาษาอังกฤษ ต่างก็มีคำว่า “TAI” ประกอบอยู่พวกเราจึงหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายผูกสัมพันธ์ (Tie) เข้าไว้ด้วยกัน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI โดยนายหลินฯ หวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายเปิดศักราชแห่งความร่วมมือในเชิงลึก ภายใต้มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อแผ่ขยายขอบเขตจากนโยบายมุ่งใต้ใหม่ไปสู่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก หรือแม้กระทั่งสร้างสรรค์รูปแบบการเอื้อประโยชน์แบบวิน-วินในตลาดโลกร่วมกัน
 
NDC แถลงว่า ในการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ คณะตัวแทนไต้หวันและเหล่าผู้ประกอบการไทย มีความตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกัน โดยในระหว่างนี้ บริษัท DIGITIMES ของไต้หวันและบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัดของไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อร่วมวิจัยความเป็นไปได้ในการผลักดันเมืองอัจฉริยะของไต้หวันในประเทศไทย
 
กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงและเป็นพื้นที่สำคัญในการผลักดันเมืองอัจฉริยะของไทย โดยในระหว่างนี้ นายกงฯ และนายหลินฯ ยังได้ร่วมหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในประเด็นเมืองอัจฉริยะแบบทวิภาคี โดยนายกงฯ ได้เชื้อเชิญให้นายชัชชาติฯ นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวันในปี 2024 เพื่อเข้าร่วมนิทรรศการเมืองอัจฉริยะที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ที่ร่วมจัดขึ้นโดย NDC และสมาคมคอมพิวเตอร์กรุงไทเป ทั้งนี้ เพื่อเข้าเยี่ยมชมแผนโซลูชันเมืองอัจฉริยะกว่า 2,000 รายการที่รวบรวมมาจากทั่วโลก นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ไต้หวันยังมีกำหนดการจัดนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ ที่มุ่งเน้นไปที่หลักการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ด้วย
 
เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเมืองอัจฉริยะและเทคโนโลยี 5G ของไต้หวัน รุกขยายตลาดไทย ในครั้งนี้ คณะตัวแทนแลกเปลี่ยนยังได้เข้าพบปะหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย เพื่อทำความเข้าใจกับมาตรการนโยบาย “โครงสร้างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี” พร้อมระบุว่า ผู้ประกอบการ 5G ของไต้หวันเพรียบพร้อมด้วยประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมากมาย การสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือแบบทวิภาคีในเชิงลึก จะสามารถช่วยส่งเสริมการจัดตั้งโมเดลเมืองอัจฉริยะและศูนย์สาธิตในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่ฝ่ายไทย โดยในระหว่างการประชุม ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความต้องการของผู้ประกอบการไต้หวัน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ประเทศเป้าหมายด้วย
 
นอกจากนี้ คณะตัวแทนไต้หวันยังได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม ระหว่างไต้หวัน - ไทย ปี 2023 ที่จัดขึ้นโดยสมาคมอุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไต้หวัน - ไทย รวม 7 ฉบับ โดยในจำนวนนี้ มี 3 ฉบับที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ อาทิ ความร่วมมือด้านการแพทย์อัจฉริยะและการให้บริการทางการแพทย์จากระยะไกล (Telemedicine) ในประเทศไทย ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างบริษัทจงหัว เทเลคอม สำนักงานในประเทศไทย โรงพยาบาลคริสเตียนจางฮั่วและโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค (Overbrook Hospital) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย อีกทั้งยังมีความร่วมมือด้านโรงงานอัจฉริยะในรูปแบบคลาวด์ ที่ร่วมลงนามระหว่างบริษัท WEYU Technology Co.,LTD.  ของไต้หวัน และบริษัท JUMPWAY Co.,LTD. ของไทย รวมไปถึงความร่วมมือด้านการเกษตรอัจฉริยะ ที่ร่วมลงนามระหว่างบริษัท Hitspectra Intelligent Technology Co., Ltd. และบริษัทหงต้า จำกัด (Hongda Company Limited)