ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่อิงเหวินและบุคคลสำคัญทางการเมืองทั่วโลกเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 7 ประจำปี 2023 เพื่อร่วมอภิปรายแผนแม่บทใหม่ด้านการพัฒนาภูมิภาคเอเชียในอนาคต
2023-10-12
New Southbound Policy。ปธน.ไช่อิงเหวินและบุคคลสำคัญทางการเมืองทั่วโลกเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 7 ประจำปี 2023 เพื่อร่วมอภิปรายแผนแม่บทใหม่ด้านการพัฒนาภูมิภาคเอเชียในอนาคต (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่อิงเหวินและบุคคลสำคัญทางการเมืองทั่วโลกเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 7 ประจำปี 2023 เพื่อร่วมอภิปรายแผนแม่บทใหม่ด้านการพัฒนาภูมิภาคเอเชียในอนาคต (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 11 ต.ค. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 7 : นวัตกรรมเอเชียและการเสวนาเพื่อความก้าวหน้า” โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า นโยบายมุ่งใต้ใหม่เป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในแผนยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกของไต้หวัน พวกเราได้พิสูจน์ให้หุ้นส่วนภูมิภาคและทั่วโลกเห็นว่า เมื่อเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่สามารถไว้วางใจได้ เปี่ยมด้วยความมั่นคงและเชื่อถือได้ ปธน.ไช่ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในการเผชิญหน้ากับความท้าทายในภูมิภาค โดยพวกเราจะมุ่งมั่นเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหุ้นส่วนทางความร่วมมือภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน พร้อมมุ่งมั่นอุทิศคุณประโยชน์ ตลอดจนสร้างหลักประกันด้านความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ภาคประชาชนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก สืบต่อไป
 
คำปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญดังนี้ :

เริ่มต้น ปธน.ไช่ฯ ได้กล่าวต้อนรับและบรรดาขอบคุณแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมการประชุม Yushan Forum ในครั้งนี้ โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 แล้ว ส่งผลให้มียอดผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน
 
นับตั้งแต่ปี 2016 ที่ปธน.ไช่ฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำไต้หวันเป็นต้นมา ก็ได้มุ่งมุ่นผลักดันนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ส่งเสริมความร่วมมือเชิงกว้างในด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ โดยกลไกการเสวนาในภูมิภาคอย่างการประชุม Yushan Forum ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่สำคัญ
 
โดยการประชุมทุกปีมุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับ บทบาทสำคัญของภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกในระบบเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงแนวทางการส่งเสริมและขยายขอบเขตความร่วมมือในภูมิภาค โดยหวังที่จะอาศัยเวทีการประชุมในแต่ละครั้ง รวบรวมฉันทามติภาพรวมด้านการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของหุ้นส่วนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
 
หลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ นั่นหมายความว่า พวกเรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่เปี่ยมด้วยความท้าทาย การประชุม Yushan Forum ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “เปิดแผนแม่บทใหม่ในการพัฒนาภูมิภาคเอเชีย” (Start a New Blueprint for Asian Development) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นวิสัยทัศน์การพัฒนาที่เปี่ยมด้วยการยอมรับและความยืดหยุ่น ภายใต้พื้นฐานของผลสัมฤทธิ์ด้านนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่ดำเนินมาตราบจนปัจจุบัน
 
หลังจากได้ใช้ความมุ่งมั่นพยายามมาเป็นระยะเวลา7 ปี พวกเราและกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ได้จัดตั้งความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอันแนบแน่น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
 
ในปี 2022 มูลค่าการค้าระหว่างไต้หวัน – กลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ได้สร้างสถิติใหม่สูงสุดที่มูลค่า 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการส่งออกของไต้หวันไปยังกลุ่มประเทศเป้าหมายเหล่านี้ ก็สามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 96,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการทุบสถิติใหม่เป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับปี 2016 จะเห็นว่ามีการขยายตัวในสัดส่วนร้อยละ 88 และ 64 ตามลำดับ
 
มูลค่าการลงทุนของไต้หวันในกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ก็ขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากรายงานข้อมูลสถิติ ยอดการลงทุนของเหล่าผู้ประกอบการไต้หวัน โดยตรงหรือผ่านประเทศที่ 3 มีมูลค่าสะสมกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างโอกาสงานกว่าล้านตำแหน่ง
 
ที่น่าจับตาคือ ระหว่างปี 2016 – 2022 ยอดการลงทุนในไต้หวันของผู้ประกอบการกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ มีมูลค่าสะสมกว่า 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะในปี 2022 ก็สร้างมูลค่าไว้กว่า 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น 8 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2016
 
ธนาคารของไต้หวันก็ได้ทยอยจัดตั้งสาขาเพื่อเป็นฐานการให้บริการในกลุ่มประเทศเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง จวบจนปัจจุบัน มีสาขาและสำนักงานย่อยเกิดใหม่เป็นจำนวน 339 แห่งแล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 70 จากปี 2016
 
นอกจากนี้ พวกเรายังได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์การแพทย์รวม 10 แห่งในกลุ่มประเทศอาเซียน 7 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยขยายอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพในพื้นที่
 
การแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มนักท่องเที่ยวก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ในช่วงระหว่างเดือนม.ค. – ก.ค. ปีนี้ ยอดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน มีจำนวนทั้งสิ้น 2.73 ล้านคนครั้ง ซึ่งครองสัดส่วนนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางเยือนไต้หวันในช่วงเวลาเดียวกันกว่าร้อยละ 84 นอกจากนี้ ไต้หวันยังครองอันดับต้นๆ ใน “ผลสำรวจดัชนีการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมทั่วโลก” (Global Muslim Travel Index, GMTI) สะท้อนให้เห็นถึงมิตรไมตรีและความเคารพของภาคประชาชนในภาพรวมของไต้หวัน ที่ได้รับการยอมรับในเวทีนานาชาติ
 
ในด้านการศึกษา ไต้หวันได้รับความสนใจจากกลุ่มนักศึกษาในประเทศอาเซียนและอินเดีย ซึ่งครอบคลุมทั้งในระดับปริญญาไปจนถึงหลักสูตรการแลกเปลี่ยน และการวิจัยในสาขาเฉพาะทางต่างๆ จึงส่งผลให้ความร่วมมือทางวิชาการมีพัฒนาการที่รุดหน้า นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา สถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศของไต้หวัน ได้เปิดรับสมัครนักศึกษาจากกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ จำนวนกว่า 200,000 คนจากเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทยและอินเดีย เป็นต้น ซึ่งพวกเราคาดหวังที่จะเห็นบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในไต้หวัน เลือกประกอบอาชีพในไต้หวัน เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศเป้าหมาย ในภายภาคหน้าต่อไป
 
เนื่องด้วยข้อได้เปรียบด้านเทคโนโลยีขั้นสูงของไต้หวันที่ไม่สามารถมีผู้ใดมาแทนที่ได้ พวกเราได้กำหนดให้ข้อได้เปรียบเหล่านี้ บรรจุลงใน “โครงการมุ่งใต้ใหม่รูปแบบดิจิทัล” โดยหวังว่าจะสามารถช่วยพัฒนาประเทศหุ้นส่วนในด้านระบบการผลิตอัจฉริยะและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
 
ไต้หวันมีสังคมที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย ระบบเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองและหลักนิติธรรมที่สมบูรณ์ เมื่อช่วงที่ผ่านมา สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดให้ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลกด้านความสามารถในการแข่งขันปี 2023
 
หลายปีมานี้ ภายใต้สถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างผกผัน ไต้หวันสำแดงให้เห็นถึงความทรหดที่แกร่งกล้า ในการก้าวขึ้นสู่หนึ่งในพลังสำคัญที่ร่วมธำรงรักษาความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ศักยภาพทางเทคโนโลยีและความสามารถด้านการผลิตอันแกร่งกล้าของไต้หวัน ครองบทบาทสำคัญที่มิสามารถขาดได้ในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาคและระดับโลก
 
ในปัจจุบัน ความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ถูกยกระดับให้เป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง ปธน.ไช่ฯ จึงขอใช้โอกาสนี้ แสดงความขอบคุณต่อเสียงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยพวกเราก็จะสำแดงให้ประชาคมโลกประจักษ์ว่า ไต้หวันคือต้นแบบด้านประชาธิปไตยและทัศนคติที่เปี่ยมความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นพลังแห่งความดีของโลก รวมไปถึงแนวทางการส่งเสริมประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม
 
H. E. Russ Joseph Kun ประธานาธิบดีสาธารณรัฐนาอูรู กล่าวให้การยอมรับต่อบทบาทสำคัญของไต้หวันในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม เศรษฐกิจการค้าและความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งมีศักยภาพในการก่อตัวแผนแม่บทใหม่ด้านการพัฒนาภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะศักยภาพทางเทคโนโลยีทันสมัยและตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ของไต้หวัน เปี่ยมด้วยศักยภาพในการก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย
 
Mr. Keiji Furuya สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประธาน “สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น” (Nikka Giin Kondankai) กล่าวว่า สหภาพรัฐสภาแบบข้ามพรรคของญี่ปุ่น มุ่งผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม “องค์การอนามัยโลก” (WHO) และ“ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) พร้อมนี้ Mr. Keiji ยังได้แสดงจุดยืนเห็นพ้องต่อแนวคิดของอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะแห่งญี่ปุ่น ที่ว่า “เรื่องของไต้หวัน ก็เปรียบเหมือนเรื่องของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน” จึงจะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นมีความแนบแน่นอย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้
 
Ms. Kelly Craft ผู้แทนถาวรของสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ (UN) เน้นย้ำระหว่างการแสดงปาฐกถาในงานเลี้ยงอาหารกลางวันว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตย ประชาชนมีสิทธิตัดสินใจเลือกชะตาชีวิตของตนเอง ประเทศเผด็จการอย่างจีนไม่มีสิทธิก้าวก่าย
 
Mr. Scott Morrison สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เน้นย้ำถึงความสำคัญของไต้หวันที่มีต่อประชาคมโลก ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศในภูมิภาคจึงจำเป็นต้องผนึกกำลังที่เปี่ยมด้วยความทรหดเพื่อสกัดกั้นและปกป้องความมั่นคงของไต้หวัน พร้อมธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน
 
Mr. Matt Murray เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการ APEC กล่าวว่า การประชุม APEC ในปีนี้ มุ่งเน้นไปที่แนวทางการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทาน การประชุมผู้นำ APEC เตรียมเปิดฉากขึ้นในเดือนพ.ย. นี้ ณ เมืองซานฟรานซิสโก โดย Mr. Murray ขานรับแนวคิดของปธน.ไช่ฯ ด้วยการเน้นย้ำว่าไต้หวันมีบทบาทสำคัญในแผนโซลูชันการรับมือต่อความท้าทายระดับโลก และเป็นบทบาทสำคัญที่มิสามารถขาดได้ในการมุ่งพัฒนาความยั่งยืนของ APEC