ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นำท่านเดินทางกลับสู่ฮัวเหลียน ตามรอยเส้นทางแห่งวรรณกรรมของหยางมู่
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-11-06

บทกวี “มองลงไปที่แม่น้ำลี่อู้ 1983” บทประพันธ์ที่หยางมู่ได้รับแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์ขึ้นระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยวที่หุบเขาทาโรโกะ

บทกวี “มองลงไปที่แม่น้ำลี่อู้ 1983” บทประพันธ์ที่หยางมู่ได้รับแรงบันดาลใจ และสร้างสรรค์ขึ้นระหว่างเดินทางไปท่องเที่ยวที่หุบเขาทาโรโกะ
 

“รู้ไหมว่าคลื่นทุกลูกมีต้นกำเนิดมาจากฮัวเหลียน”

หยางมู่ (กวีนิพนธ์ในขวดแก้ว)

หยางมู่ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น “กวีผู้คงแก่เรียน” ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในเมืองฮัวเหลียนและซีแอตเทิล “กวีนิพนธ์ในขวดแก้ว” เป็นบทกวีที่หยางมู่แต่งขึ้นในปี ค.ศ. 1974 เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกขณะที่จ้องมองตะวันซึ่งกำลังลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกพร้อมกับการเกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้น ทิศทางและเสียงดังกล่าวต่างก็ชี้ไปยังสถานที่ที่เป็นบ้านเกิดของเขา “รู้ไหมว่าคลื่นทุกลูกมีต้นกำเนิดมาจากฮัวเหลียน” ฮัวเหลียนเป็นคำที่หยางมู่มักนำไปใช้เปรียบเปรยในวรรณกรรมของเขา การอ่านบทกวีของหยางมู่ จึงช่วยให้ผู้อ่านสามารถดื่มด่ำกับทัศนียภาพของฮัวเหลียนไปพร้อมกัน

 

“ซาผัวตั้ง” หนึ่งในสถานที่ที่ปรากฏในบทกวีของหยางมู่ ซึ่งกล่าวถึงทิวทัศน์ แม่มดและสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น กระรอกบิน และแมวภูเขา สร้างจินตนาการให้กับเหล่านักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำอยู่ริมแม่น้ำ ได้ลองนึกถึงทัศนียภาพดั้งเดิมของสถานที่แห่งนี้

“ซาผัวตั้ง” หนึ่งในสถานที่ที่ปรากฏในบทกวีของหยางมู่ ซึ่งกล่าวถึงทิวทัศน์ แม่มดและสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น กระรอกบิน และแมวภูเขา สร้างจินตนาการให้กับเหล่านักท่องเที่ยวที่เล่นน้ำอยู่ริมแม่น้ำ ได้ลองนึกถึงทัศนียภาพดั้งเดิมของสถานที่แห่งนี้
 

สิ่งต่าง ๆ ล้วนมาจากบ้านเกิด

ซีซี (西西) นักเขียนชาวฮ่องกงเชื่อว่า เราสามารถทำความรู้จักกับไต้หวันผ่านภาพยนตร์และวรรณกรรมต่าง ๆ ได้ แต่สิ่งที่ทำให้เธอรู้จักกับฮัวเหลียนได้อย่างถ่องแท้ กลับเป็นการอ่านบทกวีและร้อยแก้วของหยางมู่ที่สั่งสมมานานหลายปี เธอกล่าวถึงหยางมู่ว่า “หยางมู่ถือเป็นความภูมิใจของฮัวเหลียน”

ตัวหยางมู่เองเคยกล่าวไว้ว่า “ฮัวเหลียนเสมือนเป็นอาวุธลับของผม” สวี่โย่วฟาง (許又方) ผู้อำนวยการหอสมุดหยางมู่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติตงหัวในฮัวเหลียน อธิบายว่า ฮัวเหลียนเป็นดั่งจินตภาพตามบทกวีของหยางมู่ “การที่หยางมู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางการประพันธ์คนหนึ่งได้นั้น เป็นผลมาจากการเติบโตของเขาที่ถูกหล่อเลี้ยงจากฮัวเหลียน ซึ่งหลอมรวมเข้ากับความรู้สึกที่ไม่ถูกเปิดเผยออกมาจากใจของเขา”

หยางมู่ยังใช้ชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในฮัวเหลียนเป็นสิ่งชูโรงในการเขียนบทกวีเกี่ยวกับภูมิประเทศจำนวนมาก เจิงเจินเจิน (曾珍珍) ศิษย์เอกของหยางมู่ ผู้ก่อตั้งสถาบันการเขียนเชิงสร้างสรรค์และวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยตงหัว กลับมองว่า ผลงานดังกล่าวสะท้อนถึงความสนใจของหยางมู่ที่มีต่อประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของไต้หวันเป็นอย่างมาก

ดังเห็นได้จากเพลง “พาเธอกลับฮัวเหลียน” เพลงพื้นบ้านที่แต่งโดยหยางเสวียนและประพันธ์คำร้องโดยหยางมู่ อันถือเป็นหนึ่งในผลงานที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของฮัวเหลียน

----------

มาเถอะ มาร่อนลงสู่หุบเขาแห่งการเพาะปลูกที่เบื้องล่างด้วยกัน
ที่นี่คือบ้านเกิดของฉันเอง
....
แนวหิมะขาวบริสุทธิ์คือจุดสูงสุดของภูมิประเทศที่นี่
16 องศาเซลเซียส คืออุณหภูมิเฉลี่ยในเดือนมกราคม
และมีอุณหภูมิสูงถึง 28 องศาเซลเซียสในเดือนกรกฎาคม
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3,000 มิลลิเมตร
ฤดูหนาวมีลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน
และเปลี่ยนเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูร้อน
แม้ธรรมชาติจะไม่อุดมสมบูรณ์เท่าไรนัก
แต่ก็สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้อย่างเพียงพอ
มาเถอะ มาร่อนลงสู่หุบเขาแห่งการเพาะปลูกที่เบื้องล่างด้วยกัน
มาร่วมกันเป็นสักขีพยานให้กับตำนานแห่งการสรรค์สร้าง
มาร่วมกันทำงาน
เพื่อเปิดประตูให้กับดินแดนที่แสนอ่อนโยนและอบอุ่น
....
มาร่อนลงสู่หุบเขาแห่งการเก็บเกี่ยวด้วยกัน
เพราะที่นี่ คือบ้านเกิดของเรา

หยางมู่“พาเธอกลับฮัวเหลียน (1975)”

----------

 

จุดเริ่มต้นของเส้นทางแห่งวรรณกรรม :หุบเขาทาโรโกะ

----------

มองลงมาเพื่อให้เห็นต้นกำเนิดของขุนเขาและสายน้ำ
เหล่าเมฆาที่ลอยล่องบนฟากฟ้าคืออาภรณ์ที่ปลิวอยู่บนท้องนภา น้ำพุแห่งธรรมชาติไหลลงมาเป็นลำธาร
แสงตะวันสาดส่องลงมาที่ตัวเราซึ่งกำลังนอนหมอบท่ามกลางอากาศที่เย็นสบาย
โดยรอบไม่เคยเงียบสงบ ลวดลายที่ปรากฏบนหน้าผาสูงตระหง่าน
สีสันของโขดหินขนาดใหญ่ ความงดงามของต้นกกอ้อที่อิ่มน้ำ
ย้ำเตือนให้ฉันนึกถึงการเดินทางบนเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาอย่างยาวนาน
ต้องพบกับแรงต้านและการผลักไส
ที่อยู่ใกล้คุณแค่นี้เอง

หยางมู่ “มองลงมา-แม่น้ำลี่อู้ (1983)”

----------

เจิงเจินเจินเคยกล่าวถึงผลงานของหยางมู่ที่ชื่อ “มองลงมา” งานประพันธ์ที่หยางมู่แต่งขึ้นระหว่างการเดินทางกลับไปเที่ยวที่แม่น้ำลี่อู้ในฮัวเหลียนอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนั้นเขาเดินทางกลับมาเป็นอาจารย์พิเศษเป็นครั้งที่สองในภาควิชาภาษาและวรรณคดีต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน โดยชี้ว่า “เทพธิดาแห่งแม่น้ำลี่อู้ที่ปรากฏอยู่ในบทกวี แท้ที่จริงแล้วคือร่างสมมุติจากแรงบันดาลใจของกวี”

ซวีเหวินเว่ย (須文蔚) รองคณบดีวิทยาลัยศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยครุศาสตร์ไต้หวัน (台灣師範大學) อดีตผู้อำนวยการศูนย์วรรณกรรมศึกษาหยางมู่ ให้ความเห็นว่า “บทกวีนี้เป็นตำนานพื้นเมืองที่หยางมู่แต่งขึ้นเมื่อครั้งเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด พรรณนาถึงทัศนียภาพที่สวยงามของสถานที่ดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มนี้ เป็นบทกวีที่เต็มไปด้วยความปรารถนาและความยิ่งใหญ่”

ถ้ำนกนางแอ่นในหุบเขาทาโรโกะ เป็นที่ตั้งของหินอ่อนขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในไต้หวัน บทกวี “มองลงมา” บรรยายให้เห็นถึงหุบเขาอันงดงามตระการตาและสายน้ำสีฟ้าใสที่ไหลอยู่ในแม่น้ำ บทกวีของหยางมู่ ทำให้ผู้อ่านเกิดมุมมองใหม่ต่อธรรมชาติอันมหัศจรรย์นี้ที่แตกต่างไปจากเดิม
 

ทางเดินบนชั้นสองที่เชื่อมต่ออาคารของวิทยาลัย CHASS ซึ่งหยางมู่มักใช้เป็นประจำ

ทางเดินบนชั้นสองที่เชื่อมต่ออาคารของวิทยาลัย CHASS ซึ่งหยางมู่มักใช้เป็นประจำ
 

เส้นทางแห่งวรรณกรรมจุดที่สอง :ทะเลสาบชีซิงถาน

----------

เสียงคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง
สีสันของห้วงเวลา
การหันหลังให้กับการผสมผสานที่ไร้จุดสิ้นสุด
รายละเอียดบางช่วงบางตอน
อยู่ภายใต้เงาของขุนเขาและเมฆาที่สลับซับซ้อนกัน
ฉันหันหน้ากลับไปยังทะเลกว้าง พร้อมจะรับฟังเธอ
กับภาพลวงตาแห่งความทรงจำที่ไม่สามารถอธิบายได้

หยางมู่ (ชีซิงถาน) (1996)

----------

ทะเลสาบชีซิงถาน มีลักษณะเป็นอ่าวโค้งสวยงามที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและกลายเป็นช่องแคบ นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับการเดินเล่นริมชายหาด หรือนั่งฟังเสียงคลื่นกระทบฝั่งบนหาดทรายที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดไปพร้อม ๆ กับอ่านบทกวี “ชีซิงถาน” ของหยางมู่ ดื่มด่ำในอรรถรสของบทกวีที่ถ่ายทอดผ่านอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อสถานที่แห่งนี้

หยางมู่แต่งกวีบทนี้ในขณะที่เขามีอายุ 56 ปี บทกวีดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์อยู่ในหนังสือรวมบทประพันธ์ “ประพจน์ในห้วงเวลา” ซวีเหวินเว่ยกล่าวว่า ชีซิงถานเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่หยางมู่ชื่นชอบ ฟังเสียงคลื่นทะเลและปลดปล่อยจินตนาการ มองเห็นอวนจับปลาที่ถูกวางนิ่งอยู่บนผิวน้ำทะเล เรือสำปั้นแล่นไปมาระหว่างทะเลและชายฝั่ง และเมื่อพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าก็เป็นเวลาของพระจันทร์ที่จะปรากฏโฉม

 

เส้นทางแห่งวรรณกรรมจุดที่สาม : บ้านของหยางมู่

ถ้ามีโอกาสได้มาที่ตัวเมืองฮัวเหลียน นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะไปเยี่ยมชมบ้านเลขที่ 57 บนถนนกวงฟู่เจีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “จิ้วซูผู้จื่อ” หรือ “ร้านหนังสือเก่า” เดิมคือบ้านเลขที่ 8 ถนนเจี่ยเยวเจีย สถานที่แห่งนี้คือโรงพิมพ์ตงอี้ที่ก่อตั้งโดยหยางสุ่ย (楊水) บิดาของหยางมู่ และหนังสือชื่อ “ริมน้ำ” หนังสือรวมเล่มบทกลอนของหยางมู่เล่มแรกก็ถูกจัดพิมพ์ขึ้นที่โรงพิมพ์แห่งนี้ สถานที่แห่งนี้ยังนับเป็นสถานที่สำคัญทางวรรณกรรมสำหรับกลุ่มคนรักหนังสือในฮัวเหลียนอีกด้วย

หยางมู่ได้รับการศึกษาที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นฮัวเหลียน โรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่เขาศึกษาเกี่ยวกับวรรณกรรมต่าง ๆ และยังเป็น “โรงเรียนที่มีความสวยงามมากที่สุด” ในใจของเขา การเยี่ยมชมหอพักนักเรียนของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นฮัวเหลียนและบ้านพักเก่าของกัวจื่อจิ้ว นักดนตรีชื่อดังซึ่งตั้งอยู่ในตรอกซอกซอยที่เงียบสงบ ที่เป็นอาคารสไตล์ญี่ปุ่นโบราณ ก็เหมือนกับได้ดื่มด่ำไปกับความงดงามแห่งศิลปวัฒนธรรมเมื่อวันวาน ที่แม้จะผ่านวันเวลามาอย่างยาวนาน แต่ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ในทุกวันนี้
 

ห้องสมุดหยางมู่ตั้งอยู่ในหอสมุดมหาวิทยาลัยตงหัว และเปิดให้คนภายนอกเข้าชมได้

ห้องสมุดหยางมู่ตั้งอยู่ในหอสมุดมหาวิทยาลัยตงหัว และเปิดให้คนภายนอกเข้าชมได้
 

เส้นทางวรรณกรรมจุดที่สี่ : แม่น้ำซาผัวตั้ง

----------

กิ้งก่ากำลังหายใจภายใต้แสงดาว
น้ำในแม่น้ำค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้น
ก่อนจะไหลท่วมนิ้วเท้าทั้งด้านหน้าและด้านหลังจนเย็นเฉียบ
ท่ามกลางความอบอุ่นของดาวหมาป่าซิริอุส
หางของมันดูเปียกโชก เหลือเพียงแต่
ปลายลิ้นที่แหลมยาว ดังเช่นเปลวไฟ
เคลื่อนไหวไปมาเบา ๆ คล้ายดั่งตั้งใจ
ส่องสว่างไสวอยู่ในความฝันของเรา

หยางมู่ (ซาผัวตั้ง) (2003)

----------

หยางมู่เคยเล่าว่า ตอนเป็นเด็กเขามักขี่จักรยานไปที่ซาผัวตั้ง และเล่นน้ำอยู่แถว ๆ ริมแม่น้ำ ที่นี่ถือเป็นสถานที่คลายร้อนที่ดีที่สุดในช่วงฤดูร้อน เมื่อเดินเข้าไปยังซาผัวตั้งอันเป็นสถานที่ลึกลับของคนฮัวเหลียน เราจะเห็นเมืองฮัวเหลียนถูกโอบล้อมด้วยเทือกเขาจงหยางอันเขียวขจี

ซวีเหวินเว่ยเชื่อว่า หยางมู่ใช้กวีบทดังกล่าวในการบรรยายถึงความเจ็บปวดอันซับซ้อนในประวัติศาสตร์ของการสังหารหมู่ ชนเผ่าซากิซายา (Sakizaya) และประเพณีของชนเผ่าอามิส ก่อนจะจบด้วยการเปลี่ยนแปลงตามหลักปรัชญาอี้จิงของ ชาวจีน หยางมู่ใช้บทกวีในการพรรณนาถึงภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่ไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้

 

เส้นทางแห่งวรรณกรรมจุดที่ห้า :แลภูเขาฉีไหล เยี่ยมชมสะพานข้ามแม่น้ำมู่กัว

ในฮัวเหลียนจะมีจุดที่เราสามารถมองเห็นภูเขามู่กัวได้อย่างชัดเจนอยู่หลายแห่ง แต่หากต้องการชื่นชมทัศนียภาพของภูเขาฉีไหลแล้วล่ะก็ การเดินทางไปตามถนนทางหลวงหมายเลข 9 เพื่อมุ่งหน้าลงใต้จนถึงสะพานข้ามแม่น้ำมู่กัว เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และหากสภาพอากาศที่นั่นเอื้ออำนวยและปลอดโปร่ง จากหุบเขามู่กัวนี้ ก็จะสามารถมองเห็นยอดเขาทางทิศเหนือของภูเขาฉีไหลได้ด้วยเช่นกัน

ซวีเหวินเว่ย หยิบยก “ประพจน์ในห้วงเวลา” มาเปรียบเปรยโดยชี้ว่า หยางมู่เดินทางกลับไต้หวันด้วยความรู้สึกผิดหวังหลังพบกับข้อจำกัดบางอย่างในการทำงานที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ของที่นี่ขึ้นมา ในบทกวีของหยางมู่ เรื่อง “มองขึ้นไป” บรรยายด้วยบทกวีความว่า “แม้ว่าฉันจะไม่สามารถเดินหน้าได้อีกต่อไป แล้วเหตุใดเธอจึงไม่มาหาฉันเล่า” บทกวีนี้แสดงถึงการยืนหยัดของปัญญาชนที่มีต่อคุณค่าทางมนุษยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ แม้จะถูกกดดันและวิพากษ์วิจารณ์จากทุกฝ่าย กระนั้นก็ตาม ดังที่บทกวีพรรณนาความนัยให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และมั่นคงของภูเขาฉีไหลและภูเขามู่กัว ที่ช่วยให้จิตใจของกวีผู้นี้สงบลง

----------

ภูเขาสูงล้ำค้ำฟ้าตั้งตระหง่านไม่หวั่นไหว เฉกเช่นดัง
ความนิ่งสงบที่ดูทรงพลังกำลังทักทายหยอกล้อฉัน
หัวใจอันปั่นป่วน ราวกับเสียงเกลียวคลื่นที่ฉันได้ยิน
เสียงสะท้อนก็เกิดขึ้น เมื่อฉันดำดิ่งลึกลงไปในความทรงจำ
ท่ามกลางความนิ่งสงบที่ไร้ขอบเขตและความรู้สึกเสียใจในระดับที่เท่าเทียมกัน
หากมองขึ้นไป
จะพบกับความเป็นนิจนิรันดร์

หยางมู่ (มอง) (2003)

----------
 

ห้องสมุดหยางมู่จัดแสดงเครื่องมือและผลงานต่าง ๆ ที่หยางมู่เคยใช้ เช่น ต้นฉบับงานเขียน เครื่องพิมพ์ดีดเก่า ผลงานต่าง ๆ รวมถึงหนังสือที่หยางมู่สะสม

ห้องสมุดหยางมู่จัดแสดงเครื่องมือและผลงานต่าง ๆ ที่หยางมู่เคยใช้ เช่น ต้นฉบับงานเขียน เครื่องพิมพ์ดีดเก่า ผลงานต่าง ๆ รวมถึงหนังสือที่หยางมู่สะสม
 

ปลายทางของเส้นทางแห่งวรรณกรรม :ห้องสมุดหยางมู่ มหาวิทยาลัยตงหัว

หลังจากใช้เวลากว่า 30 ปีในการสอนหนังสือที่สหรัฐอเมริกา หยางมู่เดินทางกลับมาไต้หวันเมื่อปี ค.ศ. 1995 และร่วมก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (College of Humanities and Social Sciences: CHASS) มหาวิทยาลัยตงหัว หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (MFA degree) ที่เขาตั้งขึ้น นับเป็นหลักสูตรแรกของไต้หวันที่มีการเชิญนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาร่วมสอน อาทิ หย่าเสียน (瘂弦) และหวงชุนหมิง (黃春明) ทำให้เกิดวัฒนธรรมการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย

หยางมู่มักจะใช้ทางเดินบนชั้นสองที่เชื่อมต่ออาคารของวิทยาลัย CHASS เพื่อไปยังห้องทำงานของคณบดีที่ตกแต่งแบบเรียบง่ายและสะอาดสะอ้านไร้ฝุ่นจับ คุณสวี่เหวินฟางยิ้มพร้อมกับพูดว่า ทางเดินนี้ไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่านมากนัก อาจารย์และนักศึกษาจึงเรียกที่นี่ว่า “ทิวทัศน์แห่งตงหัว” ผู้อ่านสามารถชื่นชมงานเขียนของหยางมู่ที่เขียนเกี่ยวกับ “กระต่ายป่า” ได้จากบทกวีที่ชื่อว่า “กระต่ายป่าที่ถูกพบในมหาวิทยาลัยตงหัว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม”

ห้องสมุดหยางมู่ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณหอสมุดมหาวิทยาลัยตงหัว เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชมได้ ภายในจัดแสดงผลงานและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่หยางมู่เคยใช้ เช่น ต้นฉบับงานเขียน ผลงานต่าง ๆ หนังสือที่เก็บสะสมและเครื่องพิมพ์ดีดเก่า รวมถึงหนังสือรวมบทกวีเล่มแรกของหยางมู่ “ริมน้ำ” ที่ไม่มีการตีพิมพ์แล้ว

หยางมู่ใช้ชีวิตบั้นปลายของเขาในไต้หวัน ทุ่มเทให้กับงานเขียนและสร้างผลงานต่าง ๆ มากมายอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตั้งแต่อายุ 16 ปี จนถึง 76 ปี จนกลายเป็น “ปรากฏการณ์หยางมู่” นักเขียนจำนวนมากต่างมองว่า หยางมู่เปรียบเสมือนบรรทัดฐานที่ยากจะก้าวข้ามผ่านไปได้ เฉกเช่นเดียวกับ ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot) นักเขียนคนดังในตำนานแวดวงวรรณกรรมภาษาอังกฤษ นักวิจัยทั้งหลายยังค้นพบว่าในบทกวีของหยางมู่ มีเรื่องราวให้วิเคราะห์และตีความได้อย่างไม่รู้จบ การท่องไปตามเส้นทางแห่งวรรณกรรมของหยางมู่ในฮัวเหลียน จึงเสมือนชักนำให้เราได้มาอ่านผลงานของหยางมู่กันอีกครั้ง

 

★★★★★

หยางมู่ (1940-2020)

กวีชาวไต้หวัน เกิดที่เมืองฮัวเหลียน ชื่อเดิม หวังจิ้งเซี่ยน เขาใช้นามปากกาว่า “เยี่ยซาน-葉珊” ในการสร้างผลงานเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา และหันมาใช้นามแฝงว่า “หยางมู่” เมื่อปี ค.ศ. 1972 เขียนบทกวีและร้อยแก้วมากกว่า 50 เล่ม ผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาดัตช์ และภาษาสวีดิช เป็นต้น หยางมู่เปรียบเป็นจุดอ้างอิงที่สำคัญสำหรับผู้อ่านชาวต่างชาติที่มีความสนใจในวรรณกรรมไต้หวัน เขาเป็นทั้งกวี นักเขียนเรียงความหรือร้อยแก้ว นักแปล นักวิจารณ์ และยังเป็นบรรณาธิการด้วย ตลอดชีวิตของเขา ได้รับรางวัลทางด้านวรรณกรรมมากมาย ครั้งหนึ่ง Nils Göran David Malmqvist (1924–2019) หนึ่งในสมาชิกของ Swedish Academy และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เคยกล่าวยกย่องหยางมู่ว่าเป็นกวีที่น่าจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมจีนมากที่สุด

★★★★★

 

เพิ่มเติม

นำท่านเดินทางกลับสู่ฮัวเหลียน ตามรอยเส้นทางแห่งวรรณกรรมของหยางมู่