ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันย้ำกับกลุ่มเยาวชนชาวลัตเวียว่า ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศกำลังประสบกับความท้าทายจากลัทธิอำนาจนิยม พร้อมหวังว่าไต้หวัน และลัตเวียจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึก
2023-11-09
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันย้ำกับกลุ่มเยาวชนชาวลัตเวียว่า ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศกำลังประสบกับความท้าทายจากลัทธิอำนาจนิยม พร้อมหวังว่าไต้หวัน และลัตเวียจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึก (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันย้ำกับกลุ่มเยาวชนชาวลัตเวียว่า ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศกำลังประสบกับความท้าทายจากลัทธิอำนาจนิยม พร้อมหวังว่าไต้หวัน และลัตเวียจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึก (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 พ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “สถาบันวิจัยกิจการระหว่างประเทศของลัตเวีย” (Latvian Institute of International Affairs, LIIA) ในการแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยริกาสตราดินส์ (Riga Stradins University, RSU) ภายใต้หัวข้อ “ลัตเวียและไต้หวัน : ย่างก้าวบนเส้นทางแห่งประชาธิปไตย” (Latvia and Taiwan: On the Road of Democracy) โดยรมว.อู๋ฯ เรียกร้องให้ไต้หวัน – ลัตเวีย เร่งสร้างความร่วมมือระหว่างกันเชิงลึก ท่ามกลางสถานการณ์ที่ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ต้องพบกับความท้าทายจากลัทธิอำนาจนิยม
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า แม้ว่าลัตเวีย – ไต้หวันจะตั้งอยู่ห่างไกลกันในแง่ของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แต่การเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยกลับมีความคล้ายคลึงกัน ทั้งสองฝ่ายต่างยึดมั่นในค่านิยมสากลด้านเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านความมั่นคงอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน
 
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ เป็นหัวใจหลักของความขัดแย้งระหว่างประเทศในปัจจุบัน เนื่องจากกลุ่มประเทศระบบเผด็จการสร้างความท้าทายต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนกฎกติกาสากลอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยมิสามารถที่จะเพิกเฉยได้ต่อไป
 
รมว.อู๋ฯ เห็นว่า ระยะเวลาหลายปีมานี้ จีนได้คุกคามไต้หวันด้วยกำลังทหารอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการลิดรอนพื้นที่ในเวทีนานาชาติและสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ แม้ไต้หวันจะเชื่อว่า การเจรจาเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะสามารถพิชิตเป้าหมายแห่งสันติภาพได้ แต่จำเป็นต้องพบกับความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม ในกรณีตัวอย่างของไต้หวัน - ลัตเวีย จะเห็นว่า รัฐบาลลัตเวียมีประกาศดำเนินนโยบายในการเกณฑ์ทหารอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ส่วนไต้หวันก็จะฟื้นฟูระบบการเกณฑ์ทหารที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมและรับใช้ชาติเป็นเวลา 1 ปี ควบคู่ไปกับการอัดฉีดงบประมาณทางกลาโหมเพิ่มเติม เพื่อสกัดกั้นการคุกคามจากลัทธิอำนาจนิยม เนื่องจากในมุมมองของสังคมประชาธิปไตย ผลกระทบที่เกิดจากการสูญเสียเสรีภาพ เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะสามารถยอมรับได้
 
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังแสดงความขอบคุณต่อลัตเวีย สำหรับพลังเสียงสนับสนุนที่เรียกร้องให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งนอกจากสมาชิกรัฐสภาจะส่งมอบความห่วงใย ผ่านการยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus เลขาธิการใหญ่องค์การอนามัยโลก ในระยะที่ผ่านมา Ms. Līga Meņģelsone รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลัตเวีย ที่เพิ่งหมดวาระตำแหน่ง ก็ได้แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวันโดยอ้อมในระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค. ปีนี้ โดยย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหนึ่งเดียวของทั่วโลก
 
รมว.อู๋ฯ ก็ยังชี้ว่า เรายินดีที่จะร่วมแสวงหาโอกาสทางความร่วมมือกับลัตเวีย และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ควบคู่ไปกับการจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน โดยในปัจจุบัน EU เป็นแหล่งที่มาของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ( FDI ) ที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ส่วนผู้ประกอบการไต้หวันก็มุ่งขยายขอบเขตการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมไปสู่ยุโรปอย่างกระตือรือร้น ทั้งในด้านเทคโนโลยีเลเซอร์ พลังงานหมุนเวียน และเซมิคอนดักเตอร์ โดยรมว.อู๋ฯ หวังที่จะเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ ผ่านการประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เพื่อบรรเทาผลกระทบทางการคุกคามทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยม
 
ในช่วงท้าย รมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า นับตั้งแต่สงครามรัสเซีย - ยูเครน ปะทุขึ้นเป็นต้นมา ลัตเวียยืนหยัดให้การสนับสนุนยูเครนอย่างหนักแน่น ส่วนไต้หวันก็ได้ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับองค์การนอกภาครัฐของลัตเวียในการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน โดยหวังที่จะเห็นประชาชนชาวยูเครนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ในเร็ววัน รมว.อู๋ฯ ยังย้ำว่า เสรีภาพที่ทั้งสองฝ่ายร่วมยึดมั่นกันมาตราบจนปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ได้มาอย่างยากลำบาก จึงจำเป็นต้องรักษาไว้ให้มั่น โดยกลุ่มประเทศประชาธิปไตยจะมุ่งมั่นต่อสู้อย่างสามัคคี เพื่อคว้าชัยชนะมาครองในท้ายที่สุด
 
อาจารย์ - นักศึกษาในที่ประชุม ต่างรู้สึกสนใจต่อสาระสำคัญในการแสดงปาฐกถาครั้งนี้ของรมว.อู๋ฯ พร้อมทั้งยกมือซักถามข้อสงสัยกันอย่างคึกคัก ซึ่งรมว.อู๋ฯ ก็ได้ชี้แจงอย่างละเอียด รวมไปถึงประเด็นการบริจาคเงินและสิ่งของจำเป็นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครน พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับเช็ก โปแลนด์ สโลวักและลิทัวเนีย ในการจัดที่พักอาศัยชั่วคราวให้กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวยูเครน และบูรณะฟื้นฟูสถาบันการศึกษาในพื้นที่ นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ไต้หวันก็ยินดีที่จะส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ด้วยความเต็มใจให้แก่ประชาชนชาวอิสราเอลและชาวปากีสถานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามความขัดแย้งอิสราเอล - ฮามาสในพื้นที่ตะวันออกกลางเช่นกัน