ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
อัฐิของเหล่าบรรพชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกโจมตีไต้หวันในปีค.ศ. 1874 ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในสถาบันโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน
2023-11-08
New Southbound Policy。อัฐิของเหล่าบรรพชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกโจมตีไต้หวันในปีค.ศ. 1874 ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในสถาบันโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (ภาพจากคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง)
อัฐิของเหล่าบรรพชนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกโจมตีไต้หวันในปีค.ศ. 1874 ถูกนำไปเก็บรักษาไว้ในสถาบันโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (ภาพจากคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง)

คณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง วันที่ 6 พ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. Mr. Icyang Parod ประธานคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมือง (Council of Indigeous Peoples, CIP) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเคลื่อนย้ายและเก็บรักษาอัฐิของเหล่าบรรพชนที่พลีชีพในเหตุการณ์ Taiwan Expedition of 1874” ที่สถาบันโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน
 
การกล่าวปราศรัยของ Mr. Icyang ในครั้งนี้ มีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้ :
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.  Mr. Calivat Gadu รองประธานคณะกรรมการกิจการชนพื้นเมืองไต้หวัน และชาวผายวัน (Paiwan) ในชุมชนหมู่ตัน (Mudan) ซึ่งเป็นหมู่บ้านของชนพื้นเมืองในไต้หวัน ได้เดินทางเยือนอังกฤษ เพื่อเข้าร่วมพิธีเคลื่อนย้ายอัฐิของเหล่าบรรพชนที่พลีชีพในเหตุการณ์ Taiwan Expedition of 1874 กลับสู่ไต้หวัน โดยมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (The University of Edinburgh) ของอังกฤษ ได้ส่งคืนอัฐิของวีรบุรุษที่เป็นชนพื้นเมืองที่เข้าร่วมสนามรบในเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกโจมตีไต้หวันในปีค.ศ. 1874 (Taiwan Expedition of 1874) ซึ่งคณะตัวแทนได้เดินทางกลับถึงท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวนแล้ว เมื่อช่วงเย็น 18:00 น.ของวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยในช่วงรุ่งสางของวันที่ 6 พ.ย.ได้มีการเก็บอัฐิเหล่านี้ไว้ในสถาบันโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน นับเป็นครั้งแรกที่กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองของไต้หวัน เรียกร้องให้ต่างชาติส่งคืนอัฐิของเหล่าบรรพชน จึงเปี่ยมด้วยนัยยะทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นหลักชัยใหม่ที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชนพื้นเมืองไต้หวัน
 
เหตุการณ์ Taiwan Expedition of 1874  มีชนพื้นเมืองในชุมชนหมู่ตันที่เข้าร่วมสนามรบเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนั้น กองทัพญี่ปุ่นได้นำอัฐิของชนพื้นเมืองจำนวนรวม 12 ชิ้น กลับไปญี่ปุ่นด้วย โดยในเดือนพ.ย. ปี 2019 ศาสตราจารย์เฉินเหย้าชาง ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยในหัวข้อ “อัฐิของเหล่าวีรบุรุษชนพื้นเมืองในชุมชนหมู่ตัน 4 ราย ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในมหาวิทยาลัยเอดินบะระ” ซึ่งในเดือนธ.ค. ของปีถัดมา  CIP ก็ได้มอบหมายให้นายหูชวนอัน อาจารย์มหาวิทยาลัยจงยาง (National Central University, NCU) ดำเนินการเข้าสำรวจและวิจัย ซึ่งได้รับยืนยันว่า มหาวิทยาลัยเอดินบะระได้มีการเก็บรักษาอัฐิของเหล่าวีรบุรุษชนพื้นเมืองในตำบลหมู่ตัน 4 ราย เอาไว้จริง
 
CIP ยึดมั่นในจิตวิญญาณของกฎระเบียบข้อที่ 11,12 และ 31 ของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UN Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) ที่ระบุไว้ว่า กลุ่มชนพื้นเมืองมีสิทธิเรียกร้องให้ส่งคืนอัฐิของบรรพบุรุษ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็ควรที่จะยื่นมือเข้าตรวจสอบว่ามีการส่งคืนอย่างราบรื่น ตามกลไกที่มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ ในเดือนพ.ย. ปี 2021 ผมจึงได้ส่งจดหมายถึงมหาวิทยาลัยเอดินบะระเพื่อเรียกร้องให้มีการส่งคืนอัฐิอย่างเป็นทางการ โดยในปีถัดมา ซึ่งก็คือเดือนก.ค. ปี 2022 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ก็มีจดหมายตอบรับข้อเรียกร้องการส่งคืนอัฐิดังกล่าว
 
นับเป็นครั้งแรกที่ CIP ดำเนินภารกิจการประสานงานระหว่างประเทศเพื่อขอให้มีการส่งคืนอัฐิแก่ไต้หวัน ประกอบกับจิตวิญญาณหลักของการขอให้ส่งคืนอัฐิในครั้งนี้ เป็นการตอบสนองต่อขนบประเพณีและเจตจำนงของกลุ่มชนในชุมชนหมู่ตัน ซึ่งทั้งหน่วยงานภาครัฐ พิพิธภัณฑ์และแวดวงวิชาการ ต่างสวมบทบาทในการให้สนับสนุนและส่งมอบความช่วยเหลืออย่างกระตือรือร้น ซึ่งทุกฝ่ายควรร่วมจัดตั้งกลไกการเจรจาและพูดคุยสนทนา จึงจะสามารถมีการวางแผนจัดการที่เหมาะสม หลังจากระยะเวลา 3 ปีที่ทั้งสองฝ่ายร่วมเจรจาหารือกันอย่างใกล้ชิด ในที่สุดก็ได้มีการบรรลุฉันทามติร่วมกัน
 
การที่พวกเรารับคืนอัฐิของชาวผายวันในชุมชนหมู่ตันกลับสู่ไต้หวันได้อย่างราบรื่น ก่อนจะถึงวาระครบรอบ 150 ปีของเหตุการณ์ Taiwan Expedition of 1874 ในปีหน้า แสดงให้เห็นแล้วว่า หน่วยงานวิชาการและพิพิธภัณฑ์ฯ ได้เสริมสร้างความร่วมมือกัน ผ่านการพิจารณาทบทวนความไม่ยุติธรรมในห้วงประวัติศาสตร์ ภายใต้จิตวิญญาณของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง โดยหวังที่จะกระตุ้นให้มวลมนุษยชาติมุ่งให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มชนพื้นเมือง ผ่านการขอรับคืนอัฐิในครั้งนี้