กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 2 – 3 ธ.ค. 66
การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (UNFCCC COP 28) มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ นครดูไบ ในวันที่ 30 พ.ย. 2566 โดย H.E. Santiago Peña Palacios ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปารากวัยได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในการประชุมเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูง (High Level Segment) เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเน้นย้ำว่า โลกถือเป็นทรัพยากรร่วมกันของทั่วโลก ปธน. Peña จึงขอเรียกร้องให้มีการเปิดรับนานาประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเท่าเทียม พร้อมเสนอให้เชิญสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมในการประชุมด้วย
โดยในการประชุมวันเดียวกันนั้น H.E. Surangel Whipps, Jr. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปาเลา ก็ได้ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมกลไกการบริหารสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม กระทรวงการต่างประเทศขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง
H.E. Whipps เห็นว่า : “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมิใช่ประเด็นที่เลือกปฏิบัติต่อประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น พวกเราจึงไม่ควรเลือกปฏิบัติต่อผู้ใดในการเข้ามีส่วนร่วม” สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้ความช่วยเหลือพวกเราในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรวมถึงการบรรเทาและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้กลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เร่งประสานความร่วมมือกันอย่างสามัคคี นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้ส่งมอบความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรง เพื่อช่วยเหลือการจัดตั้งเขื่อนริมทะเลในชุมชนพื้นที่ปาเลา พื้นที่หลบภัยและโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคที่สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่ที่ราบสูง อีกทั้งไต้หวันยังได้บ่มเพาะวัฒนธรรมการตระหนักรู้เชิงสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งเสริมให้เหล่าเกษตรกรหันมาใช้พลังงานสีเขียว และสินค้ารักษ์โลกที่ใช้บรรจุภัณฑ์สีเขียว แนวทางและมาตรการเหล่านี้ต่างต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน ซึ่งรวมถึงประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคน และผู้ประกอบการนับพันราย ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงควรยอมรับให้ไต้หวันเข้าร่วมกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเปิดโอกาสให้ไต้หวันแบ่งปันความรู้ความชำนาญในด้านนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลกสืบต่อไป
สำหรับการประชุมเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูง (High Level Segment) เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ผ่านมา Mr. Philip Joseph Pierre นายกรัฐมนตรีเซนต์ลูเซีย Mr. Terrance Drew นายกรัฐมนตรีเซนต์คิดส์และเนวิส Mr. Kausea Natano นายกรัฐมนตรีตูวาลู และ Mr. Russell Mmiso Dlamini นายกรัฐมนตรีเอสวาตินี ต่างทยอยร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน กต.ไต้หวันขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง สำหรับการสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในกลไกการบริหารการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ผ่านการร่วมเป็นกระบอกเสียงอย่างเป็นรูปธรรมของเหล่าคณะตัวแทนข้างต้นที่ได้ระบุมาข้างต้น
นรม. Pierre กล่าวอีกว่า : ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่เหล่าผู้นำทั่วโลกต้องจับมือกันร่วมสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่มั่นคงในยุคสมัยใหม่ ในช่วงเวลาอันสำคัญเช่นนี้ จึงไม่สามารถละเลยไต้หวันได้
นรม. Drew กล่าวว่า : ข้าพเจ้าขอเสนอว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ในระหว่างการเผชิญหน้ากับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เซนต์คิดส์และเนวิสเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะที่ไต้หวันถูกล้อมรอบด้วยทะเล จึงควรมีบทบาทที่มีนัยยะสำคัญในกลไกการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคงอยู่ ภายใต้กรอบของสหประชาชาติ
นรม. Natano ย้ำว่า : ต่อกรณีความท้าทายที่พวกเราเผชิญหน้าร่วมกัน การส่งเสริมให้ทุกประเทศเข้าร่วมเพื่อการรับมือ ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น จึงขอเรียกร้องให้ประเทศสมาชิก UN ให้การยอมรับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในการร่วมอุทิศคุณประโยชน์ด้านการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข เป็นต้น
นรม. Russell เรียกร้องว่า : ทุกประเทศควรเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคำมั่นและแผนปฏิบัติการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ พวกเราเป็นสังคมที่มีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น หากไต้หวันซึ่งมิใช่ส่วนหนึ่งของรัฐภาคี ยังยินดีที่จะให้คำมั่นสัญญาแก่ทั่วโลกและภาคประชาชน ประเทศอื่นๆ ก็ควรสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกมากขึ้นกว่าเดิม
กต.ไต้หวันขอแสดงความรู้สึกขอบคุณด้วยใจจริงต่อการที่มิตรสหายจากนานาประเทศ ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในกลไกการบริหารการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก โดยไต้หวันขอแสดงจุดยืนว่า ไต้หวันยินดีที่จะทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มกำลังในฐานะส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมสร้างคุณประโยชน์ในเชิงบวก และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศต่อไป