ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.กต.ไต้หวันแสดงปาฐกถาในการประชุม “Taiwan Forum” ที่สโลวัก ย้ำไต้หวันมุ่งรับมือกับภัยคุกคามจากจีน พร้อมเรียกร้องประชาคมโลกร่วมสกัดกั้นการแผ่ขยายของอำนาจเผด็จการ
2023-12-05
New Southbound Policy。รมช.กต.ไต้หวันแสดงปาฐกถาในการประชุม “Taiwan Forum” ที่สโลวัก ย้ำไต้หวันมุ่งรับมือกับภัยคุกคามจากจีน พร้อมเรียกร้องประชาคมโลกร่วมสกัดกั้นการแผ่ขยายของอำนาจเผด็จการ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมช.กต.ไต้หวันแสดงปาฐกถาในการประชุม “Taiwan Forum” ที่สโลวัก ย้ำไต้หวันมุ่งรับมือกับภัยคุกคามจากจีน พร้อมเรียกร้องประชาคมโลกร่วมสกัดกั้นการแผ่ขยายของอำนาจเผด็จการ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ  วันที่ 1 ธ.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายหลี่ฉุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ “การประชุมความมั่นคงโลก” (GLOBSEC) คลังสมองที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เข้าร่วมการประชุม
”Taiwan Forum” ที่จัดขึ้นในสโลวัก พร้อมนี้ รมช.หลี่ฯ ยังได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ความมั่นคงระดับโลกที่อยู่ระหว่างการพัฒนา : ประชาธิปไตย เผด็จการและความสัมพันธ์ทางกลยุทธ์” (The Evolving Global Security Landscape: Democracies, Autocracies, and Strategic Relationships) โดยได้ชี้แจงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน สถานการณ์ในภูมิภาค ข้อคิดที่ได้รับจากเหตุสงครามรัสเซีย - ยูเครน และแนวทางการสกัดกั้นที่ดีที่สุดด้วยมาตรการขจัดความเสี่ยง ซึ่งบรรยากาศในที่ประชุมเป็นไปอย่างคึกคัก
 
รมช.หลี่ฯ กล่าวว่า เมื่อเผชิญหน้ากับสงครามจิตวิทยาและการข่มขู่ด้วยกำลังทหารที่จีนยกระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไต้หวันได้ใช้มาตรการการขจัดความเสี่ยงเพื่อเสริมสร้างแรงสกัดกั้น โดยรมช.หลี่ฯ ยังได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันร่วมสกัดกั้นมิให้รัฐบาลปักกิ่งเข้าแทรกแซงเพื่อกำหนดสาระของ “นโยบายจีนเดียว” ของแต่ละประเทศ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับไต้หวันให้มากขึ้น เพื่อจัดตั้งเครือข่ายความทรหดของประชาธิปไตยระดับโลกที่มีความแข็งแกร่ง
 
รมช.หลี่ฯ ชี้แจงว่า การขจัดความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไต้หวันมุ่งเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาในหลากหลายมิติ รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความยืดหยุ่น โดยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ครองบทบาทสำคัญระดับโลก ในปัจจุบันได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่เชื่อถือได้ในระดับสากลแล้ว
 
รมช.หลี่ฯ เน้นย้ำว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ใกล้จะเปิดฉากขึ้นในเร็ววันนี้ ซึ่งในระยะนี้ เราจะสามารถสังเกตเห็นพฤติกรรมการแทรกแซงจากจีนในรูปแบบต่างๆ และความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวัน เพื่อให้สอดคล้องกับ “หลักการจีนเดียว” ของรัฐบาลปักกิ่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น สองฝั่งช่องแคบไต้หวันมิเคยขึ้นตรงต่อกัน อนาคตของไต้หวันควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้น
 
รมช.หลี่ฯ ระบุอีกว่า ไต้หวันได้รับข้อคิดที่ลึกซึ้งจากสงครามรัสเซีย – ยูเครน ความมุ่งมั่นตั้งใจของประชาชนชาวยูเครนที่ต้องการจะปกป้องประเทศชาติ สร้างความซาบซึ้งใจให้แก่ประชาคมโลก การที่ยูเครนเลือกใช้ยุทธวิธีสงครามไร้สมมาตร เป็นเรื่องที่ไต้หวันควรเรียนรู้ ประกอบกับพลังสนับสนุนจากประชาคมโลก ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นกัน
 
โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ต่างทยอยแสดงทรรศนะไว้ดังนี้ :
Mr. John Allen อดีตนายทหารยศพลเอกของสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯ จะมุ่งให้ความช่วยเหลือไต้หวันในการเสริมสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของการสนับสนุนไต้หวันของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ถือเป็นแนวทางการสกัดกั้นจีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
 
Mr. Bryce Wakefield ผู้อำนวยการสมาคมกิจการระหว่างประเทศออสเตรเลีย ตอบรับว่า รัฐบาลออสเตรเลียพร้อมให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ค่านิยมที่ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ยังระบุถึงการให้ความสำคัญต่อความมั่นคงและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และยึดมั่นในจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมโดยลำพังเพียงฝ่ายเดียว
 
Ms. Mariia Mezentseva สมาชิกรัฐสภายูเครน กล่าวแสดงความขอบคุณต่อไต้หวันที่ให้การสนับสนุนยูเครนอย่างหนักแน่น พร้อมเน้นย้ำว่า กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรประสานสามัคคีในการต่อกรกับอำนาจเผด็จการจากรัสเซีย - จีน เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทุขึ้นของไฟสังครามและการซ้ำรอยประวัติศาสตร์
 
Mr. Tomáš Valášek รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของสโลวัก ระบุว่า การประสานความร่วมมือในการปราบปรามอำนาจเผด็จการ ระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตย นับว่ามีความสำคัญยิ่ง เหตุการณ์ที่รัสเซียเข้าครอบครองดินแดนไครเมียในปี 2014 ได้กลายมาเป็นบทเรียนที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ประชาคมโลกจึงควรนำกลไกการสกัดกั้นขององค์การนาโต้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ควบคู่ไปกับการสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิอำนาจนิยม
 
Mr. Ivan Štefanec สมาชิกรัฐสภาสโลวัก กล่าวว่า หลายปีมานี้ สถานการณ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และพร้อมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมาย การประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ถือเป็นแนวทางการสกัดกั้นประเทศเผด็จการที่มีประสิทธิภาพแกร่งกล้ามากที่สุด