ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจสำหรับพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกที่มีต่อแผนผลักดันการเข้าร่วม “องค์การตำรวจสากล” (INTERPOL) ของไต้หวัน
2023-12-05
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจสำหรับพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกที่มีต่อแผนผลักดันการเข้าร่วม “องค์การตำรวจสากล” (INTERPOL) ของไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจสำหรับพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกที่มีต่อแผนผลักดันการเข้าร่วม “องค์การตำรวจสากล” (INTERPOL) ของไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 ธ.ค. 66
 
การประชุมสมัชชาใหญ่องค์การตำรวจสากล (INTERPOL) ครั้งที่ 91 ซึ่งเปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 28 พ.ย. - 1 ธ.ค. 2023 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย แม้ว่าในปีนี้ไต้หวันจะยังไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วม แต่เสียงสนับสนุนไต้หวันในประชาคมโลก นับวันจะเพิ่มทวีคูณมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีหน่วยงานด้านบริหาร หน่วยงานด้านนิติบัญญัติ องค์กรในรัฐสภาแบบข้ามพรมแดน และบุคคลสำคัญในวงการต่างๆ จาก 60 ประเทศร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน แสดงให้เห็นว่า มีหลายประเทศที่เล็งเห็นความจำเป็นในการรับไต้หวันเข้าสู่กลไกการปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดนระดับโลกมากยิ่งขึ้น กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริงต่อพลังสนับสนุนที่ประชาคมโลกส่งมอบให้ไต้หวันอย่างหนักแน่นเสมอมา
 
ในปีนี้ กลุ่มประเทศพันธมิตรได้ให้การสนับสนุนไต้หวันผ่านการยื่นจดหมาย การร่วมเป็นกระบอกเสียง การแถลงข่าว และการบันทึกวิดีทัศน์ เป็นต้น โดย 7 ประเทศพันธมิตรไต้หวัน ที่ประกอบด้วย เอสวาตินี ปาเลา เซนต์คิดส์และเนวิส ปารากวัย เบลีซ เซนต์วินเซนต์และหมู่เกาะมาร์แชลล์ ต่างทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในระหว่างการประชุม ซึ่งได้รับการจับตามองจากตัวแทนของนานาประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยให้แผนผลักดันการเข้าร่วม INTERPOL ของไต้หวัน เป็นที่รับรู้ในเวทีโลกมากขึ้น
 
กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ยังมุ่งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่าง INTERPOL อย่างกระตือรือร้น อันจะเห็นได้จากแถลงการณ์การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 และรายงานการประชุมตัวแทนเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงระดับสูงในสหภาพยุโรป รวมไปถึงแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้น “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมระหว่างฝรั่งเศส – ออสเตรเลีย” หรือ “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมระหว่างอังกฤษ – ออสเตรเลีย” “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมระหว่างสหรัฐฯ – ออสเตรเลีย” และ “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหม ระหว่างอังกฤษ – ญี่ปุ่น” ประกอบกับแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรีต่างประเทศ ระหว่างสหรัฐฯ - ลิทัวเนีย ตลอดจนรวมไปถึง “แผนแม่บทว่าด้วยความร่วมมือทางความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนรูปแบบพิเศษ ระหว่างญี่ปุ่น - ฝรั่งเศส ระหว่างปี 2023- 2027” ที่ญี่ปุ่น – ฝรั่งเศส เพิ่งร่วมประกาศเมื่อช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ในระหว่างการตอบข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภา Ms. Hanke Bruins Slot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ยังได้ระบุถึงการสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างเปิดเผย
 
พลังสนับสนุนจากหน่วยงานด้านนิติบัญญัติและองค์กรในรัฐสภาแบบข้ามพรมแดน นับวันก็ยิ่งทวีความหนักแน่นเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน อันจะเห็นได้จากการยื่นเสนอ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับไต้หวัน” ของเหล่าสมาชิกวุฒิสภาแบบข้ามพรรคของสหรัฐฯ และแถลงการณ์ที่เป็นมิตรที่ประกาศโดยกลุ่มผู้นำรัฐสภาสหรัฐฯ นอกจากนี้ ที่ประชุมวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของทั้ง 32 มลรัฐในสหรัฐฯ ต่างก็ทยอยลงมติผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน อีกทั้งวุฒิสภาของสาธารณรัฐเช็ก กลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาโปแลนด์ คณะกรรมาธิการว่าด้วยความปลอดภัยของสาธารณชนแห่งสภาผู้แทนราษฎรบราซิล สมาคมความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวัน – กัวเตมาลา และรัฐสภาเซนต์คิดส์และเนวิส ต่างก็ทยอยผ่านญัตติที่ให้การสนับสนุน ไต้หวัน ประกอบกับในรายงานการประชุมกรุงปรากที่กลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ที่ได้มีการผ่านญัตติไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ได้แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศและกลไกระหว่างประเทศ ซึ่งครอบคลุมไปถึง INTERPOL ด้วย นอกจากนี้ สมาชิกรัฐสภาของบราซิล ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย เอสโทเนีย  สเปน เม็กซิโก ชิลี เกาหลีใต้  ฟิลิปปินส์ โคลัมเบียและแอฟริกาใต้ เป็นต้น ต่างก็ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันผ่านการลงนามแบบเดี่ยวและแบบหมู่คณะด้วยเช่นกัน
 
ในด้านสื่อประชาสัมพันธ์ บทความภายใต้หัวข้อ “ร่วมมือฉับไว เข้าปราบปรามการกระทำความผิดรูปแบบใหม่แบบข้ามพรมแดน” ของนายโจวโย่วเหว่ย ผู้บัญชาการกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยของไต้หวัน รวมถึงบทความที่เรียบเรียงโดยสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างประเทศ และบทสัมภาษณ์ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันในต่างประเทศ และรายงานข่าวที่เกี่ยวกับไต้หวัน ก็ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างประเทศ รวม 162 บทความ นอกจากนี้ วิดีทัศน์แผนผลักดันการขอเข้าร่วม INTERPOL ของไต้หวันที่จัดทำโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำปีนี้ ในชื่อ “กู้ภัยแนวหน้า ปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดน” ซึ่งปรากฎบนเฟซบุ๊กแฟนเพจทางการของกต.ไต้หวัน บนแพลตฟอร์ม X (ชื่อเดิมคือ Twitter) และ Youtube Channel ช่อง Trending Taiwan รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งยอดสะสมของผู้ชมขณะนี้มีจำนวน 870,000 คนครั้งแล้ว และยังได้รับการแชร์ผ่านทางเฟซบุ๊กทางการของสำนักงานตัวแทนออสเตรเลียประจำไต้หวัน อีกด้วย
 
นอกจากนี้ ในปีนี้ไต้หวันยังได้ประกาศสโลแกน “โลกที่ปลอดภัย ไต้หวันช่วยได้” (A Safer World, Taiwan Can Help) ลงบนจอภาพ LED ขนาดใหญ่ในบริเวณท่าอากาศยานนานาชาติเวียนนาและข้างหอประชุม ควบคู่ไปกับการยกระดับความเข้าใจต่อแผนผลักดันการขอเข้าร่วม INTERPOL ของไต้หวัน เพื่อสร้างความเข้าใจและแสวงหาการสนับสนุนจากเหล่าตัวแทนนานาประเทศที่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้
 
กต.ไต้หวันเน้นย้ำว่า ภารกิจการปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดน ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือกันของประชาคมโลก จึงจะสามารถสร้างหลักประกันที่ไร้ซึ่งรอยรั่วหรือจุดบกพร่อง INTERPOL ในฐานะที่เป็นหน่วยงานความเชี่ยวชาญที่ชูเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตำรวจของนานาประเทศ ไม่ควรที่จะกีดกันการเข้าร่วมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน อันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมือง กต.ไต้หวันจึงเรียกร้องให้ INTERPOL ยึดมั่นในจุดยืนความเชี่ยวชาญและทางสายกลาง ด้วยการรับไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในเครือข่ายการบังคับใช้กฎหมายระดับโลกทั้งนี้ เพื่อสร้างโลกให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น