กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 ธันวาคม 2566
เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย หรือโจเซฟ วู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับชาร์ลี แคมป์เบลล์ (Charlie Campbell) นักข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของนิตยสารไทม์ (Time Magazine) โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ของนิตยสารไทม์เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “แนวทางที่ดีที่สุดในการธำรงรักษาสันติภาพคือการมีความสามารถในการทำสงคราม : รัฐมนตรีต่างประเทศไต้หวันแถลงตอบโต้การรุกรานของจีน” (The Best Way to Preserve Peace Is to Be Able to Fight a War’:Taiwan’s Foreign Minister on Resisting China Aggression) ซึ่งได้รับความสนใจในวงกว้าง ทั้งจากผู้คนในสหรัฐฯและทั่วโลก
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า แม้จีนยังคงพยายามช่วงชิงพันธมิตรทางการทูตเพื่อจำกัดพื้นที่บนเวทีนานาชาติของไต้หวัน แต่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยอันเป็นค่านิยมสากล ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศสำคัญต่างๆ อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา และฝรั่งเศส ฯลฯ ต่างก็มีความแน่นแฟ้นมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งยังเร่งกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในยุโรปกลางกับยุโรปตะวันออกที่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการคอมมิวนิสต์ให้แนบแน่นมากขึ้น ไต้หวันมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นพลังแห่งความดีในประชาคมโลก และยินดีจะขยายความร่วมมือและสร้างความสัมพันธ์กับทุกประเทศในระบอบประชาธิปไตย
เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวันกับประเทศอื่นๆ รมว.อู๋ฯ เผยว่า ไต้หวันและสหรัฐฯ ได้ลงนามความตกลง “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” ในเดือนมิถุนายนปีนี้ ถือเป็นความตกลงทางการค้าฉบับแรกนับตั้งแต่สหรัฐฯ ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันในปี พ.ศ.2522 และยังเป็นก้าวสำคัญในการกระตุ้นให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินรอยตาม นอกจากนี้ ไต้หวันกับแคนาดาเพิ่งบรรลุความสำเร็จการเจรจาด้าน “ความตกลงว่าด้วยหลักประกันและการส่งเสริมการลงทุน” (Foreign Investment Promotion and Protection Arrangement) ขณะเดียวกัน สหราชอาณาจักรก็เพิ่งประกาศว่าจะกระชับความร่วมมือทางการค้ากับไต้หวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์แห่งความพยายามของไต้หวันในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาประเทศให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
เมื่อถูกถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อสงครามในยูเครน รมว.อู๋ฯ เผยว่า ชาวไต้หวันรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ทรมานที่ชาวยูเครนต้องเผชิญในสงคราม และตระหนักถึงสิ่งสำคัญสามประการจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้แก่ ประการแรกคือ ความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ประการที่สอง ไต้หวันต้องเรียนรู้กลยุทธ์การทำสงครามแบบอสมมาตร ประการที่สาม ไต้หวันต้องทำงานอย่างหนักในการแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลก เพื่อยกระดับความสามารถในการป้องกันตนเอง ไต้หวันกำลังผลักดันการปฏิรูปทางการทหารอย่างเต็มที่ รวมทั้งเสริมสร้างการฝึกซ้อมทางทหารเพื่อรับมือสงครามสมัยใหม่ ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เองและจัดซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ พัฒนาขีดความสามารถด้านการสู้รบเพื่อยับยั้งการทำสงคราม รมว.อู๋ฯเน้นย้ำว่า ไม่ว่าประเทศใดจะมีอำนาจมากเพียงใด ก็ไม่มีสิทธิรุกรานประเทศอื่น ไม่ว่าจะในยุโรปหรือภูมิภาคอินโดแปซิฟิก
รมว.อู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไต้หวันมีบทบาทสำคัญมากต่อการขนส่งระหว่างประเทศและอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวันครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก และอุปทานของแผ่นชิปขั้นสูงมากกว่าร้อยละ 90 ถูกผลิตในไต้หวัน หากไต้หวันถูกโจมตี จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั่วโลก ดังนั้นประเทศประชาธิปไตยในปัจจุบัน จึงเห็นถึงความสำคัญของการรักษาเสถียรภาพและสันติภาพบนช่องแคบไต้หวัน ที่จะส่งผลโดยตรงต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลก จึงขอคัดค้านการกระทำการใดๆ เพียงฝ่ายเดียวจากจีนในการเปลี่ยนแปลงสถานะปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน
สำหรับกรณีที่จีนจะบุกไต้หวันเพื่อเปลี่ยนจุดสนใจจากแรงกดดันที่เกิดขึ้นภายในหรือไม่นั้น รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจีนพร้อมรบ หรือไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดสงครามในระยะอันใกล้ อย่างไรก็ดี ไต้หวันจะยังคงมุ่งมั่นสวมบทบาทรับผิดชอบในหน้าที่การธำรงปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันต่อไป