ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน. ไช่ฯ เข้าร่วม “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียครั้งที่ 18”
2023-12-08
New Southbound Policy。ปธน. ไช่ฯ เข้าร่วม “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียครั้งที่ 18” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน. ไช่ฯ เข้าร่วม “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียครั้งที่ 18” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

วันที่ 7 ธันวาคม 2566
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันสาธารณรัฐจีน เข้าร่วม “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียครั้งที่ 18” พร้อมกันนี้ยังได้เป็นผู้มอบรางวัลดังกล่าวให้นางอามิฮาน อาบูเอวา ( Amihan Abueva) ผู้อำนวยการบริหารระดับภูมิภาคของเครือข่ายสิทธิเด็กแห่งเอเชีย Child Rights Coalition of Asia (CRC Asia) เพื่อยกย่องการอุทิศตนของเธอในการส่งเสริมสิทธิเด็กและมุ่งมั่นต่อต้านการใช้ความรุนแรงในเด็กทุกรูปแบบ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน เผยว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไต้หวันมีความมุ่งมั่นในการปรับใช้กฎหมายตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้เด็กได้รับการคุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น ปธน.ไช่ฯ กล่าวด้วยว่า ไต้หวันจะยืนหยัดในการปกป้องประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพที่ได้มาอย่างยากลำบากนี้ พร้อมกับมุ่งมั่นส่งเสริมสิทธิเด็กของไต้หวันและทั่วโลกสืบไป
 
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน กล่าวปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีเนื้อความดังนี้ :

ก่อนอื่น ข้าพเข้าขอแสดงความยินดีกับนางอามิฮาน อาบูเอวา ที่ได้รับรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asia Democracy and Human Rights Award) ประจำปีนี้ จากมูลนิธิไต้หวันเพื่อประชาธิปไตย  (The Taiwan Foundation for Democracy) อามิฮาน อาบูเอวาเป็นผู้สนับสนุนสิทธิเด็กอย่างต่อเนื่องมานานหลายทศวรรษ และมุ่งมั่นต่อสู้กับความรุนแรงในเด็กทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กดังที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า  “การปกป้องสิทธิเด็กเป็นหน้าที่ของทุกคน”
 
ปัจจุบัน เครือข่ายสิทธิเด็กแห่งเอเชีย Child Rights Coalition of Asia (CRC Asia) ที่อยู่ภายใต้การนำของเธอ ได้เชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิเด็กในเอเชีย ซึ่งรวมถึงมูลนิธิสวัสดิการเด็กไต้หวัน (Child Welfare League Foundation)  เครือข่ายที่เธอสร้างขึ้น ช่วยให้ภาครัฐและประชาสังคมสามารถทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิเด็กให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากการทำงานในพื้นที่แล้ว อามิฮาน อาบูเอวา ยังใช้การสัมมนาและสื่อการอ่านต่างๆ มาสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สาธารณชน และช่วยให้ผู้ใหญ่และเด็กให้รับรู้ได้ถึงสัญญาณเตือน เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์
 
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไต้หวันมีความมุ่งมั่นในการปรับใช้กฎหมายตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่เป็นมาตรฐานสากล ในปี พ.ศ. 2532 ที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้จัดทำ “อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก” (UNCRC) ซึ่งเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับการลงนามรับรองมากที่สุดในโลก โดยไต้หวันได้ประกาศให้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็กมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2557
 
 
จวบจนวันนี้ ไต้หวันได้จัดทำรายงานระดับชาติด้านอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กถึง 2 ครั้ง โดยในแต่ละครั้ง จะจัดการประชุมรายงานตรวจสอบผลการดำเนินงานในระดับนานาชาติ โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิเด็กของไต้หวันในปัจจุบัน ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรนอกภาครัฐของไต้หวัน นอกจากกรอบทางกฎหมายแล้ว เรายังคาดหวังว่าสิทธิเด็กจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
 
โดยในปีนี้ ไต้หวันได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิส่วนตัวทางเพศในประมวลกฎหมายอาญา เพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวทางเพศของประชาชนในยุคดิจิทัล สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชน เนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่มใหญ่และมีความเปราะบางมากที่สุด