ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
หินขัด งานก่อสร้าง ธรรมดา และไม่ ธรรมดา รังสรรค์สถาปัตยกรรม ด้วยเศษหินและปูนซีเมนต์
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-12-18

เฉินปิ่งหยวนพยายามศึกษาเทคนิคงานหินขัดอย่างจริงจัง

เฉินปิ่งหยวนพยายามศึกษาเทคนิคงานหินขัดอย่างจริงจัง
 

หินขัดย้อนยุคกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ในอดีตหินขัดเคยเป็นงานก่อสร้างที่พบบ่อยที่สุดในไต้หวัน แม้ว่าจะปรากฏน้อยลงเรื่อย ๆ แต่ยังคงมีให้เห็นรอบ ๆ ตัวเราในรูปแบบที่แตกต่างกัน คุณเคยพบเห็นหรือไม่?

 

“พิพิธภัณฑ์ 207” ที่ถนนตี๋ฮั่ว ย่านต้าเต้าเฉิง (大稻埕) เป็นตึกเก่าสี่ชั้นที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1962 ตัวตึกคงความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ผนังด้านนอกรูปโค้งติดกระเบื้องแดงสดที่สะดุดตา หน้าต่างบานใหญ่ทำให้มองเห็นทิวทัศน์ถนนด้านนอกได้เพียงพอ พื้นหินขัดทั้ง 4 ชั้นดูสะดุดตายิ่งนัก ผู้มาเยี่ยมชมมักสนใจชมลวดลายผึ้ง องุ่น ตลอดจนโสมที่อยู่ใต้ฝ่าเท้า ซึ่งสอดคล้องกลมกลืนกับตึกของร้านขายยา “ก่วงเหอถัง (廣和堂)” ในอดีต

 

สะกิดความทรงจำทางวัฒนธรรมของคนทั่วไป

หินขัด เป็นงานก่อสร้างประเภทหนึ่ง สำหรับชาวไต้หวัน หินขัดยังเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกอยู่ในใจ มีคนจำนวนมากที่มีความผูกพันเช่นนี้ “การเหยียบพื้นหินขัด ทำให้มีความรู้สึกที่คุ้นเคย ราวกับคืนสู่อ้อมกอดแม่” เฉินปิ่งหยวน (陳炳元) เจ้าของร้านวัสดุหิน “เจิ้งเฟิง (正峰行)” สะท้อนภาพหินขัดในใจชาวไต้หวัน ด้วยคำพูดสั้น ๆ

เนื่องจากชอบหินขัดมาก เขาจึงพยายามศึกษางานก่อสร้างนี้เป็นพิเศษ “แต่คนในวงการก่อสร้างรุ่นเก่ารอบตัวผมพากันบอกว่า นี่คือสิ่งที่ได้รับความนิยมในอดีต เดี๋ยวนี้ไม่นิยมแล้ว ทำไมคุณยังสนใจมันอยู่ล่ะ”

เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว คุณพ่อของเฉินปิ่งหยวน ซึ่งเดิมทำงานที่หนานเอ้า (南澳) เมืองอี๋หลาน เล็งเห็นว่างานก่อสร้างจะมีความเฟื่องฟู จึงตัดสินใจลาออกจากงาน ย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เกาสง เปิดร้านขายวัสดุหิน “เจิ้งเฟิง”

ในช่วงนั้น เป็นยุคที่เศรษฐกิจของไต้หวันเฟื่องฟู อาคารบ้านพักอาศัยสร้างขึ้นในทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากไม้และกระเบื้องยังไม่แพร่หลาย วัสดุหินโดดเด่นที่สุด ไม่ว่าผนังที่ใช้หินกรวดเม็ดเล็ก ๆ สาดลงบนปูนขณะที่ยังเปียกหรือทำพื้นหินขัด “วัสดุชนิดเดียวกันสามารถสร้างบ้านทั้งหลังได้” เฉินปิ่งหยวนกล่าว

เติบโตมาในกองหิน “ผมถูกเลี้ยงให้โตขึ้นมาด้วยหินเหล่านี้ ผมอยากเห็นว่างานหินนี้จะไปได้ไกลแค่ไหน” เขาพูดด้วยความมุ่งมั่นในฐานะทายาทรุ่นที่สอง ดังนั้น หลังจากสืบทอดกิจการเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว นอกจากยังค้าขายหินตามรูปแบบเดิม แม้ภาวะงานหินขัดซบเซา แต่เขายังรับงานโดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบตกแต่งภายใน ทำงานหินขัดหลายโครงการ อย่างไรก็ตามเฉินปิ่งหยวนยอมรับว่า มีปัญหาขาดแคลนช่างชำนาญงาน แม้งานหินขัดไม่ได้รับความนิยมมากเหมือนในอดีต แต่การทำงานให้สำเร็จตามจินตนาการของผู้ว่าจ้างจำนวนมาก ก็ทำให้เขามีความรู้สึกภาคภูมิใจไม่น้อย
 

ลวดลายของหินขัดบ่งบอกภูมิหลังเจ้าของบ้าน แสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์

ลวดลายของหินขัดบ่งบอกภูมิหลังเจ้าของบ้าน แสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์
 

หินเทียม ใช้แทนหินธรรมชาติ

งานหินขัดไม่ใช่เทคนิคที่ไต้หวันพัฒนาขึ้นเอง ตามบันทึกระบุว่า หินขัดมีต้นกำเนิดจากเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ชาวญี่ปุ่นนำเข้ามาไต้หวันในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน แต่ไม่ระบุเวลาที่แน่ชัด ผศ. เย่จวิ้นหลิน (葉俊麟) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยจงหยวน (Chung Yuan Christian University) บอกว่า หินขัดเป็นงานสร้างหินเทียมที่เลียนแบบหินธรรมชาติ “การผลิตแผ่นหินของไต้หวันมีไม่มาก การแปรรูปและการขนส่งหินธรรมชาติมีต้นทุนสูง แม้ว่าหินขัดเป็นวัสดุหินธรรมชาติ แต่มีการผสมปูนซีเมนต์ปริมาณมาก จึงใช้หินน้อยลง และพื้นผิวที่เรียบเนียน เมื่อมองจากระยะไกลไม่ต่างกับแผ่นหิน” เขากล่าว

จากมุมมองของผู้ใช้งาน การทำความสะอาดหินขัดนั้นง่ายมาก อายุการใช้งานแทบไม่จำกัด แม้ว่าจะชำรุดหรือแตกร้าว ก็ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างใหม่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่สามารถซ่อมแซมเฉพาะจุดได้ ถ้าดูเก่าคร่ำคร่า ทำการขัดมันเพื่อยืดอายุการใช้งานได้ เป็นวัสดุที่ทนทานมาก อีกทั้งพื้นผิวเย็นจึงเหมาะเป็นพิเศษกับสภาพอากาศร้อนจัดของไต้หวัน และยังมีข้อดีคือไม่ดูดซับน้ำและไม่ดูดซับความชื้น ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทำให้หินขัดเป็นที่นิยมในหมู่ชาวไต้หวัน

งานหินขัดพบเห็นได้ในอาคารเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน เช่น ทำเนียบประธานาธิบดี สภาตรวจสอบ และศาลาว่าการเมืองซินจู๋ ซึ่งสอดคล้องกับที่เฉินปิ่งหยวนบอกว่ากิจการของร้าน “เจิ้งเฟิง” ในช่วงปี 1950-1980 ตรงกับยุครุ่งเรืองของหินขัดในไต้หวัน บ้านพักอาศัย ศาลเจ้า สถานศึกษา และหน่วยงานราชการต่างพากันใช้หินขัด พื้น บัวพื้นที่เชื่อมต่อกับผนัง และกำแพงเตี้ย เป็นต้น มักจะได้พบงานหินขัดเสมอ

ปัจจุบัน ในไต้หวันมักจะได้เห็นพื้นที่เลี่ยมไว้ด้วยหินสีดำ เทา และขาว ซึ่งบ่งบอกที่มาของหินจากท้องถิ่นต่าง ๆ สีดำเป็นหินดินดานจากอูสือกั่ง (烏石港) เมืองอี๋หลาน หรือมาจากซันตี้เหมิน (三地門) เมืองผิงตง ซึ่งเป็นวัสดุชนิดเดียวกับบ้านหินชนวนสีเข้มของชาวพื้นเมือง สำหรับหินอ่อนสีดำมาจากแถบอี๋หลาน ฮัวเหลียน และไถตง ส่วนหินสีเทา และเทาขาว ล้วนเป็นหินอ่อนมาจากชายฝั่งตะวันออก

 

ศิลปะชั้นสูงในวัดและศาลเจ้า

งานหินขัดนั้นไม่ซับซ้อน ก่อนอื่น ช่างปูนจะผสมเศษหินเข้ากับทรายและซีเมนต์เปียกตามสัดส่วน เทหรือโบกส่วนผสมนี้ลงบนพื้นหรือผนัง รอจนแห้งแล้วจึงใช้เครื่องขัดหินทำการขัดหยาบ ตามด้วยการขัดละเอียด ซ่อมแซมรายละเอียด และสุดท้ายขัดมันด้วยแว๊กซ์

แน่นอนว่า วัดและศาลเจ้าในเมืองใหญ่ในไต้หวันเป็นที่รวบรวมสุดยอดศิลปะหินขัดแบบดั้งเดิมไว้ เช่น พื้น ผนัง และโต๊ะบูชาของศาลเจ้าเป่าอัน (保安) ที่เคอเหลียว นครไถหนาน พื้น เสา และผนังของวัดต้าเซียน (大仙) ซึ่งถูกกำหนดเป็นโบราณสถานของนครไถหนาน และเสามังกรหินขัดของศาลเจ้าซวงจง (雙忠) เมืองเจียอี้... ล้วนแต่เป็นงานหินขัดคลาสสิก ผลงานเหล่านี้ผสมผสานกับความทุ่มเทของ ผู้มีจิตศรัทธาเข้ากับวัฒนธรรมศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า ฝีมือประณีตมากต้องใช้เวลาก่อสร้างเป็นปี ลวดลายที่ปรากฏ นอกจากรูปทรงเรขาคณิตแล้ว ยังมีส่วนที่ซับซ้อน เช่น ดอกไม้ นก สัตว์ และเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ในการสร้างรูปทรงนั้น ช่างจะต้องทำการขัดขึ้นรูปขณะที่วัสดุอยู่ในสภาพกึ่งแห้ง พื้นผิวที่โค้งมนและลายเส้นที่คมชัดช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก
 

เฉินปิ่งหยวนสาธิตขั้นตอนการทำหินขัด โดยผสมหินเข้ากับซีเมนต์และทราย อัตราส่วน 1:2 รอให้แห้งแล้วขัดให้เรียบ จากนั้นขัดเงาจนมีความแวววาวสดใส

เฉินปิ่งหยวนสาธิตขั้นตอนการทำหินขัด โดยผสมหินเข้ากับซีเมนต์และทราย อัตราส่วน 1:2 รอให้แห้งแล้วขัดให้เรียบ จากนั้นขัดเงาจนมีความแวววาวสดใส
 

สร้างสรรค์งานทิศทางใหม่

ปัจจุบันน้อยคนนักที่จะเลือกใช้พื้นหินขัดในบ้าน เนื่องจากจะต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการก่อสร้าง จึงเทียบไม่ได้กับกระเบื้องซึ่งก่อสร้างเสร็จภายในสามวันเท่านั้น สำหรับสังคมสมัยใหม่ที่ประสิทธิภาพคือเงิน หินขัดที่ทนทานเป็นร้อยปี จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของชีวิตในอดีตที่ก้าวย่างเชื่องช้าและเนิ่นนาน

อย่างไรก็ตาม หินขัดไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง เมื่อเทียบกับกระเบื้องและพื้นไม้ พื้นหินขัดทำความสะอาดง่าย สิ่งสกปรกเกาะติดยาก จึงยังมีการใช้อย่างแพร่หลายในโรงงานแปรรูปอาหารและคลังสินค้าแช่แข็งที่เน้นสุขอนามัยและความปลอดภัยอาหาร นอกจากนี้ ด้วยเทคนิคการก่อสร้างแบบใหม่ “กระเบื้องหินขัด" ที่ผลิตจากโรงงาน สามารถทดแทนการก่อสร้างแบบเดิมในไซต์งาน จึงประหยัดเวลาได้

การเติมวัสดุต่าง ๆ เช่น เปลือกหอย แก้วสีสันสดใสและหินนำเข้าที่ใช้แทนหินแบบเดิม อีกทั้งยังมีการใช้อีพอกซีเรซินแทนปูนซีเมนต์ ทำให้หินขัดในปัจจุบันมีรูปแบบที่หลากหลายยิ่งขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ร้านแฟลกชิปแบรนด์ดัง Valentino ในกรุงโรม และ Apple Store ได้นำหินขัดมาใช้ แสดงให้เห็นถึงการกลับมาอีกครั้งของงานหินขัดในรูปของสุนทรียภาพและการตกแต่งที่ฉีกแนว ดังเช่นคำกล่าวของ เฉินปิ่งหยวนที่บอกว่า “ใครว่างานก่อสร้างแบบนี้ ถึงจุดสิ้นสุดลงแล้ว ผมว่ายังไม่สิ้นสุดหรอก”

 

เพิ่มเติม

หินขัด งานก่อสร้าง ธรรมดา และไม่ ธรรมดา รังสรรค์สถาปัตยกรรม ด้วยเศษหินและปูนซีเมนต์