ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ศธ.ผลักดันการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษานานาชาติ เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่นักเรียนไต้หวัน
2023-12-19
New Southbound Policy。ศธ.ผลักดันการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษานานาชาติ เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่นักเรียนไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)
ศธ.ผลักดันการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการศึกษานานาชาติ เพื่อเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้แก่นักเรียนไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)

กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 17 ธ.ค. 66
 
สำนักการศึกษาภาคบังคับ  กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มุ่งผลักดัน “แผนพัฒนาการศึกษานานาชาติระยะกลางในโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา” เพื่อส่งเสริมให้มีการเปิดหลักสูตรการศึกษานานาชาติ รวมไปถึงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนนานาชาติ ทั้งนี้ เพื่อขยายขอบเขตโลกทัศน์นานาชาติให้แก่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อันจะเห็นได้จากกรณีตัวอย่าง ดังนี้ : นางชิวอี๋เสียน อาจารย์ประจำวิชาภาษาอังกฤษของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายผิงตง ได้นำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ในหลักสูตรสองภาษา เข้าร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมแบบข้ามพรมแดนในรูปแบบออนไลน์กับโรงเรียนมัธยมศึกษา Gotemba Minami High School ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดชิซูโอกะของญี่ปุ่น เพื่อร่วมหารือและอภิปรายในประเด็นความต่างของรูปแบบการค้าและกลยุทธ์การตลาดของร้านค้าสะดวกซื้อ ระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น อันพัฒนาไปสู่การหารือในประเด็นการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน นอกจากนี้ โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายหย่งเหริน และโรงเรียน Chung Hua Middle School No.1 , 3 และ 4 ของมาเลเซีย ก็ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ พร้อมทั้งเปิดหลักสูตรนานาชาติในรูปแบบออนไลน์ อันนำไปสู่การบ่มเพาะมุมมองที่เป็นสากลและศักยภาพทางการแข่งขันของกลุ่มเยาวชน
 
สำนักการศึกษาภาคบังคับ ชี้แจงว่า กิจกรรมการแลกเปลี่ยนนานาชาติแบบข้ามพรมแดน นับเป็นโอกาสการเสริมสร้างความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษ และทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมต่างชาติ เนื่องจากในพื้นที่ผิงตง มีโอกาสน้อยมากที่นักเรียนจะได้สัมผัสกับวัฒนธรรมต่างแดน โดยอาจารย์ชิวฯ กล่าวว่า ตนคาดหวังที่จะส่งเสริมให้นักเรียนในพื้นที่ชนบทมีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนทางการศึกษานานาชาติในภายภาคหน้า โดยสถาบันได้กระตุ้นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ภาษาผ่านการส่งเสริมให้นักเรียนร่วมแลกเปลี่ยนกับนักเรียนญี่ปุ่นผ่านรูปแบบออนไลน์ และสอดแทรกแนวโน้มทางการศึกษาในปัจจุบันลงในประเด็นการแลกเปลี่ยน ความแตกต่างระหว่างรูปแบบวิถีชีวิตของสองประเทศ และประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) เพื่อส่งเสริมให้เหล่านักเรียนร่วมหารือกันในเชิงลึก พร้อมทั้งชี้แนะให้เหล่านักเรียนประยุกต์ใช้มุมมองภาษาอังกฤษในการคิดและเรียบเรียงออกมาเป็นคำพูด ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้เหล่านักเรียนผสมผสานภาษาต่างประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบของวิถีชีวิตประจำวัน
 
นอกจากนี้  โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายหย่งเหริน และโรงเรียนมัธยมศึกษาของมาเลเซีย ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในรูปแบบไฮบริด อาทิ กิจกรรมการแลกเปลี่ยนในสถานที่จริงในปัจจุบัน นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายได้ร่วมจัดนิทรรศการในชื่อ “หย่งเซิงปู้สี” (หรือแปลว่า ไม่มอดดับ) รวมไปถึง “เทศกาลอากิตะของญี่ปุ่น” และ “เทศกาลแห่งความตายสไตล์เม็กซิกัน” โดยกลุ่มนักเรียนทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายข้อมูลให้กลุ่มนักเรียนชาวมาเลเซียได้รับฟัง สำแดงให้เห็นถึงบุคลิกภาพการยืนพูดบนเวทีและทักษะภาษา พร้อมทั้งยังพาเยี่ยมชม “ห้องอัดเสียงสำหรับนักเรียนที่ต้องการฝึกฝนความสามารถ” ที่ร่วมจัดตั้งขึ้นโดยโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายหย่งเหริน และสถานีวิทยุ เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการผนวกหลักสูตรการจัดรายการวิทยุ และประสบการณ์การบูรณาการทรัพยากรภายนอกเข้าสู่รั้วสถาบัน