ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
โครงการสถาบันการศึกษาเชิงระบบนิเวศ ไต้หวัน - สหรัฐฯ บังเกิดผลสัมฤทธิ์เด่นชัด จำนวนสถาบันการศึกษาสีเขียว สร้างสถิติใหม่อีกครั้ง
2023-12-21
New Southbound Policy。โครงการสถาบันการศึกษาเชิงระบบนิเวศ ไต้หวัน - สหรัฐฯ บังเกิดผลสัมฤทธิ์เด่นชัด จำนวนสถาบันการศึกษาสีเขียว สร้างสถิติใหม่อีกครั้ง (ภาพจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม)
โครงการสถาบันการศึกษาเชิงระบบนิเวศ ไต้หวัน - สหรัฐฯ บังเกิดผลสัมฤทธิ์เด่นชัด จำนวนสถาบันการศึกษาสีเขียว สร้างสถิติใหม่อีกครั้ง (ภาพจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม)

กระทรวงสิ่งแวดล้อม วันที่ 20 ธ.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. กระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จัด “พิธีประกาศเกียรติคุณสถาบันการศึกษาสีเขียวเชิงนิเวศไต้หวัน - สหรัฐฯ และการแสดงผลสัมฤทธิ์โครงการ ปี 2566”  ขึ้น ณ นครเถาหยวน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติของสถาบันที่ได้รับการรับรองเป็นสถาบันการศึกษาสีเขียว ประจำปี 2566 ประกอบด้วย สถาบันการศึกษา 10 แห่งที่ได้รับธงเขียว สถาบันที่ได้รับเหรียญเงิน 20 แห่ง และสถาบันที่ได้รับเหรียญทองแดง 29 แห่ง ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สถาบันการศึกษาทั่วประเทศได้รับการรับรองเป็นสถาบันการศึกษาสีเขียวจำนวนมากที่สุด นับตั้งแต่ที่ได้มีการผลักดันระบบการรับรองสถาบันการศึกษาเชิงนิเวศในปี พ.ศ 2557 เป็นต้นมา โดยในจำนวนนี้ สถาบันการศึกษาในนครเถาหยวนที่ได้รับการรับรองมีจำนวนมากถึง 6 แห่ง
 
โดยธงเขียวมีข้อจำกัดด้านระยะเวลา จึงต้องดำเนินการยื่นขอรับรองใหม่ทุก 2 ปี สำหรับสถาบันการศึกษาที่สะสมธงเขียวได้รวมจำนวน 4 ธง ก็จะได้รับการยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาสีเขียวแบบยั่งยืน เนื่องจากความมุ่งมั่นผลักดันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมควรที่จะได้รับการยกย่องว่า เป็นสถาบันการศึกษาที่ผสมผสานแนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและมีการปฎิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
 
นายหลิวจงหย่ง อธิบดีกรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กระทรวงสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐจีน(ไต้หวัน) กล่าวว่า ปีหน้าเป็นวาระครบรอบ 10 ปีของ “โครงการหุ้นส่วนสถาบันสีเขียวเชิงนิเวศ ไต้หวัน - สหรัฐฯ” ซึ่งขณะนี้ ในไต้หวันมีสถาบันการศึกษารวม 675 แห่งที่เข้าร่วมกลไกการประเมิน โดยสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรอง มีจำนวนมากกว่า 445 แห่ง ในจำนวนนี้ สถาบันการศึกษาที่ได้รับธงสีเขียวมีจำนวนทั้งสิ้น 24 แห่ง ส่วนสถาบันการศึกษาที่ได้รับเหรียญเงินมีจำนวน 161 แห่ง และสถาบันการศึกษาที่ได้รับเหรียญทองแดง มีจำนวน 260 แห่ง โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความอิสระในการตัดสินใจของเหล่านักเรียน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าร่วมการอภิปรายและการกำหนดนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการส่งเสริมให้นักเรียนทำความรู้จักกับสิ่งแวดล้อมและประยุกต์ใช้มาตรการที่เป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่การยกระดับความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในภาคประชาสังคม