ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ร่าง“กฎหมายว่าด้วยการเข้า – ออกประเทศและการย้ายถิ่น” ฉบับแก้ไข ทยอยมีผลบังคับใช้ รมว.มหาดไทยเผย ปีใหม่ 2567 จะผลักดันมาตรการที่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติในไต้หวันเป็นอันดับแรก
2023-12-26
New Southbound Policy。ร่าง“กฎหมายว่าด้วยการเข้า – ออกประเทศและการย้ายถิ่น” ฉบับแก้ไข ทยอยมีผลบังคับใช้ รมว.มหาดไทยเผย ปีใหม่ 2567 จะผลักดันมาตรการที่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติในไต้หวันเป็นอันดับแรก (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ร่าง“กฎหมายว่าด้วยการเข้า – ออกประเทศและการย้ายถิ่น” ฉบับแก้ไข ทยอยมีผลบังคับใช้ รมว.มหาดไทยเผย ปีใหม่ 2567 จะผลักดันมาตรการที่เป็นมิตรต่อชาวต่างชาติในไต้หวันเป็นอันดับแรก (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง วันที่ 21 ธ.ค. 66
 
เพื่อสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อผู้ย้ายถิ่น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกลไกการบริหารความปลอดภัยของการเคลื่อนย้ายของประชากร เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ประกาศ “กฎหมายว่าด้วยการเข้า – ออกประเทศและการย้ายถิ่น” ฉบับแก้ไข นายหลินโย่วชาง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (Ministry of Interior, MOI) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า ในครั้งนี้มีการแก้ไขกฎหมาย รวม 63 มาตรา โดยทิศทางหลัก คือการผ่อนคลายมาตรการการพำนักอาศัยในไต้หวันของชาวต่างชาติ การเสริมสร้างสิทธิการอาศัยอยู่ร่วมกันของสมาชิกในครอบครัวผู้ย้ายถิ่นด้วยการแต่งงานข้ามชาติ พร้อมทั้งเพิ่มระดับความรุนแรงของบทลงโทษและการเพิ่มอัตราค่าปรับ ตลอดแก้ไข “กฎระเบียบว่าด้วยการพำนักอาศัยในไต้หวันและการยื่นขอบัตรถิ่นที่อยู่ถาวร (APRC) สำหรับชาวต่างชาติ” รวม 15 รายการ ซึ่งถือเป็นการแก้ไขกฎหมายครั้งใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่แนวหน้ามีความเข้าใจกฎระเบียบอย่างถ่องแท้ เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพ โดยในส่วนที่เป็นผลดีต่อสิทธิประโยชน์ในด้านการพำนักอาศัยและการยื่นขอดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับการย้ายถิ่นของสำนักงานทนายความ จะมีผลบังคับใช้ก่อน ซึ่งจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค. 2567 ส่วนข้อกำหนดที่เกี่ยวกับบทลงโทษหรือการคุมขังผู้ละเมิดกฎข้อบังคับ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากที่กฎหมายฉบับใหม่ได้มีผลบังคับใช้อย่างครบถ้วนแล้ว จะสามารถส่งเสริมให้มีหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงทางสังคมควบคู่กันไป
 
มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของประชาชน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

กรณีคู่สมรสของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เสียชีวิต หรือผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เคยพำนักอาศัยในไต้หวันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมไปถึงกรณีการเลี้ยงดูบุตรธิดาที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยตนเอง และกรณีคู่รักที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส เพียงแนบหลักฐานวีซ่าประเภทการพำนักในไต้หวัน ก็สามารถยื่นขออนุมัติสิทธิการพำนักในไต้หวันได้โดยทันที สำหรับคู่สมรสที่หย่าร้าง อันเนื่องมาจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ทาง MOI ก็ผ่อนคลายมาตรการให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ สามารถพำนักอาศัยอยู่ในไต้หวันต่อไปได้ ไม่ว่าจะมีบุตรธิดาที่บรรลุนิติภาวะแล้วหรือไม่ และไม่ต้องยื่นขอคำสั่งคุ้มครองสวัสดิภาพจากศาล นอกจากนี้ MOI ยังผ่อนคลายข้อจำกัดว่าด้วยการพำนักอาศัยของชาวต่างชาติและประชาชนชาวไต้หวันที่ไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ พร้อมกันนี้ ยังได้เพิ่มข้อกำหนดให้คู่สมรส บุตรธิดาที่ยังอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ และบุตรธิดาที่มีความบกพร่องทางร่างกายของบุคลากรชาวต่างชาติที่สร้างคุณประโยชน์ให้สังคมไต้หวัน บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญระดับสูง และผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในสาขาอาชีพต่างๆ จะได้สิทธิในการพำนักอาศัยถาวรด้วย
 
นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มปัจจัยดึงดูดให้บุคลากรต่างชาติ เข้าประกอบอาชีพในไต้หวัน MOI ได้ผ่อนคลายมาตรการให้บัณฑิตชาวต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาในไต้หวัน สามารถยื่นขอขยายเวลาการพำนักในไต้หวันออกไปเป็นเวลา 1 ปี หากมีความจำเป็นก็สามารถขออนุมัติซ้ำได้อีก 1 ครั้ง มากสุดไม่เกิน 2 ปี นอกจากนี้ ยังเพิ่มข้อกำหนดให้ชาวต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตเดินทางมาสัมภาษณ์งานในไต้หวัน สามารถเชิญทนายความเข้าร่วมการสัมภาษณ์งานด้วย เพื่อช่วยบันทึกประเด็นสำคัญ และเสนอความคิดเห็นทางกฎหมายอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ยังเพิ่มข้อกำหนดให้สำนักงานทนายความสามารถยื่นขออนุมัติการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการย้ายถิ่น ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ปีหน้าเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากผู้รับผิดชอบสำนักทนายความเคยมีประวัติการฉ้อโกงหรือทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และถูกตัดสินว่ามีความผิดตามกระบวนการศาล จะถูกห้ามดำเนินธุรกิจด้านการย้ายถิ่นโดยทันที ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการแก้ไขรวมทั้งสิ้น 8 มาตรา โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.  2567 เป็นต้นไป
 
มาตรการที่เกี่ยวข้องกับบทลงโทษ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ปี 2567 เป็นต้นไป

การแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ยังเพิ่มบทลงโทษและมาตรการการลงโทษที่มีระดับความรุนแรงมากขึ้น สำหรับชาวต่างชาติที่พำนักอาศัยในไต้หวันเกินกำหนด มีการเพิ่มค่าปรับกรณีพำนักเกินกำหนด จากเดิม 2,000 – 10,000 เหรียญไต้หวัน เป็น 10,000 – 50,000 เหรียญไต้หวัน พร้อมขยายเวลาการห้ามเดินทางเข้าไต้หวัน สูงสุดเป็นเวลา 7  ปี นอกจากนี้ ยังเพิ่มบทลงโทษผู้ที่ชักชวนชาวต่างชาติดำเนินกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การพำนักอาศัยในไต้หวัน  ต้องระวางโทษปรับ  200,000-1,000,000 เหรียญไต้หวัน ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติลักลอบเข้าไต้หวันด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย หรือปล่อยให้ผู้ที่ถูกศาลสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เดินทางออกนอกประเทศโดยพลการ ต้องระวางโทษจำคุก 1 – 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 เหรียญไต้หวัน เพื่อสกัดกั้นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
 
นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังที่ได้รับอนุญาตให้ออกไปทำงานนอกเรือนจำ ฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือขาดการติดต่อ จึงมีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากฝ่าฝืนกฎระเบียบของการออกไปทำงานนอกเรือนจำ  สามารถควบคุมตัวกลับมาคุมขังได้อีกครั้ง โดยเริ่มต้นนับระยะเวลาการคุมขังใหม่  พร้อมทั้งเพิ่มข้อกำหนด “การยืดระยะเวลาการควบคุมตัว” เพื่อรับมือกับปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ในการเนรเทศผู้ต้องขังกลับสู่ภูมิลำเนาได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งในส่วนนี้ได้ทำการแก้ไขรวม 7 รายการ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป