กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 2 ม.ค. 67
ในวาระโอกาสแห่งการเริ่มต้นของปี 2567 กระทรวงเศรษฐการ (Ministry of Economic Affairs, MOEA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รายงานผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง ประจำปี 2566 ต่อสาธารณชนทั่วประเทศ โดย MOEA ได้ระบุว่า ขณะนี้ ฟาร์มกังหันลมขนาด 2.25 GW ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งนอกจากจะเป็นผลสัมฤทธิ์ที่นำหน้ากลุ่มประเทศประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกแล้ว ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งมีกำลังการผลิตที่มากกว่า 2 GW
จากข้อมูลของเว็บไซต์สภาพลังงานลมโลก (Global Wind Energy Council, GWEC) ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา การผลักดันฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งของนานาประเทศต่างได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 ซึ่งครอบคลุมไปถึง อังกฤษ เยอรมนี จีน สเปน อิตาลีและกลุ่มประเทศในยุโรป อีกทั้งยังได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอกอย่างสงครามรัสเซีย - ยูเครน ซึ่งขณะนี้ ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งของไต้หวัน ยังอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา โดยผลสัมฤทธิ์ข้างต้นเกิดจากการทุ่มเทความพยายามร่วมกันของหน่วยงานด้านบริหาร ข้าราชการ ระดับปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งทุกคน
MOEA เน้นย้ำว่า นอกจากปัจจัยสถานการณ์ระหว่างประเทศแล้ว ไต้หวันยังประสบกับปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้างที่แต่ละปีจะมีเพียง 6 – 7 เดือน โดย MOEA ได้กำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาผ่อนผันให้ผู้ประกอบการด้านฐานที่ตั้งที่มีศักยภาพในการบุกเบิกเป็นฟาร์มกังหันลม ในปีที่แล้ว (ปีพ.ศ.2566) เนื่องจากไต้หวันได้รับอิทธิพลจากพายุไต้ฝุ่นติดต่อกันหลายระลอก ส่งผลให้ความคืบหน้าด้านการจัดตั้งฟาร์มกังหันลมเกิดความล่าช้า แต่ทีมงานยังคงมุ่งมั่นดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตราบจนเมื่อปลายปี 2566 ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์กังหันลมแล้วเป็นจำนวนกว่า 283 ตัว สั่งสมกำลังการผลิตได้รวม 2.25GW ซึ่งบรรลุเป้าหมายการติดตั้งกังหันลมนอกชายฝั่งปี 2566 ที่กำลังการผลิตสะสมรวมอยู่ที่ 2.03~2.43GW
MOEA ชี้แจงว่า กังหันลมนอกชายฝั่งเป็นแผนการผลักดันพลังงานสีเขียวที่สำคัญของการบรรลุวัตถุประสงค์นโยบายเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของรัฐบาล สำนักงานพลังงานและกลุ่มผู้ประกอบการได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการ พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะมุ่งมั่นบรรลุการติดตั้งอุปกรณ์กังหันลม จำนวน 314 – 374 ตัว ภายในปี 2567 เพื่อสร้างยอดสะสมกำลังการผลิตให้ได้รวม 2.56~3.04GW โดย MOEA จะยึดมั่นในจุดยืนของหน่วยงานที่กำกับดูแล มุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน นวัตกรรมเศรษฐกิจสีเขียว และส่งเสริมความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ภายใต้เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ในท้องถิ่นต่อไป