หลิวเซวียนเจินเรียนเต้นรำที่อินเดียมานานหลายปี
พหุวัฒนธรรมได้กลายเป็นมรดกอันล้ำค่าในโลกศิลปะการแสดงของไต้หวัน ไม่เพียงคณะการแสดงขนาดใหญ่ที่ถือกำเนิดจากระดับท้องถิ่นก้าวสู่ระดับนานาชาติ แต่ยังรวมถึงคณะนักเต้นรำขนาดเล็กที่ผสมผสานองค์ประกอบวัฒนธรรมต่างชาติ หรือคณะนักเต้นรำรุ่นใหม่ แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของสังคมไต้หวันในการยอมรับและปรับตัวข้ามวัฒนธรรม ให้ทุกคนสามารถพัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะ บ่มเพาะอัตลักษณ์ของตัวเอง
เทศบาลเมืองผิงตงจัดงานเทศกาลฤดูร้อนผิงตง (2023 Pingtung Summer Carnival) เป็นเวลายาวนานถึง 37 วัน TW-EGY (ไต้หวัน-อียิปต์) คณะนักเต้นรำพื้นบ้านตะวันออกกลาง ได้ทำการแสดงทั้งหมด 13 รอบ หนึ่งในนั้น คือการแสดงลีลาการเต้นรำทานูร่าของหัวหน้าคณะ โมฮาเหม็ด มัมดูห์ (Mohamed Mamdouh) ซึ่งเป็นการเต้นรำโดยสวมชุดกระโปรงบานหมุนตัวไปรอบ ๆ กลองผ้าในมือจาก 1 ใบเพิ่มขึ้นเป็น 2 ใบราวกับมายากล และในช่วงท้ายเพิ่มขึ้นเป็น 6 ใบ ชุดกระโปรงบานสีสันสะดุดตาโบกสะบัดพลิ้วไหวจาก 1 ชิ้นกลายเป็น 2 ชิ้น นักเต้นรำดึงกระโปรงขึ้นและหมุนตัวเป็นวงกลมอย่างรวดเร็วคล้ายกับลูกข่าง ท่วงท่างดงามตระการตา ทันใดนั้น โมฮาเหม็ดใช้แขนขวาของเขาหมุนกระโปรงขึ้นเหนือศีรษะ ให้ความรู้สึกราวกับจานบินที่ลอยอยู่กลางอากาศ ดึงดูดสายตาผู้ชมพร้อมกับเสียงปรบมือดังกึกก้อง
ในนิทรรศการภาพถ่าย “อินเดียในสายตาไต้หวัน” ที่หอสมุดแห่งชาติไต้หวันและสมาคมอินเดีย–ไทเปร่วมกันจัดขึ้น หลิวเซวียนเจิน (劉瑄臻) นักเต้นชาวไต้หวันปรากฏตัวด้วยชุดส่าหรี ร่ายรำนาฏศิลป์อินเดียแบบดั้งเดิมด้วยระบำโมหินิยัตตัม (Mohiniyattam) ภาค “พระพิฆเนศ” เธอร่ายรำด้วยท่วงท่าอันงดงาม อ่อนช้อย โดยมีจังหวะการเคลื่อนไหวที่มั่นคงแข็งแรง สง่างามและน่าเคารพ สื่อถึงพรแห่งความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์ สติปัญญาและความสำเร็จที่พระพิฆเนศประทานให้
ประกายไฟแห่งความหลากหลาย
เฉินจื้อเหวย (陳峙維) นักวิจัยด้านดนตรีที่เคยสอนในหลักสูตร “วัฒนธรรมดนตรีโลก” ที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันเผยว่า การข้ามแขนงและความหลากหลายเป็นเทรนด์ของศิลปะการแสดงทั่วโลก ไต้หวันก็เช่นกัน ไต้หวันเป็นสังคมของผู้ย้ายถิ่น ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามายังดินแดนแห่งนี้ ได้นำเอาเสียงและศิลปะจากภูมิลำเนาของพวกเขาเข้ามาด้วย เมื่อมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ประกายไฟแห่งความหลากหลายทางความคิดสร้างสรรค์ จึงถูกจุดขึ้นตามธรรมชาติ
ช่วงปลายทศวรรษ 1990 หลังจากการแพร่ภาพกระจายเสียงแบบดิจิทัลมีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ดินแดนไต้หวันแห่งนี้ได้ยินเสียงต่างถิ่นมากยิ่งขึ้น
เฉินจื้อเหวยยกตัวอย่าง ปัจจุบันผู้คนไม่เพียงฟังเพลงบอลลีวูดของอินเดียเท่านั้น แต่ยังเรียนลีลาการเต้นบอลลีวูด ศึกษาการตีกลองของตะวันออกกลาง ตลอดจนฝึกเต้นประกอบเพื่อเพิ่มเทคนิคการตีกลองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เมื่อ 15 ปีที่แล้ว หม่าจวิ้นเหริน (馬儁人) อดีตนักข่าวสมรภูมิ ได้เดินทางไปตะวันออกกลางเพื่อเรียนตีกลองจากครูที่นั่น หลังจากกลับมาไต้หวัน เขาได้เปิดสอนตีกลองและทำการแสดงเป็นเวลาหลายปี เพื่อให้ผู้คนได้รู้จักและสนใจดนตรีตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสานฝัน ยังช่วยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาในพื้นที่ชนบทจำนวนมาก ได้เรียนตีกลองแซมบาของประเทศบราซิล สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความงดงามของไต้หวันที่เคารพวัฒนธรรมต่างชาติ และเห็นคุณค่าของการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม
การเต้นรำทานูร่าแบบหมุนรอบตัวเองของอียิปต์เป็นการแสดงที่ยาก แต่มีจุดประสงค์เพื่อสัมผัสถึงจิตวิญญาณและรับพรจากพระเจ้า
ถ่ายทอดการเต้นรำจากบ้านเกิด
ดั่งที่เฉินจื้อเหวยกล่าวไว้ ดนตรีและการเต้นรำมีพรมแดนแห่งรัฐชาติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้และได้รับคำชี้แนะ เพื่อซึมซับและทำความเข้าใจเอกลักษณ์ของดนตรีพื้นบ้านแต่ละประเทศ มิเช่นนั้น อาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจวัฒนธรรมนั้น ๆ เพียงผิวเผินหรือเกิดทัศนคติแบบเหมารวมได้ง่าย
ยกตัวอย่างเช่น “TW-EGY คณะนักเต้นรำพื้นบ้านตะวันออกกลาง” เป็นคณะแรกที่ก่อตั้งโดยผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน เกิดขึ้นจากเรื่องราวของจ้าวซินอิ๋ง (趙芯瑩) ประธานคณะที่เดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันระบำหน้าท้องที่ประเทศมาเลเซียในปี ค.ศ. 2013 แล้วถูกโมฮาเหม็ด นักเต้นรำจากคณะนาฏศิลป์แห่งชาติอียิปต์ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการครั้งนั้นวิจารณ์ว่า “ไม่เข้าใจว่าเธอกำลังเต้นอะไร?”
จ้าวซินอิ๋ง ผู้ซึ่งเต้นรำมาตั้งแต่เด็ก ๆ ได้ขอคำแนะนำจากโมฮาเหม็ดเป็นการส่วนตัว จึงทราบว่าในสายตานักเต้นรำพื้นบ้านอียิปต์แล้ว การเต้นแบบผสมผสานองค์ประกอบท่าเต้นจากหลากหลายวัฒนธรรม หาใช่ระบำหน้าท้องแบบต้นตำรับของตะวันออกกลาง ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ จ้าวซินอิ๋ง จึงตัดสินใจเดินทางไปประเทศอียิปต์ เพื่อเรียนรู้ศิลปะการเต้นรำจาก Elsharkiya คณะนักเต้นรำแห่งชาติอียิปต์ที่โมฮาเหม็ดสังกัด สุดท้ายยังได้เชิญโมฮาเหม็ดนักเต้นชาวอียิปต์เดินทางมาไต้หวัน
Elsharkiya เป็นคณะนักเต้นรำแห่งชาติที่โมฮาเหม็ดสังกัด ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 พ่อและลุงของเขาเป็นนักเต้นในคณะนี้เช่นกัน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1969 สงครามอียิปต์-อิสราเอลที่ยืดเยื้อ จึงทำให้พวกเขาต้องออกจากคณะเพื่อไปช่วยรบ โมฮาเหม็ดเล่าถึงตอนที่เขาไปทำการแสดงที่ประเทศจอร์แดนในปี ค.ศ. 2012 ผู้จัดงานในตอนนั้นได้ถามเขาว่า มีแผนจะก่อตั้งคณะนักเต้นรำหรือไม่? จากวันนั้นเป็นต้นมา ความคิดที่จะตั้งคณะนักเต้นรำของตัวเองจึงถือกำเนิดขึ้นในใจของโมฮาเหม็ด
ระบำจากดินแดนแห่งฟาโรห์
ปัจจุบันโมฮาเหม็ดอาศัยอยู่ที่ตำบลเฉาโจว เมืองผิงตง เขารู้สึกว่าผู้คนในชุมชนแห่งนี้ มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก มีความคล้ายคลึงกับบ้านเกิดของเขาที่ Al-Sharkia การเกษตรเป็นรากฐานสำคัญของอียิปต์ โดยประชากรส่วนใหญ่ที่นั่นเป็นเกษตรกร บทเพลงพื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของการเกษตรจึงถูกรวมอยู่ในวรรณกรรม ภาพยนตร์และการเต้นรำ พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ทางภาคเหนือของอียิปต์ ซึ่งตรงกับการแสดงระบำของโมฮาเหม็ดที่นำเสนอวิถีชีวิตบ้านเกิดของเขา มีชื่อว่า “ระบำชาวนา” (The Fallahi) (หรือแปลอีกอย่างว่า ระบำขวดน้ำ ) โดย Fallahi มาจากคำในภาษาอาหรับ แปลว่า ชาวนา
นอกจากนี้ ยังมีการเต้นรำนูเบีย (Nubia) ที่มาพร้อมกับการบรรเลงกลองตะวันออกกลาง ชุดที่สวมตกแต่งด้วยลวดลายฟันเลื่อยสามเหลี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์เด่นชัด โมฮาเหม็ด ชายผู้มีใบหน้าคมสัน ดวงตาลุกวาวเป็นประกายเมื่อพูดถึงการเต้นรำของอียิปต์ เขาเล่าว่าลวดลายฟันเลื่อยสื่อถึงฟันของจระเข้ที่ประกบกัน ณ ดินแดนนูเบีย (Nubia) ที่ตั้งอยู่บริเวณต้นน้ำของแม่น้ำไนล์ เป็นเมืองที่อยู่ทางตอนใต้สุดของอียิปต์ ชาวอียิปต์ในดินแดนนี้มีความเชื่อว่าจระเข้เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดี พวกเขาจะแขวนหัวจระเข้ไว้ที่หน้าประตูบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนหน้านี้ โมฮาเหม็ดเคยเล่นกลองตะวันออกกลางร่วมกับวงดนตรีพื้นเมืองชนเผ่าพายวัน (Paiwan) ของไต้หวัน เขาเล่าว่า ลวดลายฟันจระเข้ก็เหมือนกับลวดลายงูพิษร้อยก้าวของชนเผ่าผายวัน ที่มักจะถูกนำมาใช้เย็บเป็นลวดลายประดับบนเสื้อผ้า หรือปรากฏในบ้านเรือน สิ่งของเครื่องใช้และรูปปั้นแกะสลักของวงศ์ตระกูลชั้นสูง จึงเห็นได้ชัดว่า วัฒนธรรมของทั้งสองชาติพันธุ์มีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างมาก
การแสดงทานูร่า หรือการเต้นรำหมุนวนรอบตัวเองแบบตะวันออกกลาง มักจะถูกจัดให้อยู่ในช่วงสุดท้ายของการแสดง เพราะมีนัยที่เชื่อมโยงระหว่างสวรรค์กับโลก ชุดเต้นรำที่มีสีสันสดใสสะดุดตา เป็นสัญลักษณ์ของการผสมผสานและการหลอมรวม นักเต้นบางคนถึงขั้นติดคบเพลิงหรือไฟ LED บนชุดของพวกเขา เพื่อให้การแสดงน่าตื่นตาตื่นใจและดึงดูดสายตาผู้ชมมากยิ่งขึ้น
โมฮาเหม็ดกับจ้าวซินอิ๋งต้องการใช้ไต้หวันเป็นฐานที่มั่น ในการเผยแพร่การเต้นรำพื้นบ้านอียิปต์และไต้หวันไปสู่ทั่วโลก
ฝันเป็นจริง ทัวร์การแสดงรอบโลก
ลูกศิษย์ของโมฮาเหม็ดหลายคน จากเดิมที่เป็นครูสอนเต้นระบำหน้าท้องอยู่แล้ว ปัจจุบันไม่เพียงสอนเต้นระบำหน้าท้องเท่านั้น แต่ยังสอนเต้นระบำพื้นบ้านอียิปต์ด้วย ช่วยให้การเต้นรำแบบตะวันออกกลางในไต้หวันได้รับความนิยมมากขึ้น ในปี ค.ศ. 2019 เขาเริ่มพาสมาชิกในคณะ 15 คน ออกเดินทางตระเวนแสดงรอบโลกตามความฝัน
ในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ. 2019 โมฮาเหม็ดทำตามสัญญาที่ให้ไว้ คือการพาคณะนักเต้นรำของเขาเดินทางเยือนจอร์แดน แต่ก่อนการแสดงจะเริ่มขึ้น จากเดิมวางแผนไว้ว่าจะเปิดฉากด้วยการเต้นรำของชนเผ่าอามิส (Amis) แต่เนื่องจากเครื่องแต่งกายของนักเต้นเผยให้เห็นต้นแขนซึ่งขัดต่อประเพณีท้องถิ่น ทำให้ไม่สามารถขึ้นเวทีได้ หลังจากหารือ จึงเปลี่ยนมาแสดง “ระบำทะเลทราย” อันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้คนในพื้นที่ตะวันออกกลางและชาวเบดูอินในแอฟริกาเหนือคุ้นเคย ทันทีที่การแสดงจบลง ผู้ชมชาวจอร์แดนทั้งหมดต่างลุกขึ้นยืนปรบมือให้กับคณะนักเต้นรำ เพราะนี่คือการเต้นรำที่ชาวเบดูอินทุกคนในงานเข้าใจและเชื่อมโยงได้
เมื่อนึกย้อนกลับไปยังความทรงจำของการแสดงในครั้งนั้น จ้าวซินอิ๋งยังคงรู้สึกตื่นเต้นและตื้นตันใจ เธอเล่าว่า “การเต้นรำเป็นเหมือนพลังอำนาจที่อ่อนละมุนจริง ๆ เพราะถึงแม้ว่าจะมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน แต่หลังจากมีการพูดคุยเจรจา ทุกคนก็สามารถขึ้นไปทำการแสดง จนได้รับเสียงปรบมือที่ดังกึกก้อง” หลังลงจากเวที นักเต้นทุกคนพากันหลั่งน้ำตาพร้อมกับโอบกอดครูโมฮาเหม็ด เพราะการแสดงของพวกเขา ได้รับการยอมรับจากคนในท้องถิ่น จ้าวซินอิ๋งกล่าวว่า “ผู้ชมในงานอาจจำชื่อคณะไม่ได้ แต่พวกเขาจำได้ว่าเรามาจากไต้หวัน”
นาฏศิลป์เอเชียใต้ วัฒนธรรมล้ำลึก
วัฒนธรรมอินเดียไม่ได้มีแค่บอลลีวูดเท่านั้น หลิวเซวียนเจิน นักเต้นรำชาวไต้หวัน ผู้ซึ่งเรียนนาฏศิลป์ที่ประเทศอินเดียมานานกว่าสิบปี เธอได้จัดเวิร์กชอปที่ไต้หวัน เพื่อเผยแพร่ระบำ โมหินิยัตตัม (Mohiniyattam) นาฏศิลป์อินเดียแบบดั้งเดิมที่งดงาม อ่อนช้อยและประสานกลมกลืน พร้อมทั้งให้ผู้ที่เข้าร่วมเวิร์กชอปได้เรียนรู้ความหมายของท่าร่ายรำ ลีลาของมือแต่ละท่า เพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมอินเดียในเชิงลึกมากขึ้น
หลิวเซวียนเจินกล่าวว่า ผู้ร่ายรำนาฏศิลป์ดั้งเดิมก็เหมือนกับนักเล่าเรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเทพเจ้า ปรัชญาปลุกชาวโลกให้แก่ผู้คนได้รับฟัง โดยเฉพาะการระบำโมหินิยัตตัม จะต้องร่ายรำประกอบกับการทำท่าทางของมือ (มุทรา -Mudra) ที่ถูกต้อง
หลิวเซวียนเจินเป็นหนึ่งในนักเต้นชาวไต้หวันไม่กี่คน ที่มีโอกาสเข้าไปโลดแล่นในวงการบอลลีวูดในเมืองบอมเบย์ของอินเดีย เธอเคยเต้นรำในภาพยนตร์ของบอลลีวูดถึงหกเรื่อง อาทิ เพลง Dhaani Chunariya ในเรื่องสุดยอดพี่เลี้ยง (Super nani) หรือเพลง Lucky Tu Lucky Me ในเรื่องเจ้าสาววุ่นวายของนายฮัมพ์ตี้ ชาร์มา (Humpty Sharma Ki Dulhania)
แต่เธอไม่อยากเป็นเพียงนักเต้นที่ถูกกลืนหายอยู่ท่ามกลางเหล่านักเต้นมากมาย เธอจึงเดินทางไปสถาบันนาฏศิลป์กาลามันดาลัม (Kalamandalam) ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐเกรละ ทางตอนใต้ของอินเดีย เพื่อเรียนระบำโมหินิยัตตัมแบบดั้งเดิม เธอค้นพบว่า ชาวเกรละและผู้คนที่มีเชื้อสายจีนมีความเชื่อมโยงระหว่างกันหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น รัฐเกรละมีประเพณีการแข่งขันเรืองู ซึ่งคล้ายกับการแข่งเรือมังกรในช่วงเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างของไต้หวัน นอกจากนี้ยังมีสถาปัตยกรรมจีนมากมาย ด้วยเหตุนี้ หลิวเซวียนเจินจึงเคยจัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน” ขึ้นในรัฐเกรละ โดยหวังว่าจะเป็นการปูรากฐานเพื่อต่อยอดสู่การจัดเทศกาลศิลปะไต้หวันในอนาคต
หลิวเซวียนเจินยังได้ร่วมมือกับศิลปินในท้องถิ่น ก่อตั้ง “กาลาไต้หวัน” (กาลา Kala มาจากคำในภาษาฮินดี แปลว่า ศิลปะ) โดยมีความตั้งใจว่าจะหยิบเอาตำนานเรื่องเล่าของไต้หวัน เช่น ตำนานนางพญางูขาว ผสมผสานกับท่าเต้นนาฏศิลป์อินเดียแบบดั้งเดิม รังสรรค์ออกมาในรูปแบบละครเพลง เพื่อทำการแสดงในไต้หวันและอินเดีย
ดั่งที่หนังสือเรื่อง “ภูมิศาสตร์เชิงสร้างสรรค์” (The Geography of Creativity) เคยกล่าวไว้ คนทำงานศิลปะล้วนกำลังมองหาสถานที่ที่ผู้คน ความสัมพันธ์ แนวคิด และพรสวรรค์สามารถมาผสมผสานกัน เพื่อที่จะได้จุดประกายซึ่งกันและกัน สำหรับโมฮาเหม็ดที่เดินทางมาไต้หวัน หรือหลิวเซวียนเจินที่ใช้เวลาร่วมทศวรรษกับการเดินทางไปมาระหว่างอินเดียและไต้หวัน พวกเขาต่างค้นพบดินแดนที่สามารถอุทิศทักษะของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว
เพิ่มเติม