ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 29 ม.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าตรวจการณ์ “ผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนาของศูนย์เฉพาะทางด้านคอมพิวเตอร์ควอนตัมของสภาวิจัยแห่งชาติ” โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า คอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาด 5 คิวบิต ที่สภาวิจัยแห่งชาติ (Academic Sinica) วิจัยออกมาเป็นเครื่องแรกของไต้หวัน ถือเป็นหลักชัยสำคัญของเทคโนโลยีควอนตัมที่ไต้หวันมุ่งผลักดันมาเป็นเวลานาน โดย ปธน. ไช่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาวิจัยแห่งชาติจะยังคงสวมบทบาทในการเป็นหัวรถจักรต่อไป ในการนำวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานมาใช้ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้ไต้หวันสามารถจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีควอนตัม และสร้างคุณประโยชน์สำคัญในด้านเทคโนโลยีควอนตัมให้แก่ประชาคมโลกต่อไป
ปธน. ไช่ฯ เห็นว่า นอกจากไต้หวันจะสามารถผลิตเตรื่องบินรบและเรือรบด้วยการพึ่งพาตนเอง รวมไปถึงผลิตดาวเทียมได้แล้ว ปัจจุบัน ยังสามารถผลิตคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่วิจัยและผลิตเองในประเทศได้ด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า “การผลิตในไต้หวัน” (Made in Taiwan, MIT) เป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นและการทลายกรอบจำกัดเดิมๆ โดยคนรุ่นใหม่ รวมทั้งยังเป็นความภาคภูมิใจของชาวไต้หวันอีกด้วย
ปธน. ไช่ฯ ยังชี้ว่า คอมพิวเตอร์ควอนตัมได้กลายมาเป็น “เครื่องมือในการประมวลผลแห่งยุคใหม่” ไปแล้ว โดยเมื่อ 3 ปีก่อน นายเลี่ยวจวิ้นจื้อ ประธานสภาวิจัยแห่งชาติไต้หวันเคยเสนอต่อปธน.ไช่ฯ ว่า เทคโนโลยีควอนตัมคือแนวโน้มของอุตสาหกรรมเทคโนโลยียุคใหม่ที่นานาประเทศจะมุ่งแข่งขันในการพัฒนา ต่อจากยุคของการผลิตแผ่นชิปวงจรรวม ไต้หวันจึงควรเร่งพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม ด้วยเหตุนี้ ในช่วงปลายปี 2564 พวกเราจึงได้จัดตั้งแพลตฟอร์มความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ที่ประสานความร่วมมือแบบข้ามหน่วยงาน ทั้งสภาวิจัย คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงเศรษฐการ โดยได้อัดฉีดงบประมาณ 8,000 ล้านเหรียญไต้หวันภายในระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อยกระดับศักยภาพทางเทคโนโลยีควอมตัมของไต้หวัน ซึ่งปธน.ไช่ฯ ได้ขอบคุณหน่วยงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา ที่ร่วมต่อสู้กับความท้าทายของเทคโนโลยีแห่งอนาคตไปด้วยกัน
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า เทคโนโลยีควอนตัมมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนทุกคน ด้วยเทคโนโลยีควอนตัมจะทำให้เราสามารถยกระดับความมั่นคงปลอดภัยของการแพร่กระจายข้อมูลสารสนเทศได้มากขึ้น จึงมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศชาติเป็นอย่างมากด้วย โดยที่กลไกการประมวลผลอันทรงพลังของเทคโนโลยีควอนตัม จะส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อเทคโนโลยี AI การเงินและการแพทย์ชีวภาพ ด้วยเช่นกัน
ปธน. ยังเห็นว่า เป้าหมายของพวกเราคือการจัดตั้งระบบเครือข่ายสารสนเทศแบบควอนตัมที่ผลิตโดยไต้หวัน และคอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบที่สามารถประมวลผลได้อย่างแท้จริง ซึ่งจวบจนปัจจุบัน เป้าหมาย 2 ประการข้างต้นได้บรรลุผลสัมฤทธิ์ขั้นต้นแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว มหาวิทยาลัยชิงหัว (National Tsing Hua University, NTHU) ได้ประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนาเครือข่ายสารสนเทศที่ทำการตั้งค่าความปลอดภัยผ่านควอนตัมเป็นชุดแรกของไต้หวัน นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน สภาวิจัยแห่งชาติยังได้ผลิตแผ่นชิปควอนตัมขนาด 5 คิวบิตตัวแรกของไต้หวัน และถือเป็นความสำเร็จในการผลิตคอมพิวเตอร์ควอนตัมเป็นเครื่องแรกของไต้หวันด้วย
ในอนาคต สภาวิจัยแห่งชาติจะใช้สำนักงานในสาขาภาคใต้เป็นฐานการวิจัยควอมตัมระดับประเทศ โดยหวังว่าสภาวิจัยแห่งชาติจะสวมบทบาทเป็นหัวรถจักรในการเดินหน้าต่อไป โดยอาศัยวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานมาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้ไต้หวันสามารถจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีควอนตัม โดยปธน.ไช่ฯ ยังคาดหวังที่จะเห็นภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ ประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายขอบเขตศักยภาพการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยีควอนตัม และเปิดบริบทใหม่ให้กับอุตสาหกรรมในยุคต่อไป