ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สมาคมสถาบันอุดมศึกษาไต้หวัน - เช็ก ร่วมลงนาม MoU เพื่อขยายความร่วมมือของพันธมิตรสถาบันอุดมศึกษาในระดับนานาชาติ
แหล่งที่มาของข้อมูล Ministry of Education
2024-01-31
New Southbound Policy。สมาคมสถาบันอุดมศึกษาไต้หวัน - เช็ก ร่วมลงนาม MoU เพื่อขยายความร่วมมือของพันธมิตรสถาบันอุดมศึกษาในระดับนานาชาติ (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)
สมาคมสถาบันอุดมศึกษาไต้หวัน - เช็ก ร่วมลงนาม MoU เพื่อขยายความร่วมมือของพันธมิตรสถาบันอุดมศึกษาในระดับนานาชาติ (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)

กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 30 ม.ค. 67
 
มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาไต้หวัน (University Academic Alliance in Taiwan, UAAT) จำนวน 12 แห่ง กับมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาสาธารณรัฐเช็ก จำนวน 13  แห่ง ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MoU)ทางการศึกษา ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เมื่อเวลา 17:30 น. ของวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ตามเวลาไต้หวัน โดยนายอู๋เจิ้งจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร และนายหลิวม่งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐไต้หวันกล่าวปราศรัยผ่านระบบออนไลน์ และร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือแบบทวิภาคีที่ก้าวไปสู่หลักชัยใหม่ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนการสนับสนุนอย่างหนักแน่นของรัฐบาลไต้หวัน
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยในระหว่างพิธีลงนาม MoU ว่า ไต้หวัน - เช็กมีค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกัน โดยทั้งสองประเทศได้สำแดงให้เห็นผ่านคำมั่นสัญญาแห่งความร่วมมือทางการศึกษาที่เปี่ยมวิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นกระแสนิยมที่นานาประเทศทั่วโลกมุ่งผลักดัน โดยการร่วมลงนามใน MoU ครั้งนี้ นับเป็นการให้การยอมรับต่อความมุ่งมั่นตั้งใจของสองประเทศที่ต้องการจะบ่มเพาะบุคลากร อันเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในยุคสมัยใหม่ โดยไต้หวันยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับเช็กและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมแบ่งปันกลไกการฝึกอบรมด้านการออกแบบวงจรรวม (IC) การบ่มเพาะบุคลากรด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับนานาชาติ และการต่อยอดพัฒนาผลสัมฤทธิ์เชิงการประยุกต์และนวัตกรรมแผงวงจรรวม ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพในเชิงลึก
 
รมช.หลิวฯ ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศ ที่ร่วมมุ่งมั่นส่งเสริมความร่วมมือข้างต้นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยไฮไลท์ของความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – เช็ก นอกจากจะมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีทันสมัยที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สังคมศาสตร์ ศิลปะเชิงมนุษยศาสตร์และการเรียนภาษา เป็นต้น พร้อมนี้ รมช.หลิวฯ ยังระบุว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติไต้หวันยังได้ลงมติอนุมัติงบประมาณทางความร่วมมือแบบทวิภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยในทุกปีกระทรวงศึกษาธิการไต้หวันจะอัดฉีดงบประมาณสนับสนุน จำนวน 50 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยหวังที่จะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางการศึกษาแบบทวิภาคี ผ่านการลงนาม  MoU ในครั้งนี้ นอกจากนี้ คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังมีแผนจัดสรรงบประมาณด้านการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือของกลุ่มเจ้าหน้าที่วิจัยเชิงวิชาการ ระหว่างไต้หวัน - เช็ก
 
โดย MoU ฉบับนี้กำหนดให้มีผลบังคับใช้ในระยะเวลา 5 ปี  โดยมีนายเฉินเหวินจาง อธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (NCU) และ Ms. Milena Králíčková อธิการบดีมหาวิทยาลัย Charles University ในฐานะตัวแทนของ 2 สมาคมสถาบันอุดมศึกษาไต้หวัน - เช็ก ร่วมลงนามระหว่างกัน  ซึ่งมีการกำหนดให้ “วิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี” และ “ศิลปะเชิงมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์” เป็นสาขาที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของความร่วมมือในครั้งนี้