ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันมอบหมายให้สำนักงานตัวแทนไต้หวันในมาเลเซียและหน่วยงานคลังสมองของมาเลเซีย จัดงานเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับ CPTPP
2024-02-05
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันมอบหมายให้สำนักงานตัวแทนไต้หวันในมาเลเซียและหน่วยงานคลังสมองของมาเลเซีย จัดงานเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับ CPTPP (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันมอบหมายให้สำนักงานตัวแทนไต้หวันในมาเลเซียและหน่วยงานคลังสมองของมาเลเซีย จัดงานเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับ CPTPP (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน วันที่ 2 ก.พ. 67
 
เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มอบหมายให้สำนักงานตัวแทนไต้หวันในมาเลเซีย และสถาบันเศรษฐกิจและประชาธิปไตย (IDEAS) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองของมาเลเซีย จัดงานเสวนาโต๊ะกลมเกี่ยวกับข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อผลักดันการสมัครเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ของไต้หวัน โดยเชิญกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ เอกชน และวิชาการของมาเลเซียมาเข้าร่วม พร้อมทั้งเชิญ ดร.เหยียนหุ้ยซิน รองกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัย Regional Trade Agreement (RTA) และ WTO ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจจงหัว (CIER) มาร่วมบรรยายผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับผลดีที่จะเกิดขึ้นกับมาเลเซีย หากไต้หวันสามารถสมัครเข้าร่วม CPTPP ได้สำเร็จ ทั้งในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการสร้างความทรหดให้แก่ระบบห่วงโซ่อุปทาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย พร้อมหวังว่าผู้ที่เกี่ยวของของมาเลเซียจะให้ความสนับสนุนการสมัครเข้าร่วม CPTPP ของไต้หวันต่อไป
 
ดร. เหยียนฯ ชี้ว่า ปัจจุบัน เหล่าผู้ประกอบการไต้หวันต่างใช้กลยุทธ China+1 ในการประกอบธุรกิจ ด้วยการวางแผนลงทุนตั้งโรงงานขึ้นนอกประเทศจีน ดังนั้น หากไต้หวันและมาเลเซียสามารถใช้โอกาสนี้ในการลงนามข้อตกลงทางการค้าแบบทวิภาคีระหว่างกัน หรือให้ความสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม CPTPP จะทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถลดอุปสรรคทางการค้าทั้งในด้านที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าระหว่างกัน อันจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของทั้งสองฝ่าย และช่วยให้ระบบห่วงโซ่อุปทานมีเสถียรภาพมากขึ้น ถือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง
 
โดยการสมัครเข้าร่วม CPTPP จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกดั้งเดิมทุกราย ซึ่งไต้หวันพยายามชี้ให้เห็นว่า นอกจากไต้หวันจะมีมาตรฐานที่สอดคล้องกับข้อตกลงทางการค้าที่มีมาตรฐานสูงของ CPTPP แล้ว ไต้หวันยังสามารถสร้างคุณประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีกับชาติสมาชิกต่างๆ ในอนาคต อันถือเป็นการย้ำให้เหล่าประเทศสมาชิกเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าเป็นสมาชิกของข้อตกลงนี้ต่อไป