หลิวเล่อฉวิน หัวหน้าคณะนักแสดง Diabolo Dance Theatre เปิดเผยถึงความต้องการที่จะให้การแสดงของคณะของเขาเป็นการแสดงที่ใกล้เคียงกับชีวิตจริง ไม่ใช่เป็นเพียงศิลปะชั้นสูง (ภาพโดย หลินหมินเซวียน)
ลูกข่างจีน (扯鈴 อ่านว่า เฉ่อหลิง) หรือโยโย่จีน นับเป็นหัวใจหลักในการแสดงทุกชุดของคณะ Diabolo Dance Theatre ในขณะที่องค์ประกอบอื่น ๆ เช่น ดนตรี แสง สี ฉาก ท่าเต้น และเทคนิคพิเศษต่าง ๆ เปรียบเสมือนเส้นสายที่ร้อยเรียงองค์ประกอบทั้งหมดเข้าด้วยกัน องค์ประกอบเหล่านี้อาจดูเหมือนการแสดงทั่วไป แต่ลูกข่างจีนที่มีรูปทรงคล้ายนาฬิกาทรายถูกชักหมุนอยู่ระหว่างเส้นเชือกที่ผูกกับด้ามไม้ 2 อัน ได้สร้างสรรค์การแสดงในรูปแบบใหม่ที่ต่างออกไปจากกรอบเดิม ๆ ด้วยสไตล์ที่โดดเด่นเป็นของตนเอง
คณะ Diabolo Dance Theatre เป็นคณะการแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในและต่างประเทศ ตระเวนแสดงมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 รอบใน 30 กว่าประเทศทั่วโลก ในปี ค.ศ. 2023 กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันได้คัดเลือกให้คณะ Diabolo Dance Theatre เดินทางไปเปิดการแสดงผลงานสุดคลาสสิกชุด “Light of Life” หรือ “แสงแห่งชีวิต” ที่ถือเป็นสุดยอดของการแสดง ที่ประเทศฟิลิปปินส์และบรูไน
คณะนักแสดง Diabolo Dance Theatre ออกแบบการแสดงได้อย่างสร้างสรรค์ โดยผสมผสานท่วงท่าการเคลื่อนไหวของนักแสดง เข้ากับองค์ประกอบอื่น ๆ ทั้งการฉายภาพ แสง และดนตรีได้อย่างลงตัว
อวดโฉมความงดงามของไต้หวัน สู่เวทีในฟิลิปปินส์
คณะ Diabolo Dance Theatre เปิดฉากทัวร์การแสดง ประเดิมที่แรกในฟิลิปปินส์ระหว่างวันที่ 8–12 ตุลาคม 2566
การออกทัวร์เปิดการแสดงของคณะ Diabolo Dance Theatre ตรงกับช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองวันชาติของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทีมนักแสดงจึงนำการแสดง Light of Life ชุดพิเศษความยาว 20 นาที ร่วมแสดงในงานเลี้ยงฉลองวันชาติสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่เมืองปาไซ ทางตอนเหนือของกรุงมะนิลา ประเดิมการแสดงวันแรกของการตระเวนแสดงในฟิลิปปินส์ ก่อนที่จะเปิดการแสดงชุด Light of Life ชุดเต็มที่หอประชุม Carlos P. Romulo ในเมืองมาคาติ และที่ Liberty Hall ของสมาคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมฟิลิปปินส์-จีน (Filipino–Chinese Cultural and Economic Association : FCCEA) ในเมืองบิออนโด กรุงมะนิลาอีกครั้ง การแสดงชุด “Light of Life” ถูกนำเสนอและถ่ายทอดได้อย่างตระการตาและน่าตื่นตาตื่นใจทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงบนเวทีในสถานที่ที่แตกต่างกันก็ตาม
การแสดงที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมได้อย่างมาก คือการแสดงในรอบที่ 3 ที่ชั้น 5 ของ Liberty Hall ของสมาคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมฟิลิปปินส์-จีน ซึ่งคณะ Diabolo ได้ออกแบบท่าเต้นให้สอดรับกับเวทีที่ถูกดัดแปลงขึ้นใหม่ให้มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ช่วยเพิ่มอรรถรสให้กับผู้ชมให้สามารถดื่มด่ำกับการแสดงได้อย่างเต็มที่ไม่แพ้การชมการแสดงในโรงละครชั้นนำ
ลูกข่างจีนที่หมุนไปมาในรูปแบบต่าง ๆ จากการบังคับของนักแสดง เมื่ออยู่ท่ามกลางเสียงดนตรี แสง และฉากเป็นองค์ประกอบ บางครั้งเสมือนเป็นตัวเอก และบางครั้งเป็นเหมือนตัวประกอบ ผสมผสานเข้ากับการเต้นรำและการแสดงกายกรรมในแบบต่าง ๆ สร้างสรรค์ออกมาเป็นการแสดงที่บรรยายถึงเรื่องราวของการเริ่มต้นการเดินทางเพื่อค้นหาความหมายของชีวิต
แม้จะเป็นการแสดงที่ไม่มีบทพูดแทรกอยู่แม้แต่น้อย หรือจะเป็นตอนหนึ่งของการแสดงที่เทพธิดามหาสมุทรได้ขับร้องบทเพลงที่มีการดัดแปลงเนื้อร้องใหม่ด้วยภาษาออสโตรนีเชียน แต่ผู้ชมยังคงชมการแสดงด้วยความตั้งใจ
ในระหว่างการแสดง คณะนักแสดงจะเชิญผู้ชมขึ้นบนเวทีเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง ภายใต้การแนะนำของนักแสดง ด้วยการให้ผู้ชมได้ลองเล่นลูกข่างและสัมผัสความรู้สึกขณะที่ลูกข่างหมุนติ้วไปมาอยู่บนเชือก ราวกับถูกเปลี่ยนร่างให้เป็นนักมายากลที่มีความสามารถในการควบคุมไม้วิเศษ โดยหลังจบการแสดงยังได้รับชุดลูกข่างจีนติดไม้ติดมือกลับบ้าน ทำให้ผู้ชมเกิดความสนใจและอยากทดลองเล่นลูกข่างจีนกันอย่างคึกคัก
หลังจบการแสดงในวันที่สอง Badette Cunanan บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ เดอะ มะนิลา บูเลทิน (The Manila Bulletin) หนังสือพิมพ์ฉบับภาษาอังกฤษที่มียอดจำหน่ายอันดับหนึ่งของฟิลิปปินส์ถึงกับแสดงความชื่นชมต่อหลิวเล่อฉวิน (劉樂群) ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าคณะนักแสดง Diabolo Dance Theatre โดยกล่าวว่า “เป็นการแสดงที่งดงามอย่างยิ่ง และทำให้เธออยากไปไต้หวันมาก ๆ” ด้านหลิวเล่อฉวินได้แสดงความเห็นว่า ความสวยสดงดงามของการแสดง สามารถทำให้ผู้คนที่มาจากต่างภาษาต่างถิ่นให้การยอมรับ และเกิดความคิดที่อยากจะรู้จักไต้หวันมากขึ้น นับเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกมีความสุขมากที่สุด
ประสบการณ์ที่ได้รับจากการตระเวนออกแสดงตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่เพียงช่วยให้เหล่านักแสดงสามารถปรับตัวให้เข้ากับเวทีการแสดงได้ทุกแห่งเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างชื่อเสียงของคณะ Diabolo ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอีกด้วย ดังเช่นที่ Jeremy Welch นักเขียนประจำนิตยสาร Scottish Field ได้เขียนไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า “จ่ายเงินซื้อบัตรเข้าชมการแสดง รับรองว่าคุณจะไม่ผิดหวังแน่นอน”
คณะนักแสดง Diabolo Dance Theatre เดินทางไปเปิดการแสดงที่โรงเรียนนานาชาติเจรูดง และโรงเรียนเพื่อการศึกษาและดูแลเด็กพิเศษ Pusat Ehsan ในบรูไน โดยเหล่านักแสดงได้สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับครูและนักเรียน ด้วยการให้ทดลองเล่นลูกข่างจีนและฝึกท่ากายกรรมแบบง่าย ๆ
เชื่อมสัมพันธ์สร้างมิตรภาพ เปิดม่านการแสดงที่บรูไน
คณะ Diabolo Dance Theatre ออกเดินทางไปเปิดการแสดงที่บรูไนระหว่างวันที่ 19 – 24 ต.ค. 2566 นับเป็นคณะการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมของไต้หวันคณะแรก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยของบรูไนให้สามารถทำการแสดงได้
ภายใต้การประสานงานของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป (TECO) ประจำบรูไน คณะ Diabolo Dance Theatre ได้เปิดการแสดงที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของโรงเรียนนานาชาติเจรูดงในเมืองบันดาร์เสรีเบกาวัน เมืองหลวงของบรูไน รวม 2 รอบ การแสดงดังกล่าวได้รับการตอบรับและเสียงชื่นชมทั้งจากทูตานุทูตจากนานาประเทศที่ประจำอยู่ในบรูไน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและผู้ที่เข้าชมอย่างล้นหลาม
คณะ Diabolo Dance Theatre ยังได้เปิดการแสดงและจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนที่ Pusat Ehsan Al-Ameerah Al-Hajjah Maryam โรงเรียนเพื่อการศึกษาและดูแลเด็กพิเศษในบรูไนอีกด้วย
แม้ว่าจะเป็นการแสดงที่จัดขึ้นในรั้วโรงเรียน แต่คณะนักแสดง Diabolo Dance Theatre ได้จัดการแสดงชุด Light of Life ร่วมกับการใช้แสง สี เสียง และดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ สร้างความประทับใจให้กับครูและนักเรียนของโรงเรียนเป็นอย่างมาก โดยหลังจบการแสดงได้เปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสกับการละเล่นศิลปะพื้นบ้าน เช่น การเล่นลูกข่างจีนด้วยเช่นกัน
แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องของภาษาและการสื่อสาร แต่ระหว่างการจัดกิจกรรมและการแสดงที่โรงเรียนนานาชาติ เจรูดง มีนักเรียนคนหนึ่งที่ให้ความสนใจต่อการแสดงเป็นอย่างมาก และกระตือรือร้นที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับนักแสดงตลอดการทำกิจกรรม กระทั่งการแสดงจบลง เขายังขอให้นักแสดงช่วยสอนเทคนิคการเล่นลูกข่างจีนต่าง ๆ ท่าทางเอาจริงเอาจังเช่นนี้ สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมการแสดงวันนั้นเป็นอย่างมาก
ความทุ่มเทที่มีให้กับการแสดง ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใดและเวลาใด ทำให้ชาวบรูไนเกิดความประทับใจและรับรู้ได้ถึงความจริงใจจากไต้หวันที่จะแบ่งปันความสุขกับเพื่อน ๆ หนังสือพิมพ์ Borneo Bulletin หนังสือพิมพ์ชั้นนำของบรูไน ตีพิมพ์ภาพการแสดงของคณะ Diabolo Dance Theatre ขณะทำการแสดงที่โรงเรียนเด็กพิเศษ Pusat Ehsan บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 24 ต.ค. 2566 โดยพาดหัวข่าวว่า “ความช่วยเหลือจากเพื่อน” นับเป็นอีกหนึ่งย่างก้าวครั้งสำคัญทางการทูตในท้องถิ่น
นอกจากนี้ การแสดงของคณะ Diabolo Dance Theatre ยังได้รับการเผยแพร่รายงานข่าวในสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่นหลายสำนักเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน ทั้งในรูปของบทความภาษาอังกฤษ ภาษามลายู และภาษาจีน โดยรายงานข่าวพูดถึงการแสดงสุดตระการตาของคณะ Diabolo Dance Theatre ว่า ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามจากทุกฝ่ายในบรูไน จนเกิดปรากฏการณ์หาซื้อบัตรเข้าชมไม่ได้มาแล้ว การออกตระเวนแสดงที่โรงเรียนทั้งสองแห่งในครั้งนี้ ช่วยให้ประชาชนชาวบรูไนมองเห็นไต้หวันในอีกมุมหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาและสวัสดิภาพของผู้ทุพพลภาพด้วยความรักและมนุษยธรรม
“ความฝันแห่ง Diabolo” ของหลิวเล่อฉวิน ที่ยังคงเปล่งประกายไม่มีหยุด จากความร่วมแรงร่วมใจและอุทิศตนให้กับการแสดงบนเวทีของเหล่าศิลปินจากไต้หวัน
สร้างแบรนด์ไต้หวัน จากภูมิปัญญาของทุกคน
เบื้องหลังความสำเร็จที่โดดเด่นเช่นนี้ มีปัจจัยสำคัญมาจากการเสาะแสวงหาเพื่อพัฒนาศิลปะและความงดงามในการแสดงของคณะ Diabolo Dance Theatre ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ศิลปะการแสดงที่งดงามมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไม่เคยหยุดนิ่ง
หวังอิ้งหยาง (王映陽) ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำฟิลิปปินส์ (TECO) ซึ่งเคยร่วมเดินทางกับคณะ Diabolo Dance Theatre ไปทำการแสดงที่ฟิลิปปินส์เมื่อ 17 ปีก่อน น่าจะเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากที่สุด หลิวเล่อฉวินอธิบายว่า “หลังจากที่ชมการแสดงของเราจนจบ ผอ. หวังฯ ถึงกับเปรยขึ้นว่า “หากเทียบกับเมื่อสิบกว่าปีก่อน การเติบโตของคณะ Diabolo Dance Theatre ไม่ใช่การเดินไปทีละก้าว แต่เป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด”
การที่จะออกแบบชุดการแสดงที่ยิ่งใหญ่อลังการเช่นนี้ได้ หลิวเล่อฉวินชี้ว่า สิ่งที่มีความหมายและสำคัญมากที่สุด คือกลุ่มคนที่ทำงานร่วมกัน เพราะคณะ Diabolo Dance Theatre เป็นคณะที่ “สร้างสรรค์ผลงานร่วมกันอย่างสรรค์สร้าง” ในการทำงานร่วมกันนั้น หลังจากที่ผู้กำกับนำเสนอแนวคิดและไอเดียแล้ว ทีมงานของคณะที่มีศิลปินจากแขนงต่าง ๆ จะเริ่มระดมความคิดและแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกันในกลุ่มของตนเอง ก่อนจะมีการตกผลึกร่วมกันในตอนท้าย ซึ่งนำไปสู่การออกแบบการแสดงที่จะเกิดขึ้นบนเวที
วิธีการทำงานแบบนี้ดูเหมือนจะไม่ซับซ้อน แต่ในทางปฏิบัติกลับทำได้ค่อนข้างยาก เขากล่าวว่า “การทำงานของเราเป็นการทำงานผ่านการเชื่อมต่อระหว่างผู้คนในทีมงาน จึงทำให้สามารถบูรณาการความคิดจากทุกฝ่าย และออกแบบการแสดงทั้งรายละเอียดและองค์ประกอบได้อย่างสมบูรณ์”
ความรู้และความเชี่ยวชาญ (Know-How) ของคณะ Diabolo Dance Theatre ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้อื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้เหล่านี้ ไม่เพียงถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยม เช่น การแสดงชุด “VALO ภาคที่หนึ่ง - Amoeba” และ ชุด “VALO ภาคที่สอง - Island” แต่ยังดึงดูดความสนใจจากคณะเซิร์ค ดู โซเลย์ (Cirque du Soleil) คณะกายกรรมระดับโลกจากประเทศแคนาดา และทาบทามคณะ Diabolo Dance Theatre เพื่อควบรวมกิจการเมื่อหลายปีก่อน แต่หลิวเล่อฉวินได้ปฏิเสธไป
“เรารู้สึกขอบคุณที่พวกเขาให้ความสนใจและยอมรับเรา อันที่จริงเรื่องนี้นับเป็นโอกาสที่ดีมาก แต่ผมมองว่าหากเราร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับพวกเขาแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าการแสดงของคณะ Diabolo Dance Theatre จะยังสามารถนำเสนอในรูปแบบที่ผมจินตนาการไว้ได้หรือไม่?”
ถ้าเช่นนั้นแล้ว ตัวตนของ “คณะ Diabolo Dance Theatre” ที่แท้จริงเป็นแบบไหนกันแน่ จะหมายถึงการแสดงลูกข่างจีน ละครสัตว์ การเต้นรำ กายกรรมผาดโผน หรือดนตรี หลิวเล่อฉวินพูดเพียงว่า “คุณจะให้นิยามคณะของเราอย่างไรก็ได้ แต่สำหรับพวกเราแล้ว การแสดงของคณะ Diabolo Dance Theatre ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการแสดงแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเป็นการแสดงที่มีความคล้ายคลึงกับการแสดงของผู้อื่น พวกเราเป็นเพียงกลุ่มคนที่มีจิตวิญญาณ ซึ่งต้องการ “เต้นไปกับลูกข่างจีน” เท่านั้น
วิญญาณดวงนี้สื่อถึงความหมายที่แฝงไว้ด้วยคำว่า “ไร้ข้อจำกัด” และถูกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์การแสดงที่ไม่มีกรอบและไม่มีรูปแบบใด ๆ ด้วยการพาผู้ชมร่วมเดินทางไปสู่ “เกาะแห่งความฝัน” ที่อยู่ในใจไปด้วยกัน พร้อมกับนำปีกที่ติดตัวเรามาแต่กำเนิดกลับคืนมา กลายร่างเป็นปีเตอร์แพน โบยบินด้วยความดีใจและมีความสุขด้วยปีกแห่งจินตนาการ หลิวเล่อฉวินกล่าวว่า “นี่คือความสามารถที่ติดตัวเราทุกคนมาตั้งแต่กำเนิด” ซึ่งเขามีความสุขเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่เขาได้ยินเสียงเด็กและผู้ปกครองพูดคุยถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่กำลังแสดงอยู่บนเวที “เพราะเราต้องการให้ทุกคนสามารถสร้างเรื่องราวที่เป็นของตัวเองได้ภายในโรงละคร”
หลิวเล่อฉวินหวังว่าคณะ Diabolo Dance Theatre จะยังคงทำหน้าที่เสมือนแพลตฟอร์มหนึ่ง ที่รวบรวมความคิดสร้างสรรค์ ประสบการณ์ และทักษะต่าง ๆ ที่หลากหลาย พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “เพราะผมรับรู้มาโดยตลอดว่า สิ่งที่ผมต้องการสร้างขึ้นคือ การมีสถานที่ที่ส่งเสริมให้ศิลปินในไต้หวัน สามารถเปล่งประกายความสามารถของพวกเขาได้มากขึ้น”
เพิ่มเติม