กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 มี.ค. 67
ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาดิจิทัล สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย” (Summit for Democracy) ครั้งที่ 3 ผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า ที่จัดขึ้นในหัวข้อ “ประชาธิปไตยยุคใหม่แห่งอนาคต” (Democracy for Future Generations) ระหว่างวันที่ 18 – 20 มี.ค. นี้ ที่ประเทศเกาหลีใต้ พร้อมกันนี้ รมว.ถังฯ ยังได้ร่วมกล่าวปราศรัยในการประชุมโต๊ะกลมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ รอบ 2 ในช่วงบ่ายวันแรกของการประชุมในหัวข้อ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีเกิดใหม่ : นวัตกรรมที่เคารพสิทธิในสังคมประชาธิปไตย” (Artificial Intelligence and Emerging Technologies: Right-respecting Innovation in Democratic Societies) โดย รมว.ถังฯ ได้ชี้แจงว่า ไต้หวันใช้ศักยภาพการร่วมคิดร่วมสร้าง (Co-creation) และเทคโนโลยี ทำให้ประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นการโจมตีทางไซเบอร์และสงครามจิตวิทยา พร้อมย้ำว่า มีเพียงการยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเปิดกว้าง จึงจะสามารถรับมือกับวิกฤตทางมนุษยธรรม การเมืองและสังคม ที่เกิดจากเทคโนโลยีเกิดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ นายเหลียงกวงจง ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำเกาหลีใต้ยังเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมในสถานที่จริง และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำที่จัดขึ้นในวันที่ 3 ของการประชุมฯ ด้วย
Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในวันเปิดการประชุมสุดยอดประชาธิปไตยในหัวข้อ “การสร้างสภาพแวดล้อมทางสารสนเทศที่ยืดหยุ่นมากขึ้น” (Building A More Resilient Information Environment) โดย รมว. Blinken ได้แสดงความชื่นชมต่อไต้หวันเกี่ยวกับการรับมือกับข่าวปลอมและความทรหดของสังคมแห่งประชาธิปไตย ในระหว่างการบรรยายเกี่ยวกับการรับมือกับภัยคุกคามจากข่าวปลอมและความทรหดทางประชาธิปไตย แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของพัฒนาการทางประชาธิปไตยของไต้หวันได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
การเลือกตั้งประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ที่ปิดฉากลงอย่างราบรื่นเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นการแสดงให้ประชาคมโลกประจักษ์ถึงการพัฒนาทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพของไต้หวัน โดยในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ไต้หวันได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่เพื่อเสริมสร้างแนวทางการรักษาความทรหดทางประชาธิปไตย พร้อมทั้งแสดงความยึดมั่นต่อหลักการ “ความเป็นมืออาชีพ การปฏิบัติจริง และการอุทิศตน” ในการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งได้รับการยอมรับโดยทั่ว ในอนาคต เราจะยังคงใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน และเพื่อร่วมปกป้องค่านิยมแห่งประชาธิปไตยให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป