ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.กต.ไต้หวันแสดงปาฐกถาใน “การประชุมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา” ย้ำไต้หวัน – แคนาดาควรร่วมมือกันรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน พร้อมเรียกร้องให้แคนาดาสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม CPTPP
2024-03-21
New Southbound Policy。รมช.กต.ไต้หวันแสดงปาฐกถาใน “การประชุมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา” ย้ำไต้หวัน – แคนาดาควรร่วมมือกันรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน พร้อมเรียกร้องให้แคนาดาสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม CPTPP (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมช.กต.ไต้หวันแสดงปาฐกถาใน “การประชุมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา” ย้ำไต้หวัน – แคนาดาควรร่วมมือกันรับมือกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน พร้อมเรียกร้องให้แคนาดาสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม CPTPP (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่  20 มี.ค. 67
 
นายเซี่ยอู่เฉียว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา”  (Canada-Taiwan Forum on Economic Security) ตามคำเชิญของ “สถาบันด้านสันติภาพและความมั่นคง” (The Institute for Peace and Diplomacy) คลังสมองของแคนาดา โดยรมช.เซี่ยฯ ได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถา ภายใต้หัวข้อ “มุมมองของไต้หวันที่มีต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ระหว่างแคนาดา - ไต้หวัน” (Economic Security for Canada and Taiwan—a Taiwan Perspective) ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีสมาชิกรัฐสภาของแคนาดา เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการระดับโลก นักวิชาการคลังสมองและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงวิชาการ รวมถึงสื่อมวลชน เข้าร่วมเป็นจำนวน รวม 130 คน
 
รมช.เซี่ยฯ ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ไต้หวัน – แคนาดาได้จัดตั้งความสัมพันธ์ทางความร่วมมือที่แนบแน่น ผ่าน “แพลตฟอร์มการเจรจาด้านเศรษฐกิจการค้า ระหว่างไต้หวัน - แคนาดา” โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนาม “ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากต่างประเทศ” (FIPA) เพื่อเป็นการปูรากฐานสำหรับกลไกความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าของสองประเทศในอนาคต โดยไต้หวันครองบทบาทสำคัญในด้านเซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี AI และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร ตลอดจนยังสวมบทบาทที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกและความมั่นคงทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก
 
รมช.เซี่ยฯ กล่าวว่า หลายปีมานี้ สงครามรัสเซีย - ยูเครน และปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ได้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานระดับโลก มาตรการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่จีนนำมาใช้ ได้บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศอย่างสาหัส โดยไต้หวันและแคนาดา ต่างก็เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของจีน ไต้หวัน – แคนาดา จึงควรที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมแบบทวิภาคี เพื่อส่งเสริมให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งสอดคล้องกับเป้าหมาย “ยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิก” ของแคนาดาอีกด้วย
 
รมช.เซี่ยฯ เน้นย้ำว่า หากไต้หวันได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) จะมีส่วนช่วยเพิ่มพูนความหลากหลายให้แก่ระบบห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มประเทศสมาชิก CPTPP ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทานและความมั่นคงทางเศรษฐกิจระดับโลก โดยไต้หวันมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นสูงของ CPTPP พวกเราพร้อมแล้วที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP  ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้กลุ่มประเทศสมาชิก CPTPP อ้าแขนรับไต้หวัน ตลอดจนเรียกร้องให้แคนาดา ซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพหมุนเวียนจัดการประชุมประจำปีนี้ สำแดงศักยภาพความเป็นผู้นำ ด้วยการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วม CPTPP โดยเร็ววัน
 
Mr. John Mckay ประธานคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมแห่งสภาผู้แทนราษฎรแคนาดา กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวัน – แคนาดา ต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชน และต่างเป็นประเทศแนวหน้าที่ต้องเผชิญหน้าและรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เนื่องด้วยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เปี่ยมล้น และมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถเติมเต็มข้อได้เปรียบทางการค้าของแคนาดาได้ ซึ่งจะสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดตลาดใหม่และโอกาสงานให้แก่แคนาดาได้ ดังนั้นการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วม CPTPP จึงสอดคล้องกับผลประโยชน์การพัฒนาประเทศของแคนาดาด้วย