ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ New York Times ย้ำ ความมั่นคงของยูเครนและไต้หวัน เกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด หากสหรัฐฯ เพิกถอนความช่วยเหลือแก่ยูเครน อาจช่วยเพิ่มความทะยานทะยานของจีนในการรุกรานไต้หวัน
2024-04-01
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ New York Times ย้ำ ความมั่นคงของยูเครนและไต้หวัน เกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด หากสหรัฐฯ เพิกถอนความช่วยเหลือแก่ยูเครน อาจช่วยเพิ่มความทะยานทะยานของจีนในการรุกรานไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ New York Times ย้ำ ความมั่นคงของยูเครนและไต้หวัน เกี่ยวโยงกันอย่างใกล้ชิด หากสหรัฐฯ เพิกถอนความช่วยเหลือแก่ยูเครน อาจช่วยเพิ่มความทะยานทะยานของจีนในการรุกรานไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 มี.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Edward Wong ผู้สื่อข่าวด้านการทูตของหนังสือพิมพ์ The New York Times โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ในวันเดียวกันในหัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวัน ชี้ ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่อยูเครน เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสกัดกั้นการรุกรานจากจีน” (Taiwan’s Top Diplomat Says U.S. Aid to Ukraine Is Critical for Deterring China)
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างถกเถียงกันในประเด็นที่ว่า สหรัฐฯ จะถอนความช่วยเหลือที่ให้แก่ยูเครนหรือไม่ ซึ่งไต้หวันเห็นว่า คงจะไม่เป็นการดี เนื่องจากสถานการณ์โลกมีความเกี่ยวพันกันอย่างแนบแน่น จึงไม่สามารถพิจารณาเป็นรายกรณีได้ หากรัสเซียเข้าครอบครองพื้นที่ในยูเครนเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ประชาคมโลกเห็นว่า กลุ่มประเทศเผด็จการเป็นฝ่ายที่คว้าชัยชนะไปครอง ในปัจจุบัน รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือและอิหร่าน ล้วนเป็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ด้วยเหตุนี้ การให้ความสนับสนุนต่อประเทศที่ถูกรุกรานโดยกลุ่มประเทศเผด็จการ จึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก
 
รมว.อู๋ฯ ย้ำด้วยว่า ความมั่นคงของไต้หวันและความมั่นคงของยูเครน มีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง หากสหรัฐฯ ยุติการส่งมอบอาวุธให้ยูเครน จะยิ่งเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลปักกิ่งเข้าใจไปในทิศทางที่ผิดเพี้ยนต่อข้อเท็จจริงได้ และอาจจะทำการเผยแพร่ข่าวปลอมเป็นวงกว้าง ด้วยการกล่าวหาว่า สหรัฐฯ มิใช่พันธมิตรที่พึ่งพาได้ หากยูเครนพ่ายแพ้ต่อสงคราม จีนก็จะมองเห็นจุดอ่อนของสหรัฐฯ ได้ในทันที และตีความว่า หากรัฐบาลปักกิ่งทำการก่อกวนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุด สหรัฐฯ และกลุ่มมิตรประเทศก็จะยั้งมือในการส่งมอบความช่วยเหลือ จึงถือเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมการรุกรานของรัสเซียหรือจีนในทางอ้อม ซึ่งอาจเป็นการกระพือความทะเยอทะยานในการใช้กำลังอาวุธต่อไต้หวันของจีน และส่งเสริมให้เกิดความเป็นไปได้ในการรุกรานไต้หวันในภายภาคหน้าต่อไป
 
ต่อกรณีที่จีนสั่นคลอนความสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยผ่านการเผยแพร่ข่าวปลอมนั้น รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ในปีพ.ศ. 2564 หลังจากที่สหรัฐฯ ถอนความช่วยเหลือออกจากอัฟกานิสถาน รัฐบาลจีนก็ได้ตีแผ่เรื่องราวที่บิดเบือนข้อเท็จจริงผ่านสื่อที่เป็นรัฐวิสาหกิจและโซเชียลมีเดียว่า คำมั่นใดๆ ที่สหรัฐฯ ให้ไว้ ล้วนเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้ ทำให้ในขณะนั้น ภาคประชาสังคมของไต้หวันล้วนได้รับอิทธิพลจากสงครามจิตวิทยาในระลอกใหญ่ นอกจากนี้ จีนยังได้แพร่กระจายข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยเน้นย้ำว่า การขยายตัวของนาโต (NATO Enlargement) เป็นแรงกระตุ้นให้ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ผู้นำรัสเซีย บุกโจมตียูเครน และเชื่อว่าสหรัฐฯ จะไม่ให้การสนับสนุนจนถึงที่สุด
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครนส่งผลให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ที่ต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมและแสวงหาหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ต่างก็มุ่งสร้างความสัมพันธ์กับไต้หวันในเชิงลึกมากขึ้นทุกที เนื่องจากการสนับสนุนต่อไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตย นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการหลุดพ้นจากอิทธิพลของการปกครองในระบอบเผด็จการของสหภาพโซเวียตเมื่อครั้งอดีต รวมถึงคำมั่นด้านเศรษฐกิจของจีนภายใต้แผนปฏิบัติการ “โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21” ล้วนแต่เป็นสัญญาปากเปล่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้จากการประสานความร่วมมือกับไต้หวัน ซึ่งมีความเป็นรูปธรรมมากกว่า โดยอีกปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญที่สุดคือการที่จีนให้การสนับสนุนรัสเซียในสงครามรัสเซีย - ยูเครน ส่วนไต้หวันก็มุ่งให้ความช่วยเหลือยูเครนอย่างเต็มกำลัง ส่งผลให้กลุ่มประเทศข้างต้นตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก โดยไต้หวัน – กลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก จึงมุ่งยกระดับความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ภายใต้ความเชื่อมโยงเหล่านี้
 
ในช่วงท้ายของรายงานข่าวระบุว่า รมว.อู๋ฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญในการสนับสนุนไต้หวันของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นแนวคิดเช่นเดียวกับเหล่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวัน โดยนางสาวเซียวเหม่ยฉิน ว่าที่รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้เสนอมุมมองที่คล้ายคลึงกัน ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 ที่ผ่านมาด้วย