ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียแบบข้ามพรรค”
2024-04-09
New Southbound Policy。ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียแบบข้ามพรรค” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียแบบข้ามพรรค” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 8 เม.ย. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาออสเตรเลียแบบข้ามพรรค” โดยปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ไต้หวันและออสเตรเลีย ต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของสมาชิกรัฐสภาของออสเตรเลียแบบข้ามพรรคความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคี นับวันยิ่งเป็นไปในเชิงลึกมากขึ้น ซึ่ง ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลออสเตรเลียที่ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันบนเวทีนานาชาติอย่างเปิดเผย โดย ปธน.ไช่ฯ หวังที่จะเห็นรัฐบาลออสเตรเลียให้การสนับสนุนการลงนาม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ” (ECA) ระหว่างไต้หวัน - ออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริมการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงลึก ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคร่วมกันสืบไป
 
ในช่วงแรก ปธน.ไช่ฯ ได้กล่าวทักทาย Mr. Shayne Neumann และ Mr. Andrew Wallace 2 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลีย ที่ได้นำคณะตัวแทนสมาชิกรัฐสภาแบบข้ามพรรคเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่สมาชิกรัฐสภานำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวัน นับตั้งแต่ที่สถานการณ์โรคโควิด – 19 ทุเลาลง แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพอันแนบแน่น ระหว่างไต้หวัน - ออสเตรเลีย
 
เมื่อเดือนที่แล้ว ไต้หวัน – ออสเตรเลีย ได้ร่วมจัดค่ายฝึกอบรมนานาชาติด้านการป้องกันและปราบปรามคดีฉ้อโกงข้ามชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ร่วมกับสหรัฐฯ อังกฤษและญี่ปุ่น โดยในช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้มุ่งขยายขอบเขตความร่วมมือระดับนานาชาติ ผ่านกลไกของภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีร่วมกับอังกฤษและออสเตรเลีย (AUKUS) และ “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ (QUAD)” ที่ประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดียและออสเตรเลีย ตลอดจนมุ่งมั่นแสดงจุดยืนว่าด้วยความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพช่องแคบไต้หวัน ผ่านการประชุมทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี
 
ปธน.ไช่ฯ เห็นว่า เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรยืนเคียงข้างกัน และผนึกพลังสามัคคีให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
 
หลังจากนั้น เป็นการกล่าวปราศรัยของ Mr. Neumann ซึ่งกล่าวว่า นับวัน กลุ่มประเทศในภูมิภาคต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการข่มขู่ด้วยกำลังทหารที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่เราไม่สามารถแต่เราไม่สามารถมองเห็นความโปร่งใสและหลักประกันที่เราคาดหวังจากมหาอำนาจใหญ่ได้ โดยออสเตรเลียจะประสานความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรและมิตรประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมรักษาความสมดุลในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการรักษาสถานภาพเดิมของไต้หวันให้คงอยู่ต่อไป พร้อมนี้ ออสเตรเลียยังได้แสดงจุดยืนในการต่อต้านพฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดจากความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว การรักษาไว้ซึ่งสถานภาพเดิม ถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์โดยรวมในปัจจุบัน
 
Mr. Neumann ชี้ว่า ไต้หวัน – ออสเตรเลีย ได้ร่วมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เช่น ในพื้นที่เมืองบริสเบน รัฐควีนส์แลนด์ มีประชาชนชาวไต้หวันอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งออสเตรเลียถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน ทั้งสองฝ่ายจึงได้ร่วมบูรณาการความร่วมมือกันทั้งในด้านพลังงาน การเกษตรและเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร เป็นต้น
 
Mr. Wallace กล่าวว่า ตลอดที่ผ่านมา ไต้หวัน – ออสเตรเลีย มุ่งประสานความร่วมมือกันในหลากหลายด้าน โดยทั้งสองฝ่ายต่างให้ความเคารพและยึดมั่นในค่านิยมร่วมกัน วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ ก็เพื่อเน้นย้ำถึงความร่วมมือใน 3 ด้านของความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - ออสเตรเลีย ทั้งในด้าน ความมั่นคง การค้า และการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน
 
Mr. Wallace กล่าวอีกว่า ความร่วมมือด้านความมั่นคงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ภายใต้ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอน ไต้หวันและออสเตรเลีย ต่างตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – ออสเตรเลีย ได้สร้างคุณประโยชน์ที่สำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันสร้างสรรค์ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกที่เปิดกว้างและยอมรับซึ่งกันและกัน บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน  
 
ในส่วนของความร่วมมือด้านการป้องกันทางกลาโหม พวกเราต่างเข้าร่วมการซ้อมรบแบบบูรณาการ และร่วมแบ่งปันทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงการเข้าร่วมในโครงการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ซึ่งในขณะนี้ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ ต่างร่วมจัดการซ้อมรบในน่านน้ำทะเลของทะเลจีนใต้ร่วมกัน
 
Mr. Wallace ชี้อีกว่า ความเสี่ยงทางความมั่นคงยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นไปตามการพัฒนาทางเทคโนโลยี ไต้หวัน – ออสเตรเลียยังได้ประสานความร่วมมือกันในด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญและเครือข่ายดิจิทัลที่สำคัญของทั้งสองฝ่าย สำหรับด้านการค้า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของออสเตรเลีย มูลค่าการค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายในปี 2565 และ 2566 สูงถึง 41,500 เหรียญออสเตรเลีย ในขณะที่ นอกจากออสเตรเลียจะเป็นผู้จัดหาพลังงานและทรัพยากรที่เชื่อถือได้ของไต้หวันแล้ว การแลกเปลี่ยนของภาคประชาชน และการศึกษาแบบทวิภาคี ก็ถือเป็นทิศทางในการสร้างความร่วมมือที่สำคัญของทั้งสองฝ่ายเช่นกัน