กระทรวงเกษตร วันที่ 9 เม.ย. 67
กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture, MOA) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ไต้หวัน - นิวซีแลนด์ได้ร่วมลงนาม “โครงการส่งออกผักและผลไม้ไต้หวันไปนิวซีแลนด์” ภายใต้ “ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน-นิวซีแลนด์ (ANZTEC) ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมบริหารมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหารและการตรวจกักกันโรคพืชและสัตว์ (SPS JMC) ซึ่งนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สับปะรดของไต้หวันสามารถส่งออกไปยังนิวซีแลนด์ได้แล้ว
MOA ชี้แจงว่า เพื่อขยายตลาดส่งออกสับปะรดของไต้หวัน นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ไต้หวันได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อยื่นขออนุมัติการส่งสับปะรดสดไปจำหน่ายในนิวซีแลนด์ โดยชี้แจงรายละเอียดทั้งวิธีการเพาะปลูก สภาพภูมิอากาศ แมลงศัตรูพืช กระบวนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการประเมินผลการส่งออกเบื้องต้น ซึ่งหลังผ่านการเจรจาหารือเป็นระยะเวลากว่า 8 ปีและแนบเอกสารข้อมูลที่ฝ่ายนิวซีแลนด์ต้องการเพิ่มเติมแล้ว ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้มีการลงนามระหว่างกันในครั้งนี้
ตามเนื้อหาของโครงการ สับปะรดที่จะส่งออกต้องดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และต้องเก็บเกี่ยวตั้งแต่ในระยะผลแก่สีเขียว (Mature green stage) นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงกลไกการตรวจสอบย้อนกลับ ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว การบริหารจัดการและขั้นตอนการขนส่ง ตลอดจนต้องจัดกิจกรรมการฝึกอบรมก่อนฤดูกาลของการส่งออกสับปะรดในแต่ละปี โดยสับปะรดที่จะส่งออกต้องตัดยอดทิ้งก่อน และจะถูกสุ่มตรวจจำนวน 600 ลูก เพื่อรับรองว่าสินค้าที่ส่งออกปลอดจากแมลงศัตรูพืชที่นิวซีแลนด์เป็นกังวล
MOA เน้นย้ำว่า สับปะรดเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของไต้หวัน มีเนื้อละเอียดหวานฉ่ำ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยสับปะรดของไต้หวันมีหลากหลายสายพันธุ์ กลุ่มเกษตรกรได้คิดค้นแนวทางการเพาะปลูกหมุนเวียนตลอดทั้งปี ด้วยการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์และเทคโนโลยีให้เข้ากับแหล่งการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตตลอดทั้งปี ซึ่งในปัจจุบัน สับปะรดไต้หวันสามารถการส่งออกไปยังนานาประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย มาเก๊า บรูไน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน อินโดนีเซีย ปาเลา เกาะกวม หมู่เกาะมาร์แชลล์ เนเธอร์แลนด์และรัสเซีย เป็นต้น การที่นิวซีแลนด์เปิดให้นำเข้าสับปะรดจากไต้หวัน ถือเป็นการขยายตลาดส่งออกสับปะรดของไต้หวันให้กว้างขวางยิ่งขึ้น
เพื่อรุกขยายตลาดนิวซีแลนด์ ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ MOA ได้มุ่งมั่นยื่นขออนุมัติการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหลายรายการ ผ่านการประชุมเจรจาและการตรวจกักกันโรคอย่างกระตือรือร้น อาทิ กล้วยไม้สกุลออนซิเดียม มะม่วงและลิ้นจี่ รวมไปถึงการจัดตั้งกลไกการส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ และกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรของไต้หวัน พร้อมทั้งชี้แนะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ประกอบการส่งออกคว้าใบสั่งซื้อและจัดตั้งระบบการจัดซื้อที่มีเสถียรภาพและสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือกับกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมาที่ไต้หวันได้เปิดให้มีการส่งออกมะม่วงไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวขึ้นเท่าตัวในแต่ละปี นอกจากนี้ ในปี 2566 ลิ้นจี่เป็นผลไม้รายการแรกที่ไต้หวันประสบความสำเร็จในการส่งออกไปยังนิวซีแลนด์หลังจากที่ได้มีการกำหนดเงื่อนไขการตรวจกักกันโรคฉบับใหม่ และขณะนี้นิวซีแลนด์กำลังจะเปิดให้นำเข้าสับปะรดจากไต้หวันอีก
MOA จะมุ่งมั่นขยายการส่งออกผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการเปิดอภิปรายเงื่อนไขการตรวจกักกันโรคที่อ้างอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ร่วมกับประเทศหุ้นส่วนทางการค้า ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จในการรุกขยายเข้าสู่ตลาดนิวซีแลนด์ โดย MOA จะยึดมั่นในจุดยืนการดูแลและให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรควบคู่ไปกับการฝึกอบรมวิชาชีพ การจดทะเบียน การบริหารกลไกการตรวจสอบย้อนกลับและการตรวจกักกันโรคก่อนส่งออก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้สับปะรดคุณภาพสูงของไต้หวัน สามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป