ร้านปะชุนเสื้อผ้าของคุณป้าเยี่ยบนถนนไล่หนาน เป็นหนึ่งในแผงลอยติดผนังในเขตเหยียนเฉิงที่ยังอนุรักษ์เอาไว้อย่างสมบูรณ์ โดยแผงลอยติดผนังเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่แออัดในย่านการค้า เป็นการใช้พื้นที่แคบ ๆ บริเวณทางเดินหน้าร้านหรือในตรอกซอกซอยเพื่อค้าขาย ทำให้นึกภาพของเหยียนเฉิงในอดีตที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนได้ไม่ยากนัก
เหยียนเฉิง เดิมเป็นสถานที่สำหรับตากเกลือทะเล ต่อมาในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันได้มีการวางผังเมืองใหม่ทำให้เหยียนเฉิงก้าวขึ้นสู่การเป็น Sakariba (Sakariba เป็นภาษาญี่ปุ่น หมายถึงตลาดนัดหรือย่านการค้าที่มีผู้คนเนืองแน่น) แห่งแรกของเกาสง หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เหยียนเฉิงได้ กลายเป็นแหล่งค้าขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ส่งมาทางเรือ และเป็นประตูที่เปิดรับวัฒนธรรมอเมริกันเข้าสู่ไต้หวัน พัฒนาการหลากหลายด้านของเหยียนเฉิงเกี่ยวข้องกับจังหวะและโอกาส แต่ล้วนผูกพันกับท่าเรือเกาสงอย่างแยกออกจากกันไม่ได้
ทีมงานไต้หวันพาโนรามา ได้สัมภาษณ์คุณหลี่เหวินหวน (李文環) นักเขียน เจ้าของผลงานชื่อ “ฮามาซิง : บทเพลงแรกของเกาสง เมืองแห่งท่าเรือ” (高雄港都首部曲:哈瑪星) และ “เหยียนเฉิง : ย่านการค้าแห่งแรกของเกาสง” (高雄第一盛場:鹽埕風) เขาเปิดประเด็นว่า “ย่านการค้าที่สำคัญของเกาสง 2 แห่ง ได้แก่ ฮามาซิงและเหยียนเฉิง สร้างโดยรัฐบาลญี่ปุ่น และเกาสงในปัจจุบันได้รับการวางรากฐานมาตั้งแต่ยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน”
หมวกดำน้ำ เครื่องวัดแดด ทรงกลมท้องฟ้า ฯลฯ ของเก่าที่คุณหวงเต้าหมิงสะสมไว้เต็มร้าน ทำให้รู้สึกราวกับหลุดเข้าไปสู่อุโมงค์แห่งกาลเวลา นับเป็นอีกมุมหนึ่งของความทรงจำที่อุตสาหกรรมรื้อเรือเกาสงได้ทิ้งร่อยรอยเอาไว้
ย่านการค้าที่สร้างโดยฝีมือชาวญี่ปุ่น
เนื่องจากการเปิดเมืองท่าตามสนธิสัญญาเทียนจิน (สนธิสัญญาที่รัฐบาลจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง จำยอมต้องลงนามกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก 4 ชาติ ได้แก่ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา หลังพ่ายแพ้สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ. 1858 เนื้อหาในสนธิสัญญาบังคับให้จีนต้องเปิดเมืองท่าเลียบชายฝั่งตะวันออกของจีนซึ่งรวมถึงท่าเรือ Takao ของไต้หวัน) ทำให้ท่าเรือเกาสง ที่มีชื่อเดิมว่า “ท่าเรือ Takao” มีการเปิดเสรีและก้าวขึ้นสู่เวทีสากล ต่อมาในช่วงหลังสงครามเจี๋ยอู่ (สงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นที่ปะทุขึ้นในปี ค.ศ. 1894 และยุติลงในปี ค.ศ. 1895 โดยจีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ราชวงศ์ชิงยอมยกไต้หวันให้ญี่ปุ่น) ทำให้ไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น เพื่อให้การขนส่งทรัพยากรสำคัญจากไต้หวันไปยังญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกใช้วิธีการขนส่งทางรถไฟ โดยจะลำเลียงผ่านทางท่าเรือเป็นอันดับแรก ทำให้มีการก่อสร้างทางรถไฟในไต้หวันจากเหนือจรดใต้ โดยสิ้นสุดลงที่สถานีท่าเรือ Takao (ปัจจุบันคือ Takao Railway Museum) นอกจากนี้ยังได้ขุดลอกท่าเรือแล้วนำตะกอนทรายที่ทับถมอยู่ขึ้นมาถมทะเลเพื่อสร้างแผ่นดินใหม่ซึ่งก็คือย่านฮามาซิงในปัจจุบันนั่นเอง
คุณหลี่เหวินหวนเล่าย้อนถึงการพัฒนาของนครเกาสง ว่า “หลังสถานีรถไฟท่าเรือ Takao เปิดเดินรถในปี ค.ศ. 1900 และโครงการถมทะเลสร้างแผ่นดินใหม่ระยะแรกแล้วเสร็จลงใน ปี ค.ศ. 1905 มูลค่าการค้าผ่านทางท่าเรือเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ส่งผลให้มูลค่าการค้าของท่าเรือ Takao แซงหน้าท่าเรืออันผิงในปี ค.ศ. 1907”
ผลกำไรที่ได้จากท่าเรือทำให้ทำเนียบผู้ว่าการญี่ปุ่นประจำเกาะไต้หวันเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างท่าเรือระยะที่ 2 (ค.ศ. 1908-1945) เขตเหยียนเฉิงซึ่งอยู่ใกล้ท่าเรือกลายเป็นตัวเลือกแรกที่จะใช้เป็นพื้นที่ในการก่อสร้างท่าเรือ โกดังสินค้า และย่านการค้าใหม่ ส่งผลให้เหยียนเฉิงพลิกโฉมกลายเป็นย่านการค้าแห่งใหม่ในทันที
คุณหลี่เหวินหวนขอให้ทีมงานไต้หวันพาโนรามานึกย้อนกลับไปถึงเรือสินค้าในสมัยก่อนที่ล้วนบรรทุกสินค้าทั่วไป อาทิ สินค้าส่งออกประเภทน้ำตาลทรายและข้าวเปลือกที่บรรจุในกระสอบ ต้องแบ่งออกเป็นล็อต ๆ แล้วใช้จับกังท่าเรือเป็นคนแบกหาม ทำให้มีความต้องการใช้แรงงานในปริมาณมาก นำมาซึ่งโอกาสในการทำงานและดึงดูดผู้คนจำนวนมากย้ายถิ่นฐานเข้ามาพำนักอาศัย
อีกสิ่งหนึ่งก็คือลูกเรือ คุณหลี่เหวินหวนอ้างอิงจากข้อมูลที่เป็นตัวเลข ซึ่งระบุว่า เมื่อโครงการก่อสร้างท่าเรือเกาสงระยะแรกแล้วเสร็จลง (ค.ศ. 1912) แต่ละปีมีเรือเข้าออกท่าเรือแห่งนี้อย่างน้อย 150 ลำ เรือแต่ละลำมีลูกเรือประมาณ 40-50 คน เมื่อถึงช่วงหลังปี ค.ศ. 1920 แต่ละปีมีเรือเข้าเทียบท่าอย่างน้อย 600 ลำและยังมีลูกเรืออย่างต่ำก็ร่วมหนึ่งหมื่นคนติดตามมาด้วย คุณหลี่เหวินหวนอธิบายว่า ลูกเรือเหล่านี้คือกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาท่าเรือ อย่าดูถูกกำลังซื้อของบรรดาลูกเรือและจับกังท่าเรือเป็นอันขาด พวกเขามีเงินเดือนสูงมาก จึงกลายเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะแรกของเขตเหยียนเฉิง
ยุคสมัยแห่ง Sakariba
ในอดีตนักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการพัฒนาท้องถิ่นจากมุมมองของ “การผลิต” แต่หลี่เหวินหวนมีความเห็นว่า เหยียนเฉิงเหมาะที่จะมองจากมุมของ “การบริโภค” มากกว่า เขาอ้างอิงทฤษฎี Sakariba ของ Kazuteru Okiura ซึ่งเป็นนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่ระบุว่า “Sakariba หมายถึง ย่านการค้าที่เสนอบริการและความบันเทิง เป็นศูนย์รวมธุรกิจประเภทต่าง ๆ อาทิ ธุรกิจกลางคืน ธุรกิจบริการและห้างสรรพสินค้า”
คุณหลี่เหวินหวนได้ทำการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ในหลากหลายมิติ ตั้งแต่วิวัฒนาการของอาหารการกิน ความหลากหลายของกิจกรรมนันทนาการ และห้างสรรพสินค้าที่หรูหรา เพื่อนำมาใช้อธิบายภาพลักษณ์ของ Sakariba ในเหยียนเฉิง
การพัฒนาท่าเรือนำมาซึ่งการเติบโตของประชากรและกระตุ้นให้มีการก่อตั้งตลาดเทศบาลแห่งใหม่ขึ้น อีกทั้งการปรากฏตัวของถนนสายอาหารก็ถือเป็นดัชนีที่บ่งชี้ถึงวัฒนธรรมการกินอาหารนอกบ้านและอาหารสำหรับการนันทนาการ นอกจากนี้ การที่ภัตตาคารให้ความสำคัญกับพื้นที่สำหรับจัดการแสดง ส่งผลให้มีลูกค้าหลั่งไหลเข้ามาอย่างเนืองแน่น ซึ่งก็ทำให้การกินอาหารไม่ได้เป็นเพียงแค่เพื่อให้อิ่มท้องเท่านั้น แต่ได้พัฒนาไปสู่ความเป็นวัฒนธรรมโดยปริยาย
กาแฟก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตของชาวเกาสงในยุคทศวรรษ 1930 ร้านกาแฟส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตเหยียนเฉิง โดยยุคที่บูมถึงขีดสุดมีมากถึง 21 ร้าน ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวันในเขตเหยียนเฉิงมีโรงละครมากถึง 4 แห่ง ได้แก่ โรงละคร Takao โรงละครจินจือ โรงละครเหยียนเฉิง และโรงละครโชวะ ภาพยนตร์และความบันเทิงกระตุ้นให้เกิดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าแฟชั่น
ในเขตเหยียนเฉิงมีอาคารหลังหนึ่งชื่อ Takao Ginza (ปัจจุบันคืออาคาร International Market) ถือเป็นย่านกินซ่า (Ginza เป็นแหล่งชอปปิงที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น) ของเกาสง มีสินค้าจำหน่ายมากมายจนละลานตาและการเปิดตัวขึ้นของห้าง Yoshii ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของเกาสงในปี ค.ศ.1938 ขนาดและความหรูหราเทียบเท่าห้าง Kikumoto กรุงไทเป และห้าง Hayashi นครไถหนาน จึงได้ชื่อว่าเป็น 3 ห้างใหญ่ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ก็ยิ่งดันให้การบริโภคในเหยียนเฉิงก้าวไปสู่จุดสูงสุด
สาเหตุที่คุณชิวเฉิงฮั่นกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม เป็นเพียงแค่ความห่วงกังวล เขาพูดว่า“เหมือนกับว่าเหยียนเฉิงที่เคยชอบในสมัยที่เป็นเด็กได้สูญหายไปแล้ว”
ของแปลกพิสดารมากมายในร้านรื้อเรือโบราณ
อุตสาหกรรมรื้อเรือได้ชื่อว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เหยียนเฉิง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีเรือจมอยู่ใต้ท่าเรือเกาสงมากมาย ในขณะนั้นรัฐบาลอนุญาตให้ภาคเอกชนกู้ซากเรือจากใต้ทะเล นำมารื้อและแยกชิ้นส่วนเรือเพื่อนำไปขายต่อได้ เรือเหล่านี้ถูกแยกชิ้นส่วนและขายต่อให้แก่ผู้ที่มีความต้องการ ถือเป็นต้นกำเนิดอุตสาหกรรมรื้อเรือในเกาสง ต่อมาผู้ประกอบการมองเห็นกำไรอันงดงามจากอุตสาหกรรมรื้อเรือ จึงมีการนำเข้าเรือที่ไม่ใช้แล้วจากต่างประเทศมาแยกชิ้นส่วนเพื่อขายต่อ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมรื้อเรือในเกาสงเฟื่องฟูเป็นเวลานานกว่า 20 ปี
คุณหวงเต้าหมิง (黃道明) นักสะสมของเก่าเปิด “ร้านของเก่านักเดินเรือ” (航海雚董轖行) ที่ริมฝั่งแม่น้ำอ้ายเหอ ให้สัมภาษณ์แก่ทีมงานไต้หวันพาโนรามาว่า “ผมทำอาชีพนี้มานานกว่า 50 ปีแล้ว” เขาเล่าว่า ในบรรดาของเก่าที่เขาสะสมไว้ สิ่งที่พบเห็นได้ยากที่สุดก็คือ นาฬิกาดาราศาสตร์และเครื่องวัดแดด (sextant) เขาหยิบกล่องไม้กล่องหนึ่งออกมา มันคือนาฬิกาดาราศาสตร์ที่ผลิตในปี ค.ศ. 1898 “สมัยก่อนไม่มี GPS เวลาเรือจะแล่นออกจากท่าเรือจะต้องใช้นาฬิกาดาราศาสตร์และเครื่องวัดแดด เพื่อตรวจวัดเส้นทางเดินเรือว่าเบี่ยงเบนหรือไม่”
นอกจากอุปกรณ์นำทางซึ่งเป็นเครื่องมือเฉพาะทางสำหรับการเดินเรือแล้ว คุณหวงเต้าหมิงยังแนะนำของรักของหวงที่สะสมไว้ว่า “นี่คือหมวกดำน้ำที่ชาวญี่ปุ่นทิ้งไว้ เข็มทิศ หวูดที่ผลิตโดยแต่ละประเทศ โคมไฟส่องค้นหา เครื่องสั่งจักร ฯลฯ”
ย่านการค้าที่บอกเล่าเรื่องราวของท่าเรือ
ในยุคทศวรรษ 1950 สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือด้านการป้องกันประเทศแก่ไต้หวัน ทำให้มีเรือรบของสหรัฐอเมริกา เข้ามาจอดเทียบท่าเรือเกาสง ส่งผลให้เหยียนเฉิงกลายเป็นสถานที่พักผ่อนในช่วงวันหยุดของทหารอเมริกัน ถนนชีเสียนซานที่ตัดตรงจากเขตเหยียนเฉิงไปยังท่าเรือเกาสงถูกขนานนามว่า “ถนนบาร์” ถนนเส้นนี้ได้กระตุ้นให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจเครื่องแต่งกาย รวมถึงธุรกิจบันเทิงในพื้นที่ที่อยู่รายรอบ
เนื่องจากความพิเศษของสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจบนเกาะไต้หวันในขณะนั้น ทำให้รัฐบาลควบคุมการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและใช้ระบบจัดเก็บภาษีศุลกากรสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศในอัตราสูง แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นการไหลเวียนของผู้คนและสินค้าได้ เขตเหยียนเฉิงที่อยู่ใกล้ท่าเรือ จึงมีกะลาสีเรือลักลอบพกพาสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาเพื่อขายต่อ อันเป็นที่มาของ “สินค้านำเข้าทางเรือ” ที่เริ่มปรากฏตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ หากต้องการหาสินค้าที่ทันสมัยที่สุด แน่นอนว่าต้องมาที่เหยียนเฉิงเท่านั้น
คุณชิวเฉิงฮั่น (邱承漢) ผู้ก่อตั้ง “3080s Local Style” ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมเมื่อปี ค.ศ. 2011 ได้ค้นพบสิ่งที่น่าสนใจในย่านการค้าในระหว่างที่เขาทำการสำรวจภาคสนามโดยสัมภาษณ์เพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียง อย่างถนนซินเล่อ ซึ่งเป็นย่านร้านทองที่มีชื่อเสียง ทำไมร้านทองจึงกระจุกตัวกันอยู่บริเวณใกล้ท่าเรือ คำตอบที่คุณชิวเฉิงฮั่นได้รับก็คือ “เพราะแถวนี้อยู่ใกล้ท่าเรือ การแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด” ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารถูกปิดกั้น ท่าเรือมีเรือแล่นไป-กลับฮ่องกงทุกวัน ทำให้สามารถได้รับข่าวสารข้อมูลด้านปริวรรตเงินตราต่างประเทศและราคาทองคำล่าสุดได้ในทันที คุณหลี่เหวินหวนยังเล่าว่า ที่นี่คือสถานที่ให้สินเชื่อแก่กะลาสีเรือก่อนออกทะเลเพื่อให้นำสินค้าจากต่างประเทศที่หนีภาษีเข้ามา
คุณยายของชิวเฉิงฮั่นเคยเดินทางไปเรียนการทำผมและออกแบบชุดเจ้าสาวที่ญี่ปุ่นก่อนจะกลับมาเปิดร้านเสริมสวยในไต้หวันชื่อ “เจิ้งเหม่ยบิวตี้ซาลอน” ที่ถนนอู่ฝูซื่อลู่ ตอนที่เปิดร้านใหม่ ๆ รับทำผมเป็นหลัก รายได้ในช่วงแรกอาศัยบรรดา bar girl แต่ในช่วงหลังผลประกอบการมาจากชุดวิวาห์สไตล์ตะวันตก เนื่องจากเจิ้งเหม่ยบิวตี้ซาลอนตั้งอยู่ตรงข้ามกับตลาดคูเจียงซึ่งเป็นศูนย์รวมแฟชั่นในเขตภาคใต้ของไต้หวัน คู่บ่าวสาวที่กำลังเตรียมตัวแต่งงานจะต้องไปที่ถนนซินเล่อเพื่อหาซื้อทองรูปพรรณและของขวัญ 12 อย่างที่เจ้าสาวต้องเตรียมมอบให้แก่เจ้าบ่าว แต่ก็มักจะถูกชุดวิวาห์แสนสวยและประณีตในตู้กระจกหน้าร้านเจิ้งเหม่ยบิวตี้ซาลอนดึงดูด เมื่อร้านมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นก็มีลูกค้าจากต่างถิ่นจำนวนมากตั้งใจเดินทางมาเช่าชุดวิวาห์เป็นการเฉพาะ
คุณชิวเฉิงฮั่นกล่าวว่า “คุณจะพบว่าร้านค้าที่นี่ก็เหมือนกับทฤษฎีหกช่วงคน (Six Degrees of Separation) ไม่ว่าจะเชื่อมโยงกันยังไงก็ล้วนเกี่ยวพันกับท่าเรือทั้งนั้น”
ก้าวสู่การเป็นเมืองแห่งท้องทะเล
นี่คือวิถีชีวิตชาวท่าเรือที่คุณชิวเฉิงฮั่นถวิลหา เขากล่าวถึงเหตุผลที่กลับสู่ภูมิลำเนาเดิมว่า “ตอนแรกก็คิดง่าย ๆ เพียงแค่ว่า เหยียนเฉิงที่เคยชอบเมื่อสมัยที่ยังเป็นเด็ก เหมือนกับได้สูญหายไปแล้ว”
ร้านของคุณยายถูกปล่อยทิ้งร้าง เพราะในทศวรรษที่ 1990 ได้เปลี่ยนไปทำธุรกิจด้านการส่งออก คุณชิวเฉิงฮั่นได้ทำการตกแต่งขึ้นใหม่ นอกจากอนุรักษ์พื้นที่และร่องรอยทางประวัติศาสตร์เอาไว้ ยังได้ตั้งชื่อร้านใหม่ว่า “3080s Apartment” 30 และ 80 หมายถึงทศวรรษ 1930 และ 1980 ซึ่งเป็นทศวรรษที่คุณยายและตนเองถือกำเนิด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น 3080s Local Style) เป็นสัญลักษณ์ของการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น
หลังกลับบ้านเกิด เขาพบภาวะขาดสมดุลของเหยียนเฉิง ผู้คนมองว่าของใหม่ดีกว่าของเก่า ของเก่าจึงสูญหายไป นอกจากนี้ทรัพยากรจำนวนมหาศาลถูกอัดฉีดให้แก่ศูนย์ศิลปะ Pier 2 Art Center ส่วนย่านเมืองเก่าที่ในอดีตเคยมีผู้คนคึกคักกลับแทบจะไม่มีใครสนใจ เขาเกิดความคิดที่จะปรับปรุง “ตลาดค้าปลีกแห่งแรกของเหยียนเฉิง” เพื่อสร้างนัยสำคัญและประโยชน์ใช้สอยในยุคใหม่ให้แก่พื้นที่เก่า
เริ่มแรกคุณชิวเฉิงฮั่นได้เช่าแผงลอยแห่งหนึ่งในตลาดสำหรับเปิดแผงขายสินค้ามือสอง โดยใช้ชื่อว่า “แผง 3080s” เพื่อให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดแห่งนี้ก่อน จากนั้นจึงทำการสื่อสารด้านอุดมการณ์กับเจ้าของแผงขายสินค้าในตลาด แล้วจึงให้ทีมงานเข้ามาเช่าแผงลอยเจ้าอื่นๆ ก่อนจะเปิดรับสมัครและคัดเลือกคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาเปิดแผงขายสินค้ามากขึ้น ทำให้ข้าง ๆ เขียงหมูในตลาดสดแบบดั้งเดิม มีแผงขายอาหารฟิวชันมาเปิดขายลูกชิ้นปลาทอดและยังสามารถนั่งดื่มสักจอกหรือจะกัดโรตีแบบต่างชาติคำใหญ่ ๆ สักคำก็ได้ “ตลาดสำหรับคนรุ่นใหม่และผู้สูงอายุ” แห่งนี้ สามารถดึงดูดให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่ยินดีที่จะเดินเข้ามาในตลาดสดแบบดั้งเดิมมากขึ้น
ปี ค.ศ. 2020 คุณชิวเฉิงฮั่นพบว่าอาคาร Takao Ginza มีพื้นที่ที่เหมาะแก่การพัฒนาเป็นที่พักอาศัยเชิงพาณิชย์ภายใต้ชื่อ “House of Takao Ginza” ถือเป็นการทดสอบความเป็นไปได้ของการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เก่า จากความพยายามของ 3080s Local Style ทำให้เหยียนเฉิงไม่ต้องรื้ออาคารเก่าทิ้งอีกต่อไป แต่กลับกลายเป็นว่า มีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เข้ามาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้แก่พื้นที่เก่า รวมถึงยินดีที่จะก้าวเข้าสู่เขตเมืองเก่าเพื่อทำความรู้จักและสัมผัสกับบรรยากาศในเหยียนเฉิงที่หลอมรวมสิ่งเก่าและสิ่งใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว
ที่เล่ามาตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ ไม่ทราบว่าทำให้คุณเกิดความรู้สึกอยากไปเยือนเหยียนเฉิงสักครั้งหรือไม่? คุณสามารถนั่งรถไฟฟ้ารางเบาไปลงที่ Kaohsiung Music Center จากนั้นให้เดินจากศูนย์ศิลปะ Pier 2 Art Center ไปยังย่านเมืองเก่าของเกาสง หรือล่องเรือออกทะเลไปเพื่อชมทิวทัศน์ของท่าเรือเกาสง หรือจะเดินเล่นริมท่าเรือก็ได้ เพราะมันจะทำให้คุณสัมผัสได้ถึงความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดระหว่างท่าเรือกับวิถีชีวิตของผู้คน
เพิ่มเติม
เหยียนเฉิง : ย่านการค้า ที่ถือกำเนิดจากท่าเรือ กับความสง่างามที่ผสมผสาน ความเก่าและใหม่อย่างลงตัว