ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เมืองที่ทะยานขึ้นจากแผนที่โบราณ ความสงบและผ่อนคลายในซินกั่งของเจียอี้
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2024-04-22

บ้านโบราณ “เผยกุ้ยถัง” โบราณสถานของเมืองเจียอี้ เป็นบ้านประจำตระกูลของอาจารย์หลินหวยหมิน ผู้ก่อตั้งคณะ Cloud Gate เสริมสร้างบรรยากาศแห่งศิลปวัฒนธรรมของซินกั่ง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้

บ้านโบราณ “เผยกุ้ยถัง” โบราณสถานของเมืองเจียอี้ เป็นบ้านประจำตระกูลของอาจารย์หลินหวยหมิน ผู้ก่อตั้งคณะ Cloud Gate เสริมสร้างบรรยากาศแห่งศิลปวัฒนธรรมของซินกั่ง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้
 

ชื่อของตำบลซินกั่งในเมืองเจียอี้ ปรากฏอยู่บนแผนที่โบราณมาตั้งแต่เมื่อ 400 กว่าปีก่อน หลังผ่านเหตุการณ์มากมาย ทั้งอุทกภัย แผ่นดินไหว และการโยกย้ายถิ่นฐาน ทำให้มีการเปลี่ยนผ่านจากการเป็นท่าเรือพาณิชย์มาสู่ความเป็นหมู่บ้านเกษตรกร เหล่าผู้มาเยือนซินกั่งจะมีโอกาสได้ชื่นชมกับความวิจิตรของงานหัตถศิลป์ ผ่านการเที่ยวชมศาลเจ้าเก่าแก่หรือไปเที่ยวชมบ้านโบราณ “เผยกุ้ยถัง” (培桂堂) ซึ่งเป็นบ้านประจำตระกูลของอาจารย์หลินหวยหมิน ผู้ก่อตั้งคณะ Cloud Gate อันโด่งดัง ลองชิมกาแฟในบ้านโบราณแห่งนี้สักถ้วย หรือไปลองค้นหาสิ่งละอันพันละน้อยที่แอบซ่อนอยู่ในเมืองเก่าแก่ เพื่อสัมผัสกับเสน่ห์ของเมืองเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวเมือง

 

ในวันหยุด บนถนนจงซานลู่ที่อยู่ด้านหน้าของศาลเจ้าฟ่งเทียนกง (奉天宮) เราจะได้ยินเสียงประทัดดังขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ตามขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่ซึ่งเดินทางกลับมายังศาลเจ้าเดิม เมื่อพูดถึงซินกั่ง ก็อดไม่ได้ที่จะพูดถึงศาลเจ้าฟ่งเทียนกง ซึ่งนอกจากจะมีขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่จากศาลเจ้าเจิ้นหลันกงแล้ว ในแต่ละปีจะมีขบวนแห่ของเจ้าแม่ที่มีการแบ่งภาคไปยังศาลเจ้าน้อยใหญ่ทั่วไต้หวันมากกว่า 5,000 แห่ง เดินทางกลับมาเซ่นไหว้ที่นี่ ทำให้มีความคึกคักเป็นอย่างมาก

 

ลิตเติลไต้หวันแห่งศตวรรษที่ 18

ปัจจุบัน ซินกั่งคือศูนย์กลางสำคัญด้านศาสนาและวัฒนธรรม แต่เมื่อ 400 ปีก่อน ชื่อของซินกั่งเคยปรากฏบนแผนที่โบราณ ในฐานะที่เป็นท่าเรือสำคัญ ศาสตราจารย์หวงอาหยิ่ว (黃阿有) แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเจียอี้ กล่าวว่า พื้นที่แถบซินกั่งของเจียอี้ ในสมัยก่อนเรียกว่า “เปิ้นกั่ง” เมื่อครั้งที่ Mr. Moses Claesz Comans นักสำรวจชาวฮอลแลนด์ทำการวาดแผนที่ขนาดใหญ่ของไต้หวันในปี ค.ศ. 1623 ได้กล่าวถึงชื่อของพื้นที่ริมฝั่งทางทิศใต้ของแม่น้ำเปิ้นกั่งซีว่า Pankam ที่นี่เป็นจุดขึ้นบก ถือเป็นเส้นทางสำคัญที่ชาวฮอลแลนด์ใช้ในการเดินทางขึ้นเหนือ โดยในช่วงที่ราชวงศ์ชิงปกครองไต้หวันไปจนถึงก่อนปี ค.ศ. 1784 เปิ้นกั่ง คือฮับสำคัญในการขนส่งสินค้าข้าวระหว่างจูหลัว (ปัจจุบันคือเมืองเจียอี้) ไปยังลู่เอ่อเหมินที่อยู่ในแถบไถหนาน ทำให้การค้าในบริเวณนี้มีความคึกคักเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ราชสำนักชิงมีการจัดตั้งจวนผู้ว่าการประจำเปิ้นกั่งขึ้นด้วย
 

ศาลเจ้าฟ่งเทียนกง ไม่เพียงแต่จะเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวซินกั่ง แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของเมืองด้วย

ศาลเจ้าฟ่งเทียนกง ไม่เพียงแต่จะเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวซินกั่ง แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ของเมืองด้วย
 

ความเปลี่ยนแปลงของซินกั่ง

ท่าเรือได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับเปิ้นกั่งในสมัยก่อนเป็นอย่างมาก มีร้านค้าเปิดขึ้นอย่างคึกคักบนถนนเปิ้นกั่งหนานเจีย ก่อนปี ค.ศ. 1784 ในบรรดาเมืองที่อยู่ติดชายฝั่งของไต้หวันในสมัยราชวงศ์ชิง ความคึกคักของที่นี่เป็นรองเพียงไถหนาน ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดและเป็นเสมือนเมืองหลวงของไต้หวันในขณะนั้น ทำให้ที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เสี่ยวไถวัน หรือ ลิตเติลไต้หวัน” ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 แม่น้ำเป๋ยกั่งมักจะมีน้ำหลาก ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่บนถนนเปิ้นกั่งหนานเจียพากันย้ายถิ่นฐานไปทางตะวันออก ซึ่งห่างออกไปประมาณ 3-4 กิโลเมตรในบริเวณแถบหมาหยวนเหลียว ก่อนจะตั้งชื่อขึ้นใหม่ว่า “ซินกั่ง” ซึ่งมีพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้การทำการเกษตรบนพื้นที่แถบนี้มีความคึกคักมากขึ้น ผลผลิตทางการเกษตรส่วนใหญ่ในยุคแรก มีทั้งอ้อย ถั่วลิสง งา และหน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น

 

เจ้าแม่ฉวนไจ่มา→ศาลเจ้าเทียนเฟยเมี่ยว→ศาลเจ้าเปิ้นกั่งเทียนโห้วกง→ศาลเจ้าฟ่งเทียนกง

ศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงของซินกั่ง คือศาลเจ้าฟ่งเทียนกง ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ เหล่าบรรพชนที่อพยพข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองจีนมายังไต้หวันในปี ค.ศ. 1622 ได้อัญเชิญ “เจ้าแม่ฉวนไจ่มา” ให้ลงเรือมาด้วย ก่อนที่องค์เจ้าแม่จะชี้แนะให้ตั้งศาลบริเวณเปิ้นกั่ง ในปี ค.ศ. 1700 ชาวบ้านจึงตั้งศาลเจ้าเทียนเฟยเมี่ยวขึ้น ศาสตราจารย์หวงอาหยิ่ว กล่าวว่า นี่คือศาลเจ้าแม่มาจู่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในแถบจูหลัว ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นศาลเจ้าเปิ้นกั่งเทียนโห้วกงในภายหลัง

หลังจากนั้น น้ำหลากจากแม่น้ำเป๋ยกั่งได้ท่วมมาจนถึงศาลเจ้าเทียนโห้วกง ชาวบ้านจึงย้ายศาลเจ้าไปทางตะวันออกและสร้างขึ้นใหม่ในแถบซินกั่ง ก่อนจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1813 กลายเป็นศาลเจ้าฟ่งเทียนกง เนื่องจากองค์เจ้าแม่องค์นี้ ได้ช่วยปกปักรักษาเหล่าบรรพบุรุษที่มาบุกเบิกพื้นที่ในแถบเปิ้นกั่ง จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “เจ้าแม่มาจู่ยุคบุกเบิก” ต่อมาในปี ค.ศ. 1906 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นที่เมืองเจียอี้ ทำให้ศาลเจ้าฟ่งเทียนกงพังเสียหายเกือบทั้งหมด หลินปั๋วฉี (林伯奇) กรรมการบริหารของศูนย์เอกสารและการวิจัยวัฒนธรรมมาจู่โลก (World Mazu Culture Research and Document Center) กล่าวว่า แม้ว่าในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน รัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามผลักดันและส่งเสริมความเป็นญี่ปุ่น เพื่อยับยั้งความเชื่อในแบบดั้งเดิมของไต้หวัน แต่ก็ยังเปิดให้ศาลเจ้าฟ่งเทียนกงสามารถเปิดรับเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาได้ ก่อนที่การก่อสร้างศาลเจ้าฟ่งเทียนกงจะแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1918 ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ชาวซินกั่งมีความผูกพันกับเจ้าแม่มาจู่เป็นอย่างมาก
 

“ฝูงปักษาล้อมหงส์” ผลงานของอาจารย์เฉินจงเจิ้ง แสดงให้เห็นถึงสถานะอันสูงส่งของหงส์

“ฝูงปักษาล้อมหงส์” ผลงานของอาจารย์เฉินจงเจิ้ง แสดงให้เห็นถึงสถานะอันสูงส่งของหงส์
 

การบูรณปฏิสังขรณ์ศาลเจ้า กระตุ้นกระแสหัตถศิลป์พื้นบ้าน

เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 9 กันยายน และวันที่ 10 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1999 ทำให้ศาลเจ้าฟ่งเทียนกงเสียหายอย่างหนัก ทางศาลเจ้าจึงได้เชิญเหล่าช่างศิลป์ในระดับศิลปินแห่งชาติมาช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ศาลเจ้าขึ้นใหม่ ทั้งในส่วนของงานแกะสลักไม้ จิตรกรรมฝาผนัง การตัดแปะกระเบื้องเซรามิก และเครื่องปั้นดินเผาโคชิน ซึ่งนายช่างแต่ละท่านต่างแสดงฝีมือประชันกันอย่างเต็มที่ จนทำให้ศาลเจ้ามีความวิจิตรตระการเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น การที่ศาลเจ้าฟ่งเทียนกงต้องผ่านการบูรณะซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง ทำให้มีความต้องการช่างศิลป์สูงมาก ทั้งในด้านการตัดแปะกระเบื้องเซรามิก และเครื่องปั้นดินเผาโคชิน จนทำให้ซินกั่งกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของการตัดแปะกระเบื้องเซรามิก และเครื่องปั้นดินเผาโคชิน หลินปั๋วฉีกล่าวว่า “ปัจจุบันนี้ วัสดุสำหรับการทำเครื่องปั้นดินเผาโคชินและคีมสำหรับการตัดแปะ มีขายเฉพาะที่ซินกั่งเท่านั้น”

ศาสตราจารย์เหอเหวินหลิงแห่งภาควิชาทัศนศิลป์ของมหาวิทยาลัยเจียอี้ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “บันทึกการบูรณะศาลเจ้าฟ่งเทียนกง” ว่า สถาปัตยกรรมและงานศิลปะที่ใช้ในการตกแต่งศาลเจ้าฟ่งเทียนกง มีคุณค่าในทางศิลปะสูงมาก

 

จากเมืองแห่งการค้ากลายเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม

ซินกั่งในยุคราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงคือเมืองแห่งการค้าอันคึกคัก แต่หลังจากประชาชนพากันโยกย้ายถิ่นฐานไปทางตะวันออกแล้ว ก็กลายมาเป็นเมืองแห่งเกษตรกรรม ในสมัยก่อน สินค้าเกษตรที่สำคัญของไต้หวัน คือ หน่อไม้ฝรั่ง โดยซินกั่งเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ ปัจจุบัน ซินกั่งก็ยังคงเป็นเมืองสำคัญด้านเกษตรกรรมของเจียอี้ จากข้อมูลของเทศบาลเมืองเจียอี้ชี้ว่า ซินกั่งเป็นเขตที่มีผลผลิตข้าวสูงที่สุดในเจียอี้

นอกจากข้าวแล้ว ซินกั่งยังมีการปลูกพืชสวนในเรือนกระจก ซึ่งคุณเหอลี่จื๋อ (何麗質) หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสหกรณ์การเกษตรซินกั่ง กล่าวว่า ผักที่ปลูกในเรือนกระจก เช่น ผักบุ้ง ใบมัน และพริกหยวกหลากสี รวมถึงดอกลิเซียนเทียส ต่างก็เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญของซินกั่ง โดยเฉพาะผักบุ้งที่มีปริมาณการผลิตมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 60 ของปริมาณการซื้อขายในตลาดประมูลสินค้าเกษตรทั่วไต้หวันเลยทีเดียว

เพื่อสนับสนุนนโยบายของกรมการเกษตรและอาหารเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชแบบผสมผสาน สหกรณ์การเกษตรซินกั่งจึงได้ช่วยเหลือให้เกษตรกรในพื้นที่เปลี่ยนมาปลูกถั่วดำแทนการทำนาปรัง โดยผลผลิตถั่วดำที่ได้ สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำซีอิ๊ว น้ำเต้าหู้ หรืออาหารแปรรูปชนิดอื่น ซึ่งสามารถไปลองชิมรสชาติของสินค้าเกษตรแปรรูปสดใหม่ได้ที่ร้านอาหารโต้วสือถังของสหกรณ์การเกษตรซินกั่ง

นอกจากสินค้าเกษตรแล้ว ซินกั่งยังมีอาหารเลิศรสอีกมากมายนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะขนมซินกั่งอี๋ โดยซินกั่งตั้งอยู่ใกล้กับโรงงานน้ำตาลเป๋ยกั่งและโรงงานน้ำตาลซ่วนโถว หลูชีโถว (盧欺頭) ผู้คิดค้นลูกกวาดซินกั่งอี๋ ได้นำเอาน้ำตาล ถั่วลิสง และมอลต์ มาผสมคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นขนมชนิดนี้ ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าซวงเหรินรุ่น (雙仁潤) หลังจากที่ย้ายมาอยู่ที่ซินกั่งก็ได้เปิดร้านที่มีชื่อว่า “จินฉางลี่ (金長利)” ลูกกวาดชนิดนี้ จึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นซินกั่งอี๋ ก่อนจะออกปาเจียวอี๋ (ลูกกวาดกล้วยน้ำว้า) ตามออกมา ซึ่งต่างก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในช่วงต้นของยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน ขนมซินกั่งอี๋ได้ถูกนำไปประกวดที่ญี่ปุ่นและได้รับรางวัลหลายครั้ง จนทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่ว และกลายเป็นของฝากขึ้นชื่อของซินกั่งมาจนทุกวันนี้

ร้านซินกั่งเซวียนที่ตั้งอยู่ด้านหน้าศาลเจ้าฟ่งเทียนกง นอกจากจะขายขนมซินกั่งอี๋แล้ว ภายในร้านยังมีขายซินกั่ง ต้าปิ่ง ฮั่นปิ่ง จ้วงหยวนสีปิ่ง ตงกวาโร่วปิ่ง และเค้กอัลมอนด์ ซึ่งต่างก็เป็นรสชาติโบราณที่แสนอร่อย และเป็นสิ่งที่ทางศาลเจ้าจะซื้อเป็นของฝากติดมือไปพร้อมกับขบวนแห่เจ้าแม่มาจู่

นอกจากนี้ ร้านขายซุปเนื้อเป็ดที่อยู่บริเวณลานหน้าศาลเจ้าฟ่งเทียนกง มีเมนูเด็ดเป็นเนื้อเป็ดผัดหน่อไม้ฝอยกรอบก็หอมอร่อย จนทำให้เหล่านักท่องเที่ยวผู้มาเยือนต่างอดไม่ได้ที่จะต้องลองชิมกันสักชาม
 

เนื้อเป็ดผัดกับหน่อไม้ฝอยกรอบไฟแดง และซุปข้นเนื้อเป็ด ถือเป็นเมนูเด็ดของซินกั่ง

เนื้อเป็ดผัดกับหน่อไม้ฝอยกรอบไฟแดง และซุปข้นเนื้อเป็ด ถือเป็นเมนูเด็ดของซินกั่ง
 

มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมซินกั่ง ผู้นำแห่งการบุกเบิกและพัฒนาชุมนุม

ในยุคปี 1980 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจของไต้หวันพุ่งทะยาน ถือเป็นช่วงที่คนไต้หวันกำลังมีฐานะการเงินดีมาก และเป็นช่วงที่ผู้คนนิยมเล่นหวยใต้ดินผิดกฎหมายที่เรียกกัน “ต้าเจียเล่อ” คุณเฉินจิ่นหวง (陳錦煌) ที่เป็นหมอประจำท้องถิ่นเห็นว่า มีคนไข้จำนวนมากเล่นหวยใต้ดินกันจนมีอาการปวดหัว นอนไม่หลับ มีแต่ความวิตกกังวล ทำให้คุณหมอเฉินจิ่นหวงรู้สึกเป็นกังวลไม่น้อย จึงได้เชิญ อาจารย์หลินหวยหมิน คนซินกั่งซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคณะนักแสดง Cloud Gate ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ให้เดินทางกลับมาเปิดการแสดงที่บ้านเกิด

“ผมอยากให้เด็ก ๆ ในซินกั่งมีโอกาสได้ชมการแสดงศิลปะระดับโลก และรับมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต” คุณหมอเฉินจิ่นหวงที่เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมซินกั่งกล่าว ในขณะนั้นเป็นจังหวะที่พอดีกับที่ อาจารย์หลินหวยหมิน อยากจะเผยแพร่ศิลปะไปสู่ระดับรากหญ้า ทำให้ทั้งสองคนมีแนวคิดตรงกัน ร่วมกันผลักดันให้มีการก่อตั้งมูลนิธินี้ขึ้น

มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมซินกั่ง ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1987 ถือเป็นมูลนิธิระดับตำบลแห่งแรกของไต้หวัน เป็นผู้บุกเบิกในการก่อสร้างและพัฒนาชุมนุม เริ่มจากการนำศิลปวัฒนธรรมมาสู่ท้องถิ่น ด้วยการจัดรถหนังสือเคลื่อนที่ ขับตระเวนไปตามโรงเรียนของหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตชนบทห่างไกล ซึ่งปัจจุบันนี้ ได้เพิ่มบริการเหล่าผู้สูงอายุในหมู่บ้านต่าง ๆ ด้วย

ในอดีต ซินกั่งของเจียอี้ถือเป็นพื้นที่ซึ่งดนตรีเป๋ยก่วน (北管 ดนตรีและการแสดงละครแบบดั้งเดิมที่ได้รับความนิยมในไต้หวันเป็นอย่างมากในระหว่างศตวรรษที่ 17 ถึงกลางศตวรรษที่ 20) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนได้รับฉายาว่าเป็น “รังแห่งเป๋ยก่วน” แต่พัฒนาการแห่งยุคสมัยทำให้ความนิยมในด้านสันทนาการและความบันเทิงมีการเปลี่ยนแปลงไป จนเกิดเป็นช่องว่างทางวัฒนธรรมขึ้น มูลนิธิฯ จึงได้ช่วยเหลือ “ชมรมอู่ฟ่งเซวียน” ซึ่งเป็นคณะนักแสดงที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่น ในการรับสมัครสมาชิกใหม่ เพื่อช่วยต่ออายุให้กับชมรมด้านการแสดงที่มีอายุนานนับร้อยปี นอกจากนี้ ยังได้เริ่มฟื้นฟูการแสดงทางวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่ค่อย ๆ เลือนหายไปอย่างขบวนแห่ซ่งเจียงเจิ้น ร่วมกับโรงเรียนประถมศึกษากู่หมินกั๋วเสี่ยว

หลังจากการส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรม ก็มีการต่อยอดสู่การผลักดันด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างภูมิทัศน์สีเขียว มูลนิธิฯ ได้รวบรวมอาสาสมัครมาร่วมกันทำความสะอาดท้องถนน และปัดกวาดเศษประทัด อีกทั้งยังได้ใช้พื้นที่สวนผักของคุณแม่เฉินจิ่นหวง มาทำการเพาะกล้าปลูกต้นไม้ กลายเป็น “สวนเขียว” เพื่อใช้ตกแต่งสร้างความสวยงามให้กับซินกั่งด้วย

ในปี ค.ศ. 1982 เส้นทางรถไฟสายสุดท้ายของอุตสาหกรรมน้ำตาลในไต้หวัน คือ สายเจียเป๋ยกั่งของบริษัท Taiwan Sugar ได้ปิดตัวลง สถานีรถไฟซินกั่งถูกทิ้งให้รกร้าง มูลนิธิฯ ได้รวบรวมอาสาสมัครไปร่วมกันทำความสะอาดสถานีรถไฟซินกั่งของ Taiwan Sugar ก่อนจะก่อตั้งสวนรถไฟ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกในไต้หวันที่ใช้ชื่อรถไฟมาตั้งชื่อ ที่ด้านข้างของสวนสาธารณะคือหอพักพนักงานของ Taiwan Sugar ซึ่งได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็น “ร้านอาหารซินกั่ง” กลายเป็นร้านอาหารที่ชาวซินกั่งนิยมใช้ในการเลี้ยงรับรองแขกเป็นอย่างมาก

เพื่อรับมือกับปัญหาประชากรสูงวัยในพื้นที่ชนบท ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มูลนิธิฯ จึงได้ทำการปรับปรุงให้สวนเขียว กลายมาเป็น “สวนซู่หยวน” เพื่อใช้เป็นฐานสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพด้วย

 

การตัดถนนและการปรับปรุงบ้านเมือง

ถนนต้าซิงที่อยู่ด้านหลังของศาลเจ้าฟ่งเทียนกง (หรือที่เรียกว่าถนนหลัง) ถือเป็นถนนสายแรกของไต้หวัน ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันก่อสร้างและปรับปรุงตกแต่งให้สวยงาม หลังการปรับปรุง บรรยากาศของท้องถนนเต็มไปด้วยภาพแห่งการผสมผสานระหว่างความเก่าและใหม่ที่เข้ากันได้อย่างลงตัว มีทั้งร้านขายสมุนไพร ร้านโชห่วย ร้านซวงเสียซิง (雙協興) ที่เป็นร้านค้าอายุนับร้อยปี ซึ่งขายสินค้าเบ็ดเตล็ดและอาหารแห้ง รวมไปจนถึงร้านขายของติดตัวเจ้าสาว ถือเป็นถนนที่เหมาะสำหรับการเดินเที่ยวเล่นเป็นอย่างมาก

คุณหมอหลินไคไท่ ซึ่งเป็นคุณปู่ของอาจารย์หลินหวยหมิน ได้รับฉายาว่าเป็น “ยอดหมอนักกวี” คลินิกของคุณหมอหลินไคไท่ ตั้งอยู่บนถนนหลัง ลูกหลานตระกูลหลินต่างจดจำคำสั่งสอนของบรรพบุรุษที่ว่า “เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว” จึงได้บริจาคบ้านประจำตระกูลให้กับทางการ ซึ่งทางเทศบาลเมืองเจียอี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและทำการปรับปรุงก่อนจะเปิดให้เข้าชมได้ในปี ค.ศ. 2023
 

โรงงานซีอิ๊วหยวนฟา ผลิตซีอิ๊วเลิศรสโดยใช้ถั่วดำที่ปลูกในซินกั่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ

โรงงานซีอิ๊วหยวนฟา ผลิตซีอิ๊วเลิศรสโดยใช้ถั่วดำที่ปลูกในซินกั่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ
 

การเปิดตัวของ ¡§เผยกุ้ยถัง¡¨ บ้านตระกูลหลิน

ป้ายชื่อ “เผยกุ้ยถัง” เป็นลายมือของคุณหลินเหวยเฉา ซึ่งเป็นบิดาของคุณหมอหลินไคไท่ เป็นอาคารโบราณที่ก่อด้วยอิฐแดงแบบเรียบง่าย

ภายในไม่ได้มีการตกแต่งมากจนเกินควร ส่วนใหญ่จะเป็นภาพคัดลายมือของหลินเหวยเฉา หลินไคไท่ และหนังสือของคุณอาของอาจารย์หลินหวยหมิน “พื้นที่ข้างในสวยมาก สบาย เงียบสงบ เมื่อเดินเข้าไป น้อยคนนักที่จะพูดคุยกัน และยังมีบางคนที่นั่งอย่างเงียบสงบในห้องรับแขก การมีโอกาสได้นั่งเงียบ ๆ อย่างสงบ ถือเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ๆ”

ทางเดินด้านข้างริมห้องโถงใหญ่เผยกุ้ยถัง ทอดไปสู่สวนด้านหลังซึ่งมีร้านสตาร์บัคส์ตั้งอยู่ภายใน ภาพของบ้านโบราณ ต้นไม้เขียวขจี และกลิ่นหอมของกาแฟ ช่วยเพิ่มบรรยากาศแห่งศิลปวัฒนธรรมให้กับซินกั่งได้ไม่น้อย

ซินกั่ง ได้ผ่านบททดสอบอันโหดร้ายของวันเวลา ก่อนจะกลายมาเป็นชุมชนที่มีความทรหดและเปี่ยมด้วยความหลากหลาย หากต้องการทำความรู้จักกับเมืองแห่งนี้ วิธีที่ดีที่สุดคือเดินเล่นไปตามย่านต่าง ๆ อย่างสบาย ๆ เพื่อค้นหาเรื่องราวแห่งชีวิตใหม่ในเมืองเก่า

 

เพิ่มเติม

เมืองที่ทะยานขึ้นจากแผนที่โบราณ ความสงบและผ่อนคลายในซินกั่งของเจียอี้