ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์อินเดีย ชี้ การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นฉันทามติระดับสากลแล้ว
2024-04-15
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์อินเดีย ชี้ การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นฉันทามติระดับสากลแล้ว (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์ต่อสถานีโทรทัศน์อินเดีย ชี้ การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นฉันทามติระดับสากลแล้ว (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 13 เม.ย. 67
 
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Mr. Siddhant Sibbal ผู้สื่อข่าวฝ่ายต่างประเทศและกลาโหมแห่งสถานีโทรทัศน์ WION ของอินเดีย โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อินเดีย รวมถึงความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เป็นต้น โดยได้ทำการเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์และอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาบทสัมภาษณ์ถูกตีพิมพ์ลงบนหนังสือพิมพ์ DNA India ของอินเดีย และได้รับความสนใจในวงกว้างจากทั่วโลก
 
ในช่วงแรก รมว.อู๋ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อนายนเรนทรา โมที (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีของอินเดีย สำหรับความห่วงใยต่อเหตุแผ่นดินไหวในเมืองฮัวเหลียน โดยเฉพาะระยะนี้เป็นช่วงที่อินเดียกำลังอยู่ระหวางการจัดการเลือกตั้งทั่วไป แต่ นรม.โมที ก็ยังคงไม่ลืมที่จะแสดงความห่วงใยและให้การสนับสนุนไต้หวันผ่านโซเชียลมีเดีย  สร้างความประทับใจให้ประชาชนชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อินเดีย นับวันยิ่งเป็นไปอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลอินเดียได้แสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันบ่อยครั้ง โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านกิจการแรงงาน นอกจากนี้ สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำกรุงมุมไบ ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ จะเริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลให้ความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายได้รับการส่งเสริมให้เป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน - อินเดีย เป็นไปในหลากหลายมิติ อาทิ เทศกาลแห่งแสงสว่าง (Diwali) เทศกาล Holiday ของอินเดีย และเทศกาลภาพยนตร์อินเดียในไต้หวัน ต่างก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในด้านเศรษฐกิจและการค้า ปัจจุบัน มูลค่าการค้าระหว่างกันมีมูลค่ารวมมากกว่า 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว อีกทั้งความร่วมมือด้านกิจการแรงงานยังดำเนินไปในทิศทางที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วย โดยในช่วงหลายปีมานี้ การพัฒนาด้านเซมิคอนดักเตอร์เป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก อุปทานของแผ่นชิประดับสูงมากกว่าร้อยละ 90 ถูกผลิตขึ้นในไต้หวัน และยังมีอุปทานที่เพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนมากในตลาดโลก ซึ่งในระหว่างที่กลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้า ก็ได้พุ่งเป้าไปที่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศที่ยึดมั่นในหลักแห่งประชาธิปไตยและมีแรงงานที่มีคุณภาพจำนวนมหาศาล จึงถือเป็นตัวเลือกที่สามารถมาแทนที่จีนได้ในลำดับต้นๆ โดยบริษัท Powerchip Semiconductor Manufacturing Corporation (PSMC) ของไต้หวันจะประสานความร่วมมือกับบริษัท Tata Electronics ของอินเดีย เพื่อร่วมจัดตั้งโรงงานผลิตแผ่นเวเฟอร์ขนาด 12 นิ้วขึ้นเป็นแห่งแรกในอินเดีย ซึ่งจะถือเป็นหลักชัยใหม่ของความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วย
 
สำหรับประเด็นความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและสถานการณ์ในอินโด – แปซิฟิก รมว.อู๋ฯ เห็นว่า สงครามลูกผสมอย่างกลยุทธ์พื้นที่สีเทาที่จีนนำมาใช้ต่อไต้หวัน ทำให้นอกจากไต้หวันจะมุ่งยกระดับแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองแล้ว ยังมุ่งประสานความาร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เนื่องจากจีนได้ทะลวงผ่านพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 ในการแผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก และยังได้แสดงอำนาจผ่าน “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” (string of pearls) ในพื้นที่แถบมหาสมุทรอินเดียแล้ว ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจึงควรที่จะประสานสามัคคีในการสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ อินเดียนับเป็นประเทศสมาชิกสำคัญของ “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ (QUAD)” และมีความร่วมมือกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ยังได้ร่วมปฏิบัติภารกิจ “รักษาเสรีภาพในการเดินเรือ” ในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ในภูมิภาคของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่สำคัญๆ “สันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน มีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก” จึงถือเป็นฉันทามติที่สำคัญในระดับสากลแล้ว
 
ต่อกรณีที่นายหม่าอิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พบปะพูดคุยกันในกรุงปักกิ่ง รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตยให้ความเคารพต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม ประชาชนชาวไต้หวันกว่าร้อยละ 80 ต่างให้การสนับสนุนการธำรงรักษาสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ คำพูดที่จีนกล่าวอ้างว่า สองฝั่งช่องแคบไต้หวันจะรวมกันเป็นหนึ่งในท้ายที่สุด จึงไม่สอดคล้องต่อความคิดเห็นตามกระแสหลักในสังคมไต้หวัน เนื่องจากชาวไต้หวันส่วนมากไม่ยอมรับการปกครองจากจีน
 
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังกล่าวถึงภัยคุกคามต่อการเลือกตั้งที่เกิดจากการเผยแพร่ข่าวปลอมของจีน พร้อมกล่าวว่า ไต้หวันยินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์การรับมือต่อข่าวปลอมในการเลือกตั้งทั่วไปที่ไต้หวันเพิ่งปิดฉากลงไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้อินเดียใช้สำหรับการอ้างอิง ตลอดจนเห็นว่า ความร่วมมือด้านการสกัดกั้นข่าวปลอม อาจเป็นอีกหนึ่งสาขาความร่วมมือในบริบทใหม่ ระหว่างทั้งสองฝ่ายในภายหน้าต่อไป