ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันให้ความเห็นต่อแถลงการณ์หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 ย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การอนามัยโลกอย่างมีความหมาย
2024-04-22
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันให้ความเห็นต่อแถลงการณ์หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 ย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การอนามัยโลกอย่างมีความหมาย (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กต.ไต้หวันให้ความเห็นต่อแถลงการณ์หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 ย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การอนามัยโลกอย่างมีความหมาย (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 เม.ย. 67
 
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) มีกำหนดการจัดขึ้น ณ เกาะคาปรี (Capri) ของอิตาลี ในช่วงระหว่างวันที่ 17 – 19 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุม ได้มีการประกาศแถลงการณ์ร่วมย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันว่า เป็นปัจจัยสำคัญในด้านความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลก พร้อมเรียกร้องให้สองฝั่งช่องแคบไต้หวันมุ่งแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ตลอดจนสนับสนุนให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมาย ซึ่งครอบคลุมถึงการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) และองค์การอนามัยโลก (WHO) กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง สำหรับความสนับสนุนที่กลุ่มประเทศสมาชิก G7 มีต่อสันติภาพ เสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน และการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน ด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง
 
แถลงการณ์ข้างต้นยังได้มีการประณามพฤติกรรมของอิหร่านที่บุกโจมตีอิสราเอลในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา รวมไปถึงการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นอกจากนี้ ในแถลงการณ์ยังย้ำด้วยว่า กลุ่มประเทศ G7 มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ระบุถึงคำมั่นสัญญาที่มีต่อภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกอันเสรีและเปิดกว้าง พร้อมทั้งแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันด้วยกำลังอาวุธและแรงกดดัน ตลอดจนต่อต้านพฤติกรรมของจีนที่มุ่งขัดขวางเสรีภาพการเดินเรือในน่านน้ำสากลอย่างต่อเนื่อง
 
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 ซึ่งมีการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ในเมืองคอร์นวอลล์ (Cornwall) ประเทศอังกฤษเป็นต้นมา กลุ่มประเทศสมาชิก G7 ต่างก็แสดงจุดยืนให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ด้วยการประกาศแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมเป็นจำนวนบ่อยครั้งในช่วงตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองทั่วโลก มีความเกี่ยวพันที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ไต้หวันในฐานะที่มีความสำคัญต่อภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก และเป็นหนึ่งในประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ จะมุ่งสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศ G7 และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันต่อไป เพื่อร่วมปกป้องเสรีภาพและการเปิดกว้างในพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศบนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ตลอดจนประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ในการเสริมสร้างความทรหดของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก อันจะเป็นการส่งเสริมให้ประชาธิปไตย เสรีภาพ หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป