ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมนานาชาติเพื่อตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ” (ICERD)
2024-04-23
New Southbound Policy。นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมนานาชาติเพื่อตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ” (ICERD) (ภาพจากสภาบริหาร)
นรม.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมนานาชาติเพื่อตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ” (ICERD) (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 22 เม.ย. 67
 
เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา นายเฉินเจี้ยนเหริน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุมนานาชาติเพื่อตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้ “อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (ICERD)” โดยนรม.เฉินฯ กล่าวว่า ไต้หวันมุ่งมั่นพัฒนาและผลักดันสิทธิมนุษยชนอย่างกระตือรือร้นเสมอมา โดยในปัจจุบัน มีอนุสัญญา 6 ฉบับภายใต้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้รับการบัญญัติเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ภายในไต้หวันแล้ว นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน” ขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของสภาตรวจสอบ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อส่งเสริมให้กลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยสภาบริหารไต้หวันรับหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการประกาศแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนต่อสาธารณชน โดย นรม.เฉินฯ ย้ำว่า แม้ไต้หวันจะมิใช่ส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศสมาชิกสหประชาชาติ แต่ได้จัดตั้งกลไกการพิจารณารายงานแห่งชาติขึ้น ด้วยความสมัครใจอย่างเป็นรูปธรรม โดยการประชุมเพื่อตรวจสอบรายงานแห่งชาติ ภายใต้อนุสัญญา ICERD ในครั้งนี้ ถือเป็นหลักชัยสำคัญของภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน นรม.เฉินฯ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อคิดเห็นและคำชี้แนะอันเป็นข้อสรุปที่ได้รับจากคณะกรรมการ มาพิจารณาใช้เป็นหลักอ้างอิง เพื่อส่งเสริมให้จิตวิญญาณด้านสิทธิมนุษยชน ถูกกำหนดเข้าสู่นโยบายและกฎหมายต่างๆ อันจะเป็นการยกระดับหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนในไต้หวัน และแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันในการเข้าร่วมกิจการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างกระตือรือร้นต่อไป
 
นรม.เฉินฯ ชี้ด้วยว่า สภาบริหารได้จัดตั้ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม” ขึ้นเพื่อรับผิดชอบประสานงานและกำกับดูแลทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันภารกิจการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนและการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม ควบคู่ไปกับการประกาศ “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนระดับชาติ” ฉบับแรกของไต้หวัน โดยได้กำหนดให้มีการผลักดันประเด็นหลักรวม 8 รายการ ประกอบด้วย “กลไกการเสริมสร้างหลักประกันทางสิทธิมนุษยชน” “การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน” “ความเท่าเทียมและไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามซึ่งกันและกัน” “เสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิในชีวิต” “ความเป็นธรรมด้านที่อยู่อาศัย” “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสิทธิมนุษยชน” “สิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล” และ  “หลักประกันของสิทธิผู้ลี้ภัย” เป็นต้น ตลอดจนร่างแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม โดยภารกิจเหล่านี้ล้วนเป็นการบรรลุพื้นฐานหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นผลสัมฤทธิ์ในการผลักดันหลักประกันทางสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน
 
นรม.เฉินฯ ย้ำอีกว่า แม้ไต้หวันจะมิใช่กลุ่มประเทศสมาชิกสหประชาชาติ แต่ก็ให้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชนไม่แพ้ชาติใดในโลก อาทิ ไต้หวันเป็นประเทศในแรกในภูมิภาคเอเชีย ที่บัญญัติกฎหมายว่าด้วยการสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้จัดตั้งกลไกการตรวจสอบรายงานแห่งชาติขึ้นเป็นกรณีพิเศษ อย่างกระตือรือร้นและเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งยื่นเสนอรายงานที่ทำการแก้ไขปรับปรุงอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนติดต่อเชิญคณะกรรมการระดับนานาชาติให้เดินทางมาร่วมหารือแนวทางการปรับปรุงแก้ไขในไต้หวัน ควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานของไต้หวันในหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันในการมีส่วนร่วมกับกิจการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างกระตือรือร้น
 
นรม.เฉินฯ ชี้ด้วยว่า การประชุมในครั้งนี้ได้เชิญ Dr. Manfred Nowak และ Dr. Rosslyn Noonan ที่ก่อนหน้านี้เคยเดินทางเข้าร่วมการประชุมพิจารณารายงานในไต้หวันแล้วถึงสองครั้ง ซึ่งถือเป็นมิตรสหายคนสำคัญของไต้หวัน โดยทั้งสองท่านต่างได้ยื่นเสนอข้อชี้แนะที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมและพัฒนาหลักประกันสิทธิมนุษชนของไต้หวัน นอกจากนี้ ยังมี Dr. Keiko Ko ซึ่งเป็นหนึ่งในอดีตคณะกรรมการด้านการขจัดการดูหมิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ของสหประชาชาติ และ Dr. Sheryl Lightfoot คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิกลุ่มชนพื้นเมืองคนปัจจุบันของสหประชาชาติ นรม.เฉินฯ จึงขอเป็นตัวแทนของรัฐบาลไต้หวันในการให้การต้อนรับและแสดงความขอบคุณต่อคณะกรรมการทั้ง 4 ท่านที่เดินทางมาจากแดนไกลด้วย