การรณรงค์ในระดับรากหญ้าเพื่อจัดตั้ง “โรงเรียนในศาลเจ้า” เริ่มต้นจากศาลเจ้าเฉาหวง
เมื่อพูดถึงไถเจียง หากคุณเป็นนักรณรงค์ฟื้นฟูท้องถิ่น คุณจะรู้เรื่องราวของ “โรงเรียนในศาลเจ้า” หากคุณเป็นคนชอบภูเขาต้นไม้ คุณจะรู้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นของ “เส้นทางสีเขียวแห่งชาติจากภูเขาถึงทะเล” (Mountain to Sea National Greenway) เส้นทางชมธรรมชาติซึ่งทอดจากภูเขาถึงทะเลที่ยาวไกลแห่งหนึ่งของไต้หวัน หากคุณเป็นผู้ชื่นชอบการชมนก คุณจะรู้ว่าไถเจียงเป็นที่อยู่อาศัยของนกปากช้อนหน้าดำที่อพยพมาไต้หวันในช่วงฤดูหนาว จนนำไปสู่การก่อตั้งอุทยานแห่งชาติไถเจียงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการอนุรักษ์นกปากช้อนหน้าดำ
ไถเจียงมิใช่เป็นเพียงเขตเทศบาลที่ปรากฏบนแผนที่เท่านั้น แต่ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่รักดินแดนแห่งนี้ทำให้เกิดเรื่องเล่าขานที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่อง
นกปากช้อนหน้าดำกำลังหลับ ยืนขาข้างเดียวหันหัวไปด้านหลัง 180 องศา จะงอยปากจะซุกไว้ที่ขนบนหลัง
※ ไถเจียง : จุดเริ่มต้นของเส้นทางสีเขียวแห่งชาติจากภูเขาถึงทะเล
โรงเรียนในศาลเจ้า การรณรงค์ด้านวัฒนธรรมระดับรากหญ้า
ในไต้หวัน ทุกหมู่บ้านจะมีศาลเจ้า “ศาลเจ้าในหมู่บ้านก็คือโรงเรียน เป็นโรงเรียนของชุมชนในอดีต” ศาลเจ้ายังเป็น “ศาลากลาง” สำหรับจัดการและประสานกิจการสาธารณะของหมู่บ้าน เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม เป็นสถานที่เหมาะสม อย่างยิ่งสำหรับการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในท้องถิ่น อู๋เม่าเฉิง (吳茂成) ผู้อำนวยการบริหารของมหาวิทยาลัยชุมชนไถหนาน (Tainan Community University) สาขาไถเจียง พูดคุยกับเราเกี่ยวกับต้นกำเนิดของ “โรงเรียนในศาลเจ้า”
ความประสงค์ที่จะสร้างโรงเรียนในศาลเจ้าได้รับการสนับสนุนจากหลินเฉาเฉิง (林朝成) ประธานมหาวิทยาลัยชุมชนไถหนาน และหลินก้วนโจว (林冠州) ผู้อำนวยการในขณะนั้น อีกทั้งอู๋จิ้นฉือ (吳進池) ประธานศาลเจ้าไหเหว่ยเฉาหวงกง (海尾朝皇宮) ต้องการส่งเสริมด้านการศึกษาเช่นกัน มหาวิทยาลัยชุมชนไถหนาน สาขาไถเจียง จึงได้จัดตั้งโรงเรียนในศาลเจ้าไหเหว่ยเฉาหวงในปี ค.ศ. 2007
การจัดหลักสูตร “ไถเจียงศึกษา” เนื้อหาประกอบด้วย “วัฒนธรรมพื้นบ้านไถเจียง” “การเดินทางเลียบแม่น้ำ - การติดตามและรู้จักระบบนิเวศของลุ่มน้ำไถเจียง” “การสำรวจเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนไหเหว่ยเหลียว (海尾寮)” และการประพันธ์บทเพลงเพื่อบ้านเกิด ทำให้ชาวบ้านรู้จักและเข้าใจถิ่นฐานบ้านเกิดของตน
หากเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน ซึ่งตั้งอยู่บน “เส้นทางสีเขียวแห่งชาติภูเขาถึงทะเล” นิทรรศการถาวรจะบอกเล่าว่า เมื่อ 400 ปีที่ผ่านมา สถานที่แห่งนี้เดิมเป็นอ่าวใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อ “ทะเลใน-ไถเจียง (Taijiang inland sea)” เป็นจุดยกพลขึ้นบกของเจิ้งเฉิงกง แม่ทัพในสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อปี ค.ศ. 1661 ในอดีต ที่นี่เป็นจุดขึ้นฝั่งที่ใกล้ที่สุดของชาวจีนที่อพยพข้ามช่องแคบไต้หวันอีกด้วย จึงถือเป็นจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์
ปฏิบัติการตามปรัชญาอนุรักษ์ธรรมชาติและคุ้มครองสิ่งมีชีวิต
เทพองค์สำคัญของศาลเจ้าเฉาหวงกง (朝皇宮) คือเป่าเซิงต้าตี้ (保生大帝) คนในท้องถิ่นเรียกว่า “ต้าเต้ากง (大道公)” ซึ่งเป็นชื่อเรียกสืบทอดมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีความศรัทธาต่อต้าเต้ากง อู๋เม่าเฉิงบอกว่าต้าเต้ากงเป็นแพทย์ที่มีอุดมการณ์ “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคุ้มครองสิ่งมีชีวิต” ตามมุมมองสมัยใหม่ก็คือ “นักรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและปกป้องสิ่งมีชีวิต”
จุดเริ่มต้นการจัดตั้ง “เส้นทางสีเขียวแห่งชาติภูเขาถึงทะเล” คือการปกป้องแม่น้ำ ทั้งนี้ทะเลใน-ไถเจียง เป็นดินแดนแอ่งน้ำ เด็ก ๆ ที่เกิดในดินแดนนี้ควรได้พบกับ “แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์” แต่พวกเขาต้องเผชิญกับแม่น้ำที่ปนเปื้อนมลพิษ ไร้ปลาและกุ้ง เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ครู นักเรียน และผู้ปกครองโรงเรียนประถมไห่เตี้ยน (海佃) จัดตั้งชมรมอ่านหนังสือไถเจียงรุ่นเยาว์ ได้ริเริ่มโครงการปกป้องแม่น้ำ ครูและนักเรียนเดินทวนน้ำไปตามเส้นทางภูเขาด้วยความสงสัยว่าน้ำสกปรกได้อย่างไร “หากกำหนดให้พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ไต้หวันเป็นศูนย์กลาง รัศมี 10 กิโลเมตรโดยรอบมีนิคมอุตสาหกรรม 8 แห่ง สถานีระบายน้ำที่ไม่มีอุปกรณ์บำบัดน้ำเสีย 4 แห่ง” เมื่อพบปัญหา พวกเขาจัดประชาพิจารณ์เพื่อกอบกู้ระบบชลประทานเจียหนานต้าจุ้น (嘉南大圳) ยื่นข้อเสนอ 2 ประการคือ ประการแรกปลูกต้นไม้และสร้างเส้นทางสีเขียว (อนุรักษ์ธรรมชาติ) ประการที่สอง การบำบัดน้ำให้สะอาด
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังมีกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาร่วมมือด้วยการลาดตระเวนแม่น้ำ การสำรวจระบบนิเวศ และการประชุมชาวบ้านตามลุ่มน้ำเพื่อระดมความคิดเห็น
นกปากช้อนหน้าดำกำลังเหินบิน
ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนสร้างถนนสู่อวี้ซาน
ในปี ค.ศ. 2006 การประชาพิจารณ์กอบกู้แม่น้ำไถเจียงได้รับการตอบสนองจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของเมืองไถหนาน ซึ่งก็คือ รองประธานาธิบดี ไล่ชิงเต๋อในปัจจุบัน ได้เชิญให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำการปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาริมฝั่งคลองระบายน้ำของระบบชลประทานเจียหนานต้าจุ้น (嘉南大圳)
ในปี ค.ศ. 2010 หลังการรวมพื้นที่ปกครองเป็นนครไถหนาน อำนาจบริหารจึงเป็นเอกภาพ ส่งผลให้มีการสร้างทางต่อไปยังเขื่อนอูซันโถว (烏山頭) ในเขตกวนเถียน (官田) “เส้นทางสีเขียวไถหนานจากภูเขาถึงทะเล” จึงมีความยาวรวมเพิ่มเป็น 45 กิโลเมตร ต่อมาเส้นทางนี้ได้กลายเป็น “เส้นทางสีเขียวแห่งชาติภูเขาถึงทะเล”
ในปี ค.ศ. 2017 สภาพัฒนาแห่งชาติกำหนด “แผนกลยุทธ์การสร้างเครือข่ายเส้นทางสีเขียว” มอบหมายให้กรมป่าไม้ (ปัจจุบันคือกรมป่าไม้และอนุรักษ์ธรรมชาติ) รับผิดชอบโครงการ ในปี ค.ศ. 2018 ได้เชื่อมต่อเส้นทางเป็น “เส้นทางสีเขียวแห่งชาติภูเขาถึงทะเล” เริ่มต้นจากอุทยานแห่งชาติ ไถเจียง เลาะไปตามระบบชลประทานเจียหนานต้าจุ้น ไต่ขึ้นไปถึงเขื่อนอูซันโถว แล้วเลียบไปตามแม่น้ำเจิงเหวินผ่านด้านล่างภูเขาอาลีซานไปจนถึงอวี้ซาน (ความสูง 3,952 เมตรจากระดับน้ำทะเล)
เส้นทางสีเขียวความยาว 177 กิโลเมตรแห่งนี้เป็นส่วนย่อของประวัติศาสตร์ 400 ปีที่ผ่านมาของไต้หวัน ผ่านแวดวงวัฒนธรรมของ 3 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ ไถเจียง ซีรายา และโจว (Tsou) นอกจากนี้ยังพาดผ่านเขตป่าไม้ที่มีภูมิอากาศ 5 แบบ ลุ่มแม่น้ำ 4 แบบ สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของระบบนิเวศในไต้หวัน โดยจุดเริ่มต้นคือไถเจียง
※ นกปากช้อนหน้าดำที่ไถเจียง
ไถเจียง : แดนสวรรค์ของนกน้ำ
นกปากช้อนหน้าดำในโลกนี้เคยมีจำนวนเหลือเพียง 288 ตัว หลังจากประเทศต่าง ๆ ช่วยกันอนุรักษ์ ปัจจุบันการสำรวจในทั่วโลกมีมากถึง 6,603 ตัว ไต้หวันเป็นจุดหลบหนาวประจำปีที่สำคัญของพวกมัน ในปี ค.ศ. 2023 บินมาหลบหนาวที่ไต้หวันถึง 4,228 ตัว คิดเป็น 2 ใน 3 ของทั่วโลก
ไต้จื่อเหยา (戴子堯) เลขาธิการสมาคมอนุรักษ์นกปากช้อนหน้าดำแห่งไต้หวันกล่าวว่า “ทะเลใน-ไถเจียงมีสภาพแวดล้อมเป็นเขตน้ำขึ้นน้ำลง ทะเลอยู่ในผืนแผ่นดิน ทะเลสาบ บ่อปลา และนาเกลือ นี่คือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการอาศัยและหากินของนกน้ำ” “ไต้หวันยังตั้งอยู่บนเส้นทางอพยพของนกน้ำในเอเชียตะวันออก นกน้ำจำนวนมากจะอาศัยหลบหนาวหรือแวะพักระหว่างการย้ายถิ่น ที่นี่ไม่ได้เป็นแดนสวรรค์ของนกปากช้อนหน้าดำเท่านั้น แต่สำหรับเหล่านกน้ำด้วย” กัวตงฮุย (郭東輝) กรรมการบริหารสมาคมนกไถหนาน ผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมสำรวจนกปากช้อนหน้าดำมานานหลายสิบปีกล่าว นักดูนกภาคใต้ต่างรู้ดีว่า นกปากช้อนหน้าดำเป็นนกอพยพประจำฤดูหนาวซึ่งมาที่นี่ทุกปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1988 สมาคมดูนกฮ่องกงรายงานสถิติของทั่วโลกจึงรู้ว่านกชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์
ไต้จื่อเหยากล่าวว่า ในขณะนั้นมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปินหนาน (濱南) การเลือกที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมปินหนาน อยู่ในแหล่งที่อาศัยหลบหนาวของนกน้ำ ความขัดแย้งระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเปิดฉากอย่างดุเดือด NGO ในไต้หวัน เช่น สมาคมอนุรักษ์นกเกาสง สมาคมอนุรักษ์นกไทเป สมาคมอนุรักษ์นกไถหนาน และยังมีชมรมอนุรักษ์นกในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ออกมาคัดค้าน นอกจากนี้ ยังมีเสียงสนับสนุนจากต่างประเทศ เช่น SAVE (Spoonbill Action Voluntary Echo) ซึ่งเป็นสมาพันธ์อนุรักษ์นกปากช้อนหน้าดำระหว่างประเทศ จึงระงับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมได้ในที่สุด
ในปี ค.ศ. 1994 รัฐบาลไต้หวันกำหนดเขตคุ้มครองสัตว์ป่าซื่อเฉ่า (四草) พื้นที่ 5.15 ตร.กม. และในปี ค.ศ. 2002 ได้จัดตั้งแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่า ในจำนวนนี้กำหนดพื้นที่ 3 ตร.กม. บริเวณปากแม่น้ำเจิงเหวินเป็นเขตคุ้มครองนกปากช้อนหน้าดำ และในปี ค.ศ. 2009 ได้ก่อตั้งอุทยานแห่งชาติไถเจียง
กัวตงฮุย กรรมการบริหารสมาคมอนุรักษ์นกไถหนาน ทุ่มเทให้กับการอนุรักษ์นกปากช้อนหน้าดำมานานหลายปีแล้ว
จุดเริ่มต้นของการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์
“เนื่องจากนกปากช้อนหน้าดำมีเฉพาะในเอเชียตะวันออกเท่านั้น เมื่อเริ่มเก็บรวบรวมสถิติ ก็พบว่ามีจำนวนเหลืออยู่น้อยมาก ไต้หวันถือว่ามีบทบาทสำคัญในการวิจัยเพื่อการอนุรักษ์” ไต้จื่อเหยากล่าว
การนับจำนวนนกเป็นงานพื้นฐานที่สุด การเปลี่ยนแปลงของจำนวน จะทำให้เราเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อมแหล่งที่พำนักของกลุ่มนก ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ติดตามนกได้แม่นยำ “เมื่อก่อน เรารู้ว่านกปากช้อนหน้าดำเป็นนกอพยพในฤดูหนาว แต่ก็ไม่รู้ว่าในช่วงฤดูร้อนพวกมันอยู่ไหน จากการติดเครื่องติดตามระบบ GPS ในตัวนก เมื่อเริ่มติดตามมันในตอนแรกอยู่ที่ปากแม่น้ำเจิงเหวิน สุดท้ายไปอยู่ที่ชายแดนระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ ก่อนจะผสมพันธุ์กันที่นั่น” ไต้จื่อเหยาอธิบาย
ในปี ค.ศ. 2022 เกิดเหตุการณ์ฝูงนกปากช้อนหน้าดำในไต้หวันกินอาหารเป็นพิษตายถึง 73 ตัว โดยได้รับการยืนยันว่ามีสาเหตุมาจากปนเปื้อนสาร Botulinum ซึ่งเกิดจากแบคทีเรีย Clostridium Botulinum ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การอนุรักษ์นกปากช้อนหน้าดำจึงมีภาระเพิ่มขึ้นอีก 1 รายการ คือการลาดตระเวนกำจัดซากปลาในบ่อปลา กัวตงฮุย (郭東輝) บอกว่า “สารพิษโบทูลินั่มเป็นแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนและซากสัตว์เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อที่ดี นกปากช้อนหน้าดำกินเข้าไปโดยไม่ระวัง สารพิษจึงทำลายเซลล์กล้ามเนื้อและทำให้เป็นอัมพาต” หากพบนกปากช้อนหน้าดำยืนไม่มั่นคง จะต้องรีบช่วยเหลือ
สังเกตนกปากช้อนหน้าดำ
คนท้องถิ่นเรียกมันว่า “ห่านช้อนข้าว (飯匙鵝)” หรือ “ถ้วยมีด้ามหน้าดำ (烏面抐桮 อ่านว่า oo-bīn-lā-pue ในภาษาไต้หวัน)” เพราะปากของมันคล้ายกับช้อนข้าวและการใช้ปากกวาดไปมาในน้ำเพื่อจับปลา นกปากช้อนหน้าดำใช้เวลานอนพักผ่อนในตอนกลางวัน และจะบินออกไปหาอาหารในตอนเย็น
นกปากช้อนหน้าดำจะมาถึงไต้หวันในเดือนตุลาคมและพักอยู่ประมาณครึ่งปี จนถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป ถึงตอนนั้น ขนหงอน และอกของนกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ซึ่งหมายความว่า มันโตเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้แล้ว และเวลาของการกลับไปทางเหนือใกล้เข้ามาแล้ว
ความสามัคคีระหว่างรัฐบาล ประชาชน และองค์การนอกภาครัฐ
เมื่อเรามาถึงบ่อปลาอีกแห่ง กัวตงฮุยชี้ไปที่ป้ายข้างสระน้ำให้เราดู เป็นมาตรการ “การสร้างระบบนิเวศเป็นมิตรสำหรับที่อยู่ของสัตว์” เป็นสิ่งที่อุทยานแห่งชาติไถเจียงผลักดันส่งเสริมให้ชาวประมงหลังจับปลาในบ่อไปแล้ว ให้รักษาระดับ น้ำลึกไว้ที่ 20 เซนติเมตร และเหลือปลาตัวเล็กไว้เป็นอาหารสำหรับนกปากช้อนหน้าดำ
ปัจจุบันยังมีนาเกลือของรัฐหลายแห่งตามแนวชายฝั่งเจียหนาน นาเกลือร้างที่เขตเจียงจวิน (將軍) และเขตชีกู่ (七股) มีพื้นที่รวม 12.3 ตร.กม. ได้รับการดูแลโดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม ตาม “หลักปฏิบัติการอุปถัมภ์ดูแลที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์สาธารณะเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” พื้นที่รกร้างเหล่านี้ได้รับการจัดการเพื่อให้นกมีที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
การอนุรักษ์นกปากช้อนดำที่ประสบความสำเร็จ ถือเป็นความภาคภูมิใจของทีมงานชาวเอเชีย และเป็นต้นแบบให้กับโลก อย่างไรก็ตาม กัวตงฮุยไม่ลืมที่จะกล่าวย้ำถึงความสำคัญยิ่งกว่า ซึ่งก็คือ “นกปากช้อนหน้าดำ เป็นสัตว์ที่เป็นร่มเงาของป่า (umbrella species) การปกป้องมันและถิ่นที่อยู่ของมัน เป็นการปกป้องสิ่งมีชีวิตครอบคลุมทุกชนิดและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ
เพิ่มเติม