ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันได้การรับอนุมัติให้เข้าร่วม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวระดับโลก (Global CAPE)” แล้ว
2024-05-03
New Southbound Policy。ไต้หวันได้การรับอนุมัติให้เข้าร่วม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวระดับโลก (Global CAPE)” แล้ว (ภาพจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ)
ไต้หวันได้การรับอนุมัติให้เข้าร่วม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวระดับโลก (Global CAPE)” แล้ว (ภาพจากคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ)

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ วันที่ 30 เม.ย. 67
 
เพื่อสร้างหลักประกันด้านความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายด้านความเป็นส่วนตัว (Privacy Enforcement Authority, PEA) รวม 16 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการเกษตร กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาดิจิทัล คณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับดูแลสถาบันการเงินไต้หวัน (Financial Supervisory Commission, FSC) คณะกรรมการกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้การกำกับดูแลของสภาบริหาร คณะกรรมการการค้ายุติธรรม และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อขออนุมัติเข้าร่วม “ความตกลงทางความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวระดับโลก” (Global Cooperation Arrangement for Privacy Enforcement, Global CAPE) โดยเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2567 ได้รับแจ้งจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโครงการ Global CAPE ว่าคำขออนุมัติของไต้หวัน ได้ผ่านความเห็นชอบจากกลุ่มประเทศสมาชิกแล้ว โดยในอนาคต Global CAPE หวังที่จะร่วมผลักดันความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวแบบข้ามพรมแดน ร่วมกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศ ผ่านความตกลงฉบับดังกล่าว เพื่อสร้างหลักประกันด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคประชาชนต่อไป
 
ไต้หวันในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิกของ “การประชุมว่าด้วยกฎระเบียบด้านการคุ้มครองกฎหมายความเป็นส่วนตัวข้ามพรมแดน” (Global Cross-Border Privacy Rules Forum, Global CBPR Forum) มุ่งมั่นส่งเสริมการไหลเวียนของข้อมูลที่เชื่อถือได้ ลดทอนอุปสรรคการค้าทางดิจิทัลที่ไม่จำเป็น เนื่องด้วยแนวโน้มของยุคดิจิทัลที่นับวันยิ่งได้รับการพัฒนาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้อุปสงค์ด้านการส่งผ่านข้อมูลแบบข้ามพรมแดน ยิ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น กรณีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล มักจะเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอกประเทศ จึงจำเป็นต้องประสานความร่วมมือระหว่างเขตอำนาจศาลสากล จึงจะสามารถต่อต้านภัยคุกคามที่ละเมิดต่อกฎหมายเหล่านี้ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การประชุม Global CBPR Forum จึงได้ประกาศใช้ Global CAPE ซึ่งนอกจากประเทศสมาชิกของ Global CBPR Forum แล้ว ยังได้เชิญหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย (PEA) ของนานาประเทศเข้าร่วม เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างเขตอำนาจศาล ให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
 
นอกจากไต้หวันแล้ว ประเทศที่เข้าร่วม Global CAPE ยังประกอบด้วยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา อังกฤษ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เม็กซิโก ศูนย์การเงินนานาชาติดูไบและเบอร์มิวดา โดยในอนาคต PEA ของไต้หวันจะประสานความร่วมมือในรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในด้านการบังคับใช้กฎหมายความเป็นส่วนตัวและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การแบ่งปันข้อมูลสารสนเทศและการแลกเปลี่ยนอย่างมืออาชีพผ่านกรอบ Global CAPE เพื่อส่งเสริมการสร้างหลักประกันด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของภาคประชาชน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงระหว่างข้อกฎหมายล่าสุดและสถานการณ์ความเป็นไประหว่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นการปูพื้นฐานที่มีเสถียรภาพในด้านการค้ายุคดิจิทัลแบบข้ามพรมแดน อันจะนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลของไต้หวัน ให้มีความเจริญรุดหน้ามากยิ่งขึ้น