ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมเชิงปฏิบัติการของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน “แนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” ภายใต้กรอบ GCTF เปิดฉากขึ้นที่มาเลเซีย
2024-05-07
New Southbound Policy。การประชุมเชิงปฏิบัติการของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน “แนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” ภายใต้กรอบ GCTF เปิดฉากขึ้นที่มาเลเซีย (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
การประชุมเชิงปฏิบัติการของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน “แนวทางปฏิบัติเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน” ภายใต้กรอบ GCTF เปิดฉากขึ้นที่มาเลเซีย (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 2 พ.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไต้หวันประจำมาเลเซีย สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำมาเลเซีย สำนักงานตัวแทนรัฐบาลออสเตรเลียประจำมาเลเซีย และสำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษประจำมาเลเซีย ได้ร่วมกันจัดการประชุมในหัวข้อ “แนวทางปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่ดีที่สุด : การประชุมเชิงปฏิบัติการของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ” (Best Practices in the Energy Transition: A GCTF-Affiliated Expert Workshop on Combatting Climate Change) ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและการส่งเสริมด้านการเงินสำหรับธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น
 
ในช่วงแรก Ms. Phoebe Yeh ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำมาเลเซีย Mr. Edgard Kagan เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำมาเลเซีย และ Ms. Ailsa Terry ผู้อำนวยการสำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษประจำมาเลเซีย ต่างทยอยขึ้นกล่าวปราศรัย โดย Mr. Mohamad Razif bin Abdul Mubin รองเลขาธิการกระทรวงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและทรัพยากรน้ำของมาเลเซีย ได้รับเชิญให้ร่วมบรรยายถึงสถานการณ์การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของมาเลเซีย ในระหว่างการประชุม ยังได้เชิญนางเจิ้งหรูหมิ่น รองผู้อำนวยการจากทบวงพลังงาน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเศรษฐการ นายเจิ้งหมิงซาน รองประธานสถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) ฝ่ายกิจการพลังงานสีเขียว และ Ms. Becky-Jay Harrington ผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรเลีย มาร่วมบรรยาย โดยมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงทางการเงิน เข้าร่วมเป็นจำนวน 70 คน ส่งผลให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก
 
กิจกรรมในครั้งนี้ยังได้ชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์การพัฒนาฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งของไต้หวัน แนวโน้มการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอนาคต รวมไปถึงแผนข้อเสนอเชิงนโยบายและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศที่เข้าร่วม ซึ่งรวมถึงไต้หวัน สหรัฐฯ อังกฤษ ออสเตรเลียและมาเลเซีย เป็นต้น ตลอดจนเพื่อร่วมอภิปรายแนวทางการรับมือกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ เพื่อร่วมแสวงหาแผนการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป