กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 14 ส.ค. 67
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ตามเวลาในไต้หวัน บริษัทการประปาไต้หวัน ได้รับรางวัลในโครงการนวัตกรรม (Project Innovation Awards, PIA) ในนิทรรศการและการประชุมประปาโลก (World Water Congress & Exhibition, WWCE) ที่จัดขึ้นโดยสมาคมน้ำระหว่างประเทศ (International Water Association, IWA) ณ เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา โดยรางวัลประเภทนี้จัดขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูบริษัทการประปาของประเทศต่างๆ ที่มุ่งอุทิศคุณประโยชน์ในด้านการบริหารทรัพยากรน้ำและเทคโนโลยีนวัตกรรม โดยนายหลี่เจียหรง ประธานบริษัทการประปาไต้หวัน ได้นำทีมวิจัยและพัฒนาเดินทางไปรับรางวัลที่เมืองโทรอนโตด้วยตนเอง
หัวข้อหลักของการเข้าร่วมประกวดของบริษัทประปาไต้หวันในครั้งนี้คือ “ระบบวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วด้วยเทคโนโลยี AI : การวิจัยกรณีตัวอย่างของบริษัทประปาไต้หวัน” ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนากับสถาบันวิจัยเทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (ITRI) ภายใต้การชี้แนะของกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยเทคโนโลยีนวัตกรรมข้างต้น มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการรับมือกับความท้าทายด้านการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไต้หวัน อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์ในการมุ่งแก้ไขเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่การประปาที่เฝ้าตรวจจับรอยรั่ว เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ซึ่งได้มีการอัดฉีดงบประมาณในการวิจัยกว่า 1.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการประยุกต์ใช้และบูรณาการกระบวนการอัลกอริทึมแบบควบคุมด้วยเสียงที่ทันสมัย และเทคโนโลยีการเรียนรู้ในเชิงลึก รวมไปถึงเทคโนโลยีเพื่อสรรพสิ่งและเทคโนโลยีการประมวลผลบนระบบคลาวด์ ซึ่งในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2563 – 2566 ได้ทำการรวบรวมสัญญาณตรวจจับรูปพรรณรอยรั่วกว่า 300,000 จุดในท่อระบายน้ำใต้ดินในความยาว 84.5 กิโลเมตร ซึ่งประสบความสำเร็จในการตรวจจับตำแหน่งท่อประปารั่วที่มีความแม่นยำร้อยละ 80 ขึ้นไป ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ของไต้หวันมีความโดดเด่นจากผลงานที่ส่งเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 108 รายการจาก 34 ประเทศทั่วโลก
“ระบบวิเคราะห์เสียงน้ำรั่วด้วยเทคโนโลยี AI” ได้ทำการรวบรวมข้อมูลสถิติเสียงน้ำรั่วด้วยวิธีการแบบไร้สาย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการตรวจจับสัญญาณเสียงและส่งสัญญาณคลื่นความถี่ โดยระบบได้บูรณาการกลไกการเรียนรู้ขั้นสูง และเทคโนโลยีเวกเตอร์แมชชีน (Support Vector Machines, SVM) พร้อมทั้งทำการวิเคราะห์และระบุพิกัดตำแหน่ง ผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) เพื่อบรรลุการตรวจหารอยรั่วในรูปแบบอัตโนมัติ ซึ่งเทคโนโลยีข้างต้นนอกจากจะยกระดับประสิทธิภาพการตรวจสอบแล้ว ยังสามารถระบุพื้นที่ความเสี่ยงสูงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการซ่อมแซมได้อีกด้วย