ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันได้เข้าร่วมระบบปกป้องสิทธิส่วนบุคคลข้ามชาติของเอเปก
แหล่งที่มาของข้อมูล Central News Agency
2018-12-11

ไต้หวันได้เข้าร่วมระบบปกป้องสิทธิส่วนบุคคลข้ามชาติของเอเปก

CNA วันที่ 10 ธ.ค. 61

คณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติของไต้หวัน (National Development Council, NDC) ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ไต้หวันได้รับการตอบรับจากเอเปก ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันสิทธิส่วนบุคคลข้ามชาติของเอเปก ร่วมกับสหรัฐฯ เม็กซิโก ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เชื่อว่า จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าในต่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไต้หวัน

 

การปกป้องสิทธิส่วนบุคคลถือเป็นเป้าหมายที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งสหภาพยุโรป หรือ อียู ได้มีการประกาศใช้ General Data Protection Regulation (GDPR) ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา สหรัฐฯ พยายามผลักดัน Cross Border Privacy Rules (CBPR) ผ่านทางการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก เพื่อสร้างความปลอดภัยในการส่งผ่านและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ

 

โดย NDC ชี้ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ GDPR แล้ว CBPR จะใช้ระดับการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลในระดับที่ต่ำกว่า ซึ่งสำหรับไต้หวันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็น SMEs แล้ว การเข้าร่วม CBPR จะมีส่วนช่วยในการยกระดับความปลอดภัยด้านข้อมูลของบริษัทหรือองค์กรให้เพิ่มสูงขึ้น ก่อนจะสามารถเข้าถึงระดับความปลอดภัยตามมาตรฐานของอียูในอนาคตได้ ดังนั้น การเข้าร่วม CBPR จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบไม่เสียโอกาสทางการค้าหากไม่ได้เข้าร่วม GDPR และถือเป็นการลดความเสียหายอันเนื่องมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของนานาชาติ

 

NDC ยังชี้ว่า ไต้หวันได้รับการตอบรับจากเอเปกให้เข้าร่วม CBPR ต่อจาก สหรัฐฯ เม็กซิโก ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งเมื่อเทียบจากประสบการณ์ของประเทศอื่นแล้ว กว่าที่กระบวนการต่างๆ จะแล้วเสร็จ อาจต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง การที่ไต้หวันใช้เวลาเพียง 8 เดือนครึ่งก็เสร็จสิ้นกระบวนการต่างๆ จึงถือได้ว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นเป็นอย่างมาก

 

NDC คาดว่า หลังจากเข้าร่วม CBPR อย่างราบรื่นแล้ว จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้กับผู้ประกอบการไต้หวัน พร้อมทั้งยังถือเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของไต้หวันในด้านการให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลในระดับข้ามชาติ อันจะส่งผลให้เกิดความร่วมมือกับต่างประเทศมากขึ้นในอนาคต

 

สำหรับขั้นตอนต่อไป NDC ชี้ว่า รัฐบาลจะกำหนดให้มีหน่วยงานหนึ่งหรือหลายหน่วยงาน มาทำหน้าที่เป็น Accountability Agents (AA) ซึ่งหลังจากหน่วยงานเหล่านี้ผ่านความเห็นชอบจาก CBPR ของเอเปกแล้ว จะมีภาระรับผิดชอบให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการหรือองค์กรของไต้หวัน ในการยกระดับความปลอดภัยด้านปกป้องสิทธิส่วนบุคคล ให้ผ่านการรับรองมาตรฐานของ CBPR ต่อไป