ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่อิงเหวินมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียให้แก่ Gusdurian Network Indonesia ในวันสิทธิมนุษยชนโลก
แหล่งที่มาของข้อมูล Office of the President
2018-12-11

ปธน. ไช่อิงเหวิน (ซ้าย) เป็นประธานใน “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียครั้งที่13” เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. และเป็นผู้มอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย โดยมี Alissa Wahid ประธาน Gusdurian Network Indonesia เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล สำนักข่าว CNA วันที่ 10 ธ.ค.61

ปธน. ไช่อิงเหวิน (ซ้าย) เป็นประธานใน “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียครั้งที่13” เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. และเป็นผู้มอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย โดยมี Alissa Wahid ประธาน Gusdurian Network Indonesia เป็นตัวแทนรับมอบรางวัล สำนักข่าว CNA วันที่ 10 ธ.ค.61

ปธน.ไช่อิงเหวินมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียให้แก่ Gusdurian Network Indonesia ในวันสิทธิมนุษยชนโลก

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 ธ.ค. 61

ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำไต้หวันสาธารณรัฐจีน เป็นประธานใน “พิธีมอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียครั้งที่13” เมื่อเช้าวันที่ 10 ธ.ค.พร้อมกันนี้ยังได้เป็นผู้มอบรางวัลดังกล่าวให้แก่ Gusdurian Network Indonesia พร้อมแสดงความหวังว่ามิตรประเทศในประชาคมโลกที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกับไต้หวัน จะร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่การเป็นพันธมิตรด้านค่านิยมที่เข้มแข็งและร่วมกันอุทิศกำลังให้แก่โลกใบนี้ให้มากขึ้น

 

ปธน.ไช่อิงเหวินกล่าวขณะปราศรัยว่า วันที่10 ธ.ค.เป็นวันครบรอบ 70 ปีที่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights ,UDHR) ผ่านการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในวันที่มีความหมายยิ่งใหญ่เช่นนี้ได้ทำหน้าที่มอบรางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย(Asia Democracy and Human Rights Award) ประจำปีนี้ (2561) ให้แก่ Gusdurian Network Indonesia

 

ผู้นำไต้หวันระบุว่า Gus Dur มาจากชื่อของอดีตประธานาธิบดีอับดุลราห์มาน วาฮิด (Abdurrahman Wahid) แห่งอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลักดันการปฏิรูปประชาธิปไตย ริเริ่มจัดการเจรจา ข้ามศาสนาและข้ามกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนปลูกฝังค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาสังคมให้แก่อินโดนีเซีย

 

ปธน.ไช่อิงเหวินกล่าวว่า การก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และการปลูกฝังค่านิยมประชาสังคม ถือว่าไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่สำหรับไต้หวัน ในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา ไต้หวันมีประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านด้านประชาธิปไตยมาแล้ว และในความเป็นจริงเส้นทางสู่ประชาธิปไตยมักไม่ราบรื่น จวบจนกระทั่งในปัจจุบัน ก็ยังคงเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคใหม่ที่ต้องฝ่าฝัน

 

ผู้นำไต้หวันยังย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ความสำเร็จหรืออุปสรรคที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า เรายินดีแบ่งปัน “ประสบการณ์ไต้หวัน” ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชีย ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะเรียนรู้จากทุกประเทศ เพื่อให้ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนหยั่งรากลึกและแผ่ขยายกว้างไกลออกไป และนี่คือวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดตั้ง “รางวัลประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย”

ปธน.ไช่อิงเหวินกล่าวขอบคุณ Gusdurian Network Indonesia ที่ย้ำเตือนเราเรื่องการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และเพิ่มการเจรจากับสาธารณชน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของสังคมประชาธิปไตย พร้อมกันนี้ยังระบุว่า จากกระแสโลกในปัจจุบันทำให้เห็นว่า ประเทศประชาธิปไตยถูกโจมตีจากแนวคิดสุดโต่ง และความแตกแยกในสังคมทวีความรุนแรงขึ้น แต่ Gusdurian Network Indonesia เน้นย้ำเรื่องความอบอุ่น การให้อภัย การจรจาระหว่างศาสนาและกลุ่มชาติพันธุ์ นับเป็นเรื่องที่น่ายกย่องเป็นอย่างยิ่ง

 

ในตอนท้าย ปธน.ไช่อิงเหวินแสดงความหวังว่า ประเทศที่มีอุดมการณ์คล้ายคลึงกันกับไต้หวันจะมีโอกาสร่วมมือกันทะนุถนอมและรักษาค่านิยมดังกล่าวให้ยืนยาวสืบไป พร้อมกันนี้ผู้นำไต้หวันยังย้ำว่า การร่วมมือกันของประชาคมโลก คือวิธีรำลึกถึงวันสิทธิมนุษยชนโลก และเป็นการปฏิบัติตาม ”ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ที่ดีที่สุด โดย Taiwan Journal of Democracy (TJD) ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือด้านประชาธิปไตยระดับประเทศแห่งแรกของเอเชีย เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีที่สุด ในอนาคตหวังว่าจะนำไปสู่การเป็นพันธมิตรด้านค่านิยมที่เข้มแข็งและร่วมกันอุทิศกำลังให้แก่โลกใบนี้ให้มากขึ้น